เซ็นทรัลพัฒนา ปิดดีล SF ขยายพอร์ต Super Regional Mall ปูพรมยึดค้าปลีกไทย

08 ก.ค. 2564 | 11:41 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 18:57 น.

เซ็นทรัลพัฒนา ประกาศทุ่ม 2.55 หมื่นล้านบาทฮุบกิจการ "สยามฟิวเจอร์ฯ" รวบค้าปลีกกรุงเทพฯ 4 มุมเมือง พร้อมขยายพอร์ตเมกะโปรเจ็ค Super Regional Mall ตอกย้ำเบอร์ 1 ค้าปลีกไทย

การประกาศเข้าซื้อกิจการของ บมจ. สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ SF ของ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN โดยรอบแรกเป็นการซื้อหุ้นต่อจาก บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป หรือ MAJOR จำนวน 30.36% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 7,765 ล้านบาท

 

และเตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ SF อีกซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินอีก 1.78 หมื่นล้าน เบ็ดเสร็จแล้วการเข้าซื้อกิจการของ SF ครั้งนี้จะต้องใช้เงินมากถึง 2.55 หมื่นล้านบาท

 

หากถามว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการลงทุน แน่นอนว่าหลายคนบอกว่า “สุดคุ้ม” เพราะทุกธุรกิจยังเดินหน้าได้ (แม้จะชะลอไปเล็กน้อยในช่วงวิกฤติโควิด) และสามารถทำเงินได้ทันที ไม่ต้องรอการลงทุนผนวกสิ่งที่ “SF” มีและพร้อมลงทุนกลายเป็น “จิ๊กซอว์” ที่จะมาเติมเต็มให้ CPN เข้มแข็งขึ้น

 

จะว่าไปแล้วไม่ใช่ครั้งแรกที่ “พ่อบุญทุ่ม” อย่าง CPN คิดจะซื้อกิจการของ SF เพราะด้วยจุดเด่นของ SF ที่มีอยู่ทั้งศักยภาพและทำเล ล้วนน่าสนใจ

เมกาบางนา

“ปรีชา เอกคุณากูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPN ให้เหตุผลในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ว่า เป็นการสร้างการเติบโตทางธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตรงตามยุทธศาสตร์ที่ CPN วางไว้ แผนกลยุทธ์ที่วางไว้และงานนี้ก็บรรลุข้อตกลงแบบ win win ทั้งสองฝ่าย

เพราะ CPN เอง ได้หุ้นในสัดส่วน 30.36% มาครอง ส่วน MAJOR ก็กำเงินในมือกว่า 7,765 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเอาเงินนี้ไปใช้จ่ายหนี้ที่มีอยู่ก็ยังเหลือเงินสดมาเสริมสภาพคล่องได้อีกกว่า 2,000 ล้านบาท ช่วยยืนธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ยามนี้ใครๆ ก็รู้ว่าโคม่าแค่ไหนที่ต้องควักจ่ายแบกภาระโดยไม่มีรายได้มานานนับปีจากพิษโควิด

 

เป้าหมายการเทคโอเวอร์ SF ครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพในธุรกิจของ SF ซึ่งจะช่วยขยายพอร์ตโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ Super Regional Mall ของ CPN เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ เซ็นทรัล เวสต์เกต และเมกาบางนา และยังต่อยอดการลงทุนร่วมกับอิเกีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของ SF ต่อไปในอนาคตด้วย

เซ็นทรัลพัฒนา ปิดดีล SF ขยายพอร์ต Super Regional Mall ปูพรมยึดค้าปลีกไทย

ยังไม่นับรวมพอร์ตเล็ก พอร์ตน้อยที่ SF มีอยู่ จากการบุกเบิกและปั้นแต่งของ “นพพร วิฑูรชาติ” ไม่ว่าจะเป็นเจ-อเวนิว คอมมูนิตี้ มอลล์สุดฮอทในทองหล่อรวมถึงคอมมูนิตี้ มอลล์อื่นๆ อีกมากมาย ที่จะมาช่วยเติมเต็มพอร์ตคอมมูนีตี้ มอลล์ อีกหนึ่งเซ็กเม้นท์ ค้าปลีกที่กลุ่ม CPN สนใจ

 

นอกจากนี้ยังมีที่ดินที่เป็นแลนด์แบงก์ของ SF อีกหลายแห่งทั้งใน CBD ของกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด รวมถึงที่ดินผืนใหญ่ที่บางใหญ่และรังสิตที่รอการพัฒนา ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจและสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีต่อไปในอนาคต

 

หากมองในมุมของ “SF” ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา SF ทุ่มเงินก้อนโตใน การลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ “เมกาบางนา” ด้วยเป้าหมายในการสร้าง “เมกาซิตี้” ที่ต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 6.7 หมื่นล้านบาท ที่นี่จึงเป็นเหมือน “หัวใจ” ของ SF

ที่ต้องคอยเติมแม็กเน็ตใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเป็นแรงดึงดูด รองรับลูกค้าทั้งกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก รวมไปถึงโซนตะวันออกของประเทศไทย โดยปัจจุบัน “เมกาบางนา” สามารถทำรายได้ให้กับ SF มากถึง 57% ส่วนอีก 43% มาจากศูนย์การค้าอื่นๆ

เซ็นทรัลพัฒนา ปิดดีล SF ขยายพอร์ต Super Regional Mall ปูพรมยึดค้าปลีกไทย

วันนี้ทั้ง 34 ศูนย์การค้าของ CPN รวมพื้นที่ค้าปลีกกว่า 1.8 ล้านตร.ม. ทั้งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 15 ศูนย์ ต่างจังหวัด 18 ศูนย์ และมาเลเซีย 1 ศูนย์ ยังไม่นับรวมอสังหาริมทรัพย์อื่นทั้งศูนย์อาหาร อาคารสำนักงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว

เมื่อผนวกรวมกับ SF ที่มีทั้งคอมมูนิตี้ มอลล์, ไลฟ์สไตล์เซ็น เตอร์, ร้านค้าปลีก ฯลฯ รวม 18 โครงการ เชื่อว่า “จิ๊กซอว์” ของ SF จะช่วยตอกยํ้า CPN ให้เป็นเบอร์ 1 ค้าปลีกเมืองไทยชัดเจนขึ้น