‘บิ๊กค้าปลีก เดินหน้าลงทุน รอวิกฤติคลี่คลาย

29 ส.ค. 2564 | 15:41 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2564 | 22:52 น.

จับตาบิ๊กค้าปลีก เดินหน้าธุรกิจฝ่ามรสุม “โควิด” หลังไตรมาส 3 ยังไร้สัญญาณบวก เร่งปรับกลยุทธ์สร้างความเชื่อมั่น เพิ่มยอดขาย รับมือมาตรการรัฐ ขยายการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ลุ้นรอวันวิกฤติคลี่คลาย

สถานการณ์การระบาดอย่างหนักของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้เห็นเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ต้องปรับแผนรองรับมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น เพื่อรักษายอดขายและผลกำไร

 

ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ โดยภาพรวมพบว่ายังมีรายได้เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซา เซ็นทรัลเฟสติวัล และเซ็นทรัลวิลเลจ จะมีรายได้รวม 6,364 ล้านบาท เติบโต 34.5% ขณะที่กำไรสุทธิ 1,269 ล้านบาท เติบโต 171.6%

 

ซึ่งแม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะยังไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ในระลอก 3 สร้างความตระหนกและทำให้ผู้บริโภคลดการใช้บริการในศูนย์การค้า อีกทั้งศูนย์ยังลดและควบคุมต้นทุนในการดำเนินการ หลังจากที่ปรับแผนธุรกิจลดการจัดเก็บและยกเว้นค่าเช่า เพื่อช่วยเหลือคู่ค้า ร้านค้าภายในศูนย์

‘บิ๊กค้าปลีก เดินหน้าลงทุน รอวิกฤติคลี่คลาย

บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ ซีอาร์ซี ผู้บริหารกลุ่มค้าปลีก เครือเซ็นทรัล มีรายได้ 46,376 ล้านบาท เติบโต 12% ขาดทุนสุทธิ 426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83% โดยการเติบโตของซีอาร์ซี มาจากการทำตลาดเชิงรุก ทั้งการควบรวมกิจการของซีโอแอล

 

ทำให้กลุ่มธุรกิจฮาร์ดไลน์สามารถขยายตัวทำรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นเป็นนิวไฮ รวมทั้งยังมีขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่ม B2B เพิ่มขึ้น การเพิ่มแพลตฟอร์มออมนิแชนนอล พร้อมบริการต่างๆ ทำให้มียอดขายเข้ามาและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

 

ด้านบมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น พบว่ามีรายได้ 137,675 ล้านบาท เติบโต 7.5% กำไรสุทธิ 2,190 ล้านบาท ลดลง 24.2% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการปรับกลยุทธ์ด้านสินค้าและบริการ รวมถึงกลยุทธ์ O2O (Offline-to-Online) ของแต่ละหน่วยธุรกิจ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด และการบริหารจัดการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการล็อกดาวน์ในปลายไตรมาส 2 ทำให้สัดส่วนยอดขายในช่วงเวลากลางคืนหายไป แต่โดยภาพรวมยังพบว่ายอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 2.1% โดยมียอดขายเฉลี่ย 67,767 บาทต่อร้านต่อวัน โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์ O2O การให้บริการ 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping อย่างมีนัยสำคัญ

‘บิ๊กค้าปลีก เดินหน้าลงทุน รอวิกฤติคลี่คลาย

อย่างไรก็ดีแม้จะผ่านมาครึ่งทางในไตรมาส 3 ที่ธุรกิจเดินหน้าท่ามกลางวิกฤติโควิดระลอกที่หนักหน่วงที่สุด ผนวกกับมาตรการเข้มข้นขั้นสูงสุดของรัฐกับการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด ที่ล้วนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ทำให้หลายธุรกิจต้องชะลอ รวมถึงปิดให้บริการชั่วคราว บางรายต้องปิดในสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลทำให้ภาคค้าปลีกในไตรมาส 3 ทรุดตัวลงหนัก

 

แผนการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ย่อมต้องปรับกลยุทธ์รองรับ โดยนางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บัญชี และบริหารความเสี่ยง บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า

 

ทิศทางการดำเนินธุรกิจบริษัทจะต้องติดตามและประเมินผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจทั้งระยะสั้นและยาว พร้อมปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

ขณะเดียวกันก็เดินหน้าขยายการลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพตามแผนเดิมที่วางไว้ คือการลงทุนในโครงการมิกซ์ยูส ทั้งเซ็นทรัล อยุธยา ที่จะเปิดให้บริการในปีนี้ เช่นเดียวกับเซ็นทรัล ศรีราชา ส่วนเซ็นทรัล จันทบุรีอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเปิดให้บริการในปี 2565 และดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่จะทยอยเปิดให้บริการในปี 2566-2567 รวมทั้งการลงทุนเพื่อปรับปรุงศูนย์การค้าเดิมที่มีอยู่เพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับการแข่งขันในอนาคต

 

ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เซ็นทรัล รีเทลมุ่งทำการตลาดเชิงรุก เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว โดยที่ผ่านมามีทั้งการปรับโมเดลธุรกิจและพอร์ตโฟลิโอให้มีความยืดหยุ่น ให้สอดรับกับเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภค

 

ดังนั้นแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคตจะเห็นการขยายธุรกิจต่อเนื่องตามนโยบายของกลุ่ม ทั้งการลงทุนเอง การควบรวมกิจการ หรือการจับมือกับพันธมิตรใหม่ เพื่อสร้างการลงทุน ซึ่งการลงทุนเหล่านี้เป็นการเตรียมพร้อมเมื่อประเทศไทยสามารถเปิดประเทศและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว บริษัทก็จะกลับมาเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

‘บิ๊กค้าปลีก เดินหน้าลงทุน รอวิกฤติคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การลงทุนของซีพี ออลล์ ที่พบว่า ในปีนี้จะยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง โดยแผนการลงทุนเปิดสาขาใหม่จำนวน 700 สาขา โดยใช้งบลงทุนประมาณ 11,500-12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท

 

การปรับปรุงร้านเดิม 2,400-2,500 ล้านบาท การลงทุนในโครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและระบบสารสนเทศอีก 1,300-1,400 ล้านบาท

 

โดยคาดการณ์ว่าแม้มาตรการต่างๆที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในครึ่งปีแรก แต่มองว่าแนวโน้มธุรกิจยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยการปรับกลยุทธ์ที่เข้าถึงลูกค้าโดยตรงจะช่วยเพิ่มรายได้และชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

 

เช่น การเพิ่มสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ แทนยอดขายภายในร้าน การเพิ่มสัดสวนสินค้าที่เหมาะกับสถานการณ์ เช่น เมนูอาหารอิ่มคุ้ม กลุ่มสินค้าแพคขนาดครอบครัวหรือแพคใหญ่ เป็นต้น

 

มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวที่ขยายระยะเวลาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคค้าปลีก จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชนที่จะลดลงอีกตามที่หลายฝ่ายประเมินไว้หรือไม่ แผนการบริหารจัดการและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จะเป็นจริงหรือไม่ ภาคเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าหรือจะย่ำอยู่กับที่ ยังต้องจับตามองต่อไป...

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,709 วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2564