รื้อใหม่แผนสร้างศูนย์ฝึกอบรม"อู่ตะเภา”สภาพัฒน์ฯจี้ลดขนาดลงทุน

23 มิ.ย. 2564 | 15:45 น.
695

สถาบันการบินพลเรือน รื้อใหม่ทบทวนแผนสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ในเมืองการบินอู่ตะเภา หลังสภาพัฒน์ฯสั่งปรับลดขนาดลงทุน หั่นงบจาก 2.7 พันล้านบาทเหลือ1.7 พันล้านบาท คาดก่อสร้างในปี 68

นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รักษาการผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยว่าในขณะนี้ สบพ.อยู่ระหว่างทบทวนโครงการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ในพื้นที่ของ เมืองการบินภาคตะวันออก EEC ที่ได้รับจัดสรรจากกองทัพเรือ รวม 100 ไร่ อยู่ใกล้กับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการส่วนต่อขยาย MRO ที่จะมีการผลักดันลงทุนในอนาคต

การที่สบพ.ต้องมีการทบทวนโครงการนี้ใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้สบพ.ได้เสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าว ไปให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ พิจารณาแล้ว ซึ่ง สภาพัฒน์ฯให้ความเห็นว่าโครงการมีการลงทุนขนาดใหญ่เกินไป และขอให้ปรับลดขนาดลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา

 “สภาพัฒน์ฯระบุว่าโครงการลงทุนศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ควรใช้งบประมาณไม่เกิน 1.2 พันล้านบาท และในการดำเนินการควรแบ่งการดำเนินการเป็นระยะ (เฟส) จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ บอร์ด สบพ. มีมติเห็นชอบเมื่อประมาณเดือน เม.ย.2562 ถึงแผน โครงการศูนย์ฝึกอบรมฯอู่ตะเภา จะใช้งบประมาณลงทุนราว 2.7 พันล้านบาท ประกอบด้วย 1.สิ่งปลูกสร้าง วงเงิน 1.8 พันล้านบาท ค่าครุภัณฑ์อุปกรณ์การเรียนการสอน 450 ล้านบาท และงบดำเนินการ 450 ล้านบาท”
 

เมื่อสภาพัฒน์ฯให้ความเห็นว่าควรปรับลดขนาดการลงทุนลง ก็ทำให้ขณะนี้ สบพ.กำลังศึกษาโครงการเป็นครั้งที่ 2  ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบาดระลอกแรก ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สบพ. จึงมีมติให้ชะลอการดำเนินโครงการ และทบทวนโครงการใหม่อีกครั้งตามปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ สบพ.คาดว่าจะใช้เวลาทบทวนโครงการอีกระยะ ซึ่งอาจแล้วเสร็จไม่ทันปีนี้ เนื่องจากการทบทวนโครงการจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ที่ต้องลดขนาดลงตามที่สภาพัฒน์ให้ความเห็นไว้

อย่างไรตามตามขั้นตอนหาก ครม. พิจารณาอนุมัติโครงการที่ สบพ.ทบทวนใหม่ ก็คาดว่าจะเสนอขอใช้งบประมาณปี 2568 เริ่มต้นโครงการ ใช้เวลาก่อสร้างราว 18 เดือน คาดว่าศูนย์ฝึกอบรมฯ อู่ตะเภา จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดการเรียนการสอนในปี 2570 ซึ่งระยะแรกของการเปิดการเรียนการสอน จะรับนักเรียนแค่ 1 ชั้นเรียน ประมาณ 28 คน จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มชั้นเรียนขึ้น ภายใต้มาตรฐานของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (EASA) หรือ เอียซ่า

ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา

สำหรับศูนย์ฝึกอบรมฯ อู่ตะเภา สบพ.มีเป้าหมายพัฒนาเพื่อผลิตช่างซ่อมอากาศยานมาตรฐานเอียซ่า รองรับโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยในอนาคตไม่เพียงจัดการเรียนการสอน เพื่อผลิตช่างซ่อมอากาศยานเท่านั้น แต่จะมีการเปิดสอนในหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มเติมให้ครอบคลุมหลักสูตรการเรียนของอุตสาหกรรมการบิน

อย่างไรก็ตามโครงการศูนย์ฝึกอบรมฯอู่ตะเภา สบพ. ที่บอร์ดสบพ.มีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือน เม.ย.2562 จะใช้งบประมาณลงทุนราว 2.7 พันล้านบาท ประกอบด้วย 1.สิ่งปลูกสร้าง วงเงิน 1.8 พันล้านบาท ค่าครุภัณฑ์อุปกรณ์การเรียนการสอน 450 ล้านบาท และงบดำเนินการ 450 ล้านบาท
 

โดยก่อนหน้านี้ สบพ.ออกแบบก่อสร้างอาคาร มีกรอบแนวคิดพัฒนาให้เป็นอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งอาคารและสิ่งก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอบรมฯ อู่ตะเภา ระยะที่ 1 อาทิ อาคารเรียนช่างอากาศยาน และโรงจอดอากาศยาน พื้นที่ราว 32,000 ตารางเมตร ลานจอดอากาศยาน (APRON) 16,300 ตารางเมตร อาคารสาธารณูปโภค 2,000 ตารางเมตร อาคารบริหารงานและโรงอาหาร 13,000 ตารางเมตร รวมไปถึงลานฝึกซ่อมอากาศยานชนิดมีหลังคา ลานจอดรถ และทางเดินเชื่อมลอยฟ้า เป็นต้น

นางสาวภัคณัฏฐ์ ยังกล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดการเรียนการสอนของสถาบันการบินพลเรือน พร้อมเปิดเทอม 28 มิ.ย. 64 นี้ ขณะนี้เร่งฉีดวัคซีนนักศึกษา ศิษย์การบิน ครบ 2 เข็มก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ปกครองและเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความปลอดภัยและมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  

โดยสถาบันการบินพลเรือนได้รับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้จัดสรรวัคซีนให้แก่พนักงาน  อาจารย์ นักศึกษา ศิษย์การบิน ตลอดจนผู้ประกอบการของสถาบันการบินพลเรือนให้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ (Central Vaccination Center COVID-19)  จตุจักร กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ สถาบันการบินพลเรือนยังออกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  และคอยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด

ข่าวเกี่ยวข้อง: