บีทีเอส สยายปีกซื้อเจมาร์ทปั้นธุรกิจโต 3 แสนล้าน รุกบริการการเงินครบวงจร

01 ก.ย. 2564 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 21:12 น.
1.3 k

 เปิดอาณาจักร"บีทีเอสกรุ๊ป" แสนล้าน หลังรุกลงทุนใน "เจมาร์ท-ซิงเกอร์-ประกันเอไลฟ์"  2 หมื่นล้าน พลิก “ยูซิตี้” ปั้นธุรกิจการเงินครบวงจร ต่อยอดรถไฟฟ้าแทนอสังหาฯ เห็นช่องเติบโตสูงช่วงโควิด

เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้งท่ามกลาง สถานการณ์โควิด-19 เมื่อ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มบีทีเอส ยักษ์ใหญ่ระบบราง ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ของเจ้าสัว คีรี กาญจนพาสน์ ประกาศ ขยายอาณาจักรธุรกิจด้านการเงิน นำ บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U และ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI บริษัทในเครือบีทีเอสเข้าลงทุนใน บริษัทเจมาร์ท จำกัด(มหาชน) หรือ JMART ธุรกิจให้บริการสมาร์ทโฟน บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER ) ธุรกิจสินเชื่อรถ และประกันชีวิต A  LIFE บริษัท บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อยอดธุรกิจให้บริการรถไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

บีทีเอส สยายปีกซื้อเจมาร์ทปั้นธุรกิจโต 3 แสนล้าน รุกบริการการเงินครบวงจร

ประกัน-เช่าซื้อ-สื่อสารโต

สาเหตุที่ บีทีเอสกรุ๊ป เข้าลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากธุรกิจอสังหาฯ และโรงแรมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงหาช่องทางใหม่ๆ โดยเห็นว่ากลุ่มซิงเกอร์มี ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การบริการเช่าซื้อ สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตและประกันภัย มีแนวโน้มเติบโต เช่นเดียวกับเจมาร์ท ธุรกิจหลักคือ จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ ค้าปลีกและค้าส่ง เป็นผลดีทำให้ ยูซิตี้ มีธุรกิจหลากหลาย

 

โดย วีจีไอและยูซิตี้ เข้าลงทุนในบริษัทของกลุ่มเจมาร์ท 1.75 หมื่นล้านบาท ซินเนอยี่ สินค้าและบริการกลุ่ม เจมาร์ทสำหรับผู้บริโภค การประกันภัย รวมไปถึงเทคโนโลยี ฟินเทค บล็อกเชน สินทรัพย์ดิจิทัล และการให้บริการ O2O โซลูชั่นส์ ของวีจีไอ ผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์

 

ขณะซิตี้ จะเข้าลงทุน 24.9% ในบริษัท ซิงเกอร์ โดยจะได้รับเงินจาก การเสนอขายหลักทรัพย์แบบเจาะจง (PP) และการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวนทั้งสิ้น 1.06 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายฐานการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ในปี 2565ซิงเกอร์ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท

บีทีเอส สยายปีกซื้อเจมาร์ทปั้นธุรกิจโต 3 แสนล้าน รุกบริการการเงินครบวงจร

เจมาร์ทต่อยอดธุรกิจ

นายกวิน กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บีทีเอสกรุ๊ป เปิดเผยว่า หลังจาก บีทีเอสกรุ๊ป ปรับกลยุทธ์ธุรกิจรูปแบบ 3M ประกอบด้วย

  1. ธุรกิจ Move ที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะรถไฟฟ้า
  2. ธุรกิจ Mix สมองของกลุ่มธุรกิจในเครือเช่น Rabbit, Kerry, VGI ที่ร่วมกับบริษัทมองหาผู้ลงทุนรายใหม่ (Partner)
  3. ธุรกิจ Match เป็นธุรกิจที่มีข้อมูลและเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ หาผู้ร่วมลงทุนเข้ามาดำเนินการธุรกิจเพื่อทรานฟอร์ม

 

การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจในครั้งนี้ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจร่วมกัน พร้อมต่อยอดธุรกิจภายใต้เครือข่าย 3M และอาศัยความสามารถด้านฟินเทคที่เข็มแข็งของเจมาร์ท รวมระบบกระจายสินค้า นอกจากนี้ได้วางแผนรวมเทคโนโลยีทางการเงินและ Crypto Digital Token มาใช้ภายในเครือข่ายของกลุ่ม BTS ขณะเดียวกันแผนการ Synergy ร่วมกันในช่วงต่อจากนี้

 

คาดว่าจะได้เห็นการขยายฐานลูกค้า ขยายผลิต ภัณฑ์และบริการในเครือของเจมาร์ท ร่วมกันไปสู่สินค้าสำหรับผู้บริโภค การประกันภัย รวมไปถึงเทคโนโลยีและการให้บริการ O2O โซลูชั่นส์ ของ VGI ผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์

 

 “พบว่าแพลตฟอร์มของบีทีเอสและเจมาร์ทมี Synergy ค่อนข้างมาก โดยเจมาร์ทจะใช้แพลตฟอร์มกรุ๊ปมาช่วยขาย เชื่อว่าแพลตฟอร์มที่ได้จากเจมาร์ทและซิงเกอร์จะสามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันได้ ขณะเดียวกันในระยะต่อไปทางกลุ่มบริษัทจะเข้าไปช่วยดำเนินธุรกิจขายของร่วมกับเจมาร์ทมากขึ้น เบื้องต้นบริษัท VGI มีแพลตฟอร์มด้านการตลาดอยู่แล้ว ซึ่งต้องหาวิธีขายของได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีบริษัทเคอรี่ เอกซ์เพลส เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจในครั้งนี้ไม่มีที่สิ้นสุด”

 

 อีกทั้งยังจะนำโทเคน JFincoin มาใช้ในเครือข่ายบีทีเอส ช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็มของเจมาร์ท ให้สมบูรณ์ สำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการใช้งานแทนเงินสด คาดว่า จะใช้ JFincoin บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ภายในไตรมาส1ของปี 2565 ขณะเดียวกันบริษัท ได้ปรับให้บริษัท ยูซิตี้ จากธุรกิจอสังหาฯเปลี่ยนมาให้บริการธุรกิจการเงิน เพราะมองว่า3-5 ปีนี้ อสังหาฯไม่น่ามีกำไรเพราะโควิดที่ระบาดต่อเนื่อง

 

3 โปรเจ็กต์ สร้างรายได้

บมจ.ยู ซิตี้ หรือ U บีทีเอส กรุ๊ป เข้ามาถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีการลงทุนโรงแรม อาคารสำนักงาน, ธุรกิจบริการ ที่อยู่อาศัย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ณ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีสินทรัพย์รวม 58,742 ล้านบาท ถือครองโรงแรม 24 แห่ง (ประเทศไทย - ทั่วโลก), อาคารสำนักงาน เช่น TST TOWER, คอนโดฯแนวรถไฟฟ้า (โครงการ JV แสนสิริ-โนเบิล) พื้นที่เช่าในกทม. รวม 9,173 ตร.ม. รายได้ต่อปี 61 ล้านบาท รวมไตรมาส 2 มีรายได้อยู่ที่ 1,070 ล้านบาท

ปัจจุบัน ยู ซิตี้ อยู่ระหว่างพัฒนา โครงการ เดอะ ยูนิคอร์น มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ มูลค่า 9,500 ล้านบาท บนถนนพญาไท โครงการที่ราชพัสดุแปลง โรงภาษีร้อยชักสาม เป็นโรงแรม 5 ดาว 3,000 ล้านบาท บิ๊กโปรเจ็กต์ 11 ไร่ หมอชิตคอมเพล็กซ์ 9,400 ล้านบาท กว่า 170,000 ตร.ม. กำหนดแล้วเสร็จ ปี 2565 ประเมิน 3 โปรเจ็กต์ดังกล่าว สร้างรายได้ประจำ ไม่ขาดมือ

ยู ซิตี้ ยังเป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติชื่อดัง ใหญ่สุดใน กทม. 'นานาชาติเวอร์โซ' มูลค่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา  โรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่รวมกว่า 168 ไร่ รองรับนักเรียนได้ถึง 1,800 คน เปิดสอนนักเรียนระดับเกรด 9-12 นับเป็นขุมทรัพย์สร้างรายได้ใหม่ของ บีทีเอส กรุ๊ปอีก 1 ขาที่น่าจับตา

ไม่นับรวม รายได้สำคัญ จากโครงการ ' ธนาซิตี้ คันทรีคลับ' บนเนื้อที่ 400 ไร่ บางนา -ตราด กม.14 ศูนย์กีฬา สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก ฟิตเนส โรงแรมระดับ 4 ดาว  และอาคารยิมเนเซียมขนาดใหญ่ จุคน 1,300 ที่นั่ง ซึ่งเพิ่งปรับปรุงใหม่หมาดๆ รวมเปิดให้บริการมานานกว่า 30 ปี ฐานสมาชิกเหนี่ยวแน่น

ทั้งนี้ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยูชิตี้ ยังแจ้งต่อ ตลท. ถึง การจัดตั้งบริษัทใหญ่ใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจด้านอสังหาฯ ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยยังไม่เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญของบริษัทดังกล่าว แต่คาดจะเป็นโมเดลธุรกิจทที่ช่วยผลักดันรายได้ใหม่ๆในอนาคต

 

ถือหุ้น 14แห่ง

รายงานข่าวจากตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บีทีเอส กรุ๊ป ถือหุ้น ทั้งทางทางตรงและทางอ้อมรวม 14 แห่ง คือ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) (AU) สัดส่วน 9.77%, บริษัท อิ๊ก ดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (YGG) สัดส่วน 9.09%, บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (ANAN) สัดส่วน 5.87%, บริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) (BKD) สัดส่วน 9.25%, บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) (HUMAN) สัดส่วน 10.15% บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J) สัดส่วน 4.19%, บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (NOBLE) สัดส่วน 9.13% เป็นต้น

 

เจมาร์ทลั่นโต 3 เท่า

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) กล่าวว่า การร่วมเป็นพันธมิตรกับ VGI และ U City บริษัทในกลุ่มบีทีเอสในครั้งนี้ ถือเป็นการเติบโตครั้งสำคัญของกลุ่มเจมาร์ทจะช่วยปลดล็อก ฐานเงินทุนของบริษัทให้เพิ่มขึ้น และสร้างการเติบโตผ่านซินเนอร์ยี่ร่วมกัน ทั้งนี้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวมของกลุ่มบริษัทมีกว่า 106,822 ล้านบาท คาดจะเติบโตไปกว่านี้ไม่น้อยกว่า 3 เท่า หรือกว่า 3 แสนล้านบาท

 

บีทีเอส มีกระแสเงินสด

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลงทุนในหลายๆ ธุรกิจนอกเหนือจากธุรกิจรางของ BTS มองว่า เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งดีกว่าปล่อยให้เงินสดนิ่ง เพราะการลงทุนเก็งกำไรในอสังหาฯเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การลงทุนล่าสุดของ BTS กับ JMART เป็นการจับคู่ที่เหมาะสม โดย BTS มีกระแสเงินสดค่อนข้างมาก หรือหากไม่ใช้เงินสดก็ยังมีหนี้สินต่อทุน (ดีอี) ของบริษัทลูกที่อยู่ในระดับต่ำ