ปิ๊งไอเดีย ช่วยเงินชดเชยปีละ 6 พันล้าน ใช้ "ข้าว" ทำอาหารสัตว์

18 มิ.ย. 2564 | 17:48 น.
1.2 k

สมาคมโรงสีข้าวฯ ปิ๊งไอเดีย เสนอรัฐชดเชย 4-6 พันล้าน พยุงราคาข้าวตกต่ำ ลดนำเข้าธัญพืชนอกปีละกว่า 3 หมื่นล้าน ชี้ได้ 2 เด้ง รัฐลดภาระประกันรายได้ สมาคมอาหารสัตว์ระบุพร้อมซื้อ หากราคาจูงใจ

ในทุกปีผู้ประกอบการอาหารสัตว์จะมีการนำเข้าธัญพืชจากต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ข้าวบาร์เลย์ กากข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นมูลค่ามหาศาล โดยในปี 2563 นำเข้ารวม 4.8 ล้านตัน (ข้อมูลสมาคมการค้าพืชไร่) มูลค่า 32,772 ล้านบาท ส่วนช่วง 3 เดือนปี 2564 มีการนำเข้า 1.29 ล้านตัน มูลค่า 8,525 ล้านบาท มีส่วนสำคัญจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศมีไม่เพียงพอ ดังนั้นหากมองหาวัตถุดิบในประเทศว่ามีสินค้าใดที่จะสามารถทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศได้ถือว่า “ข้าว” มีศักยภาพที่จะสามารถทดแทนได้

 

บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล

 

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยในปีที่ผ่านมา รวมถึงในปีนี้คาดจะลดลงไปมาก โดยในปี 2564 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 5 ล้านตันหรือไม่ยังต้องลุ้น อย่างไรก็ดีหากนำข้าวมาผูกกับข้าวโพดอาหารสัตว์จะเห็นว่ามีความแตกต่าง เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีผลผลิตในประเทศประมาณ 4.8 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 8.3 ล้านตัน ไม่เพียงพอต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกลง 

 

 

ขณะที่ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรไทยขายได้เวลานี้เฉลี่ยเพียง 8,500 บาทต่อตัน ถ้าเป็นข้าวกล้อง 7,500 บาทต่อตัน  เมื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร ราคา 10-11 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งก็ใกล้เคียงกับราคาข้าวโพด เปรียบเทียบกับข้าวสาลีก็ 10 บาทต่อกิโลกรัม คำถามคือทำไมรัฐไม่หาวิธีเพิ่มการบริโภคข้าวในประเทศโดยใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ให้มากขึ้น อย่างน้อยก็ช่วยลดซัพพลายข้าวลงได้มาก และเงินทองก็หมุนเวียนอยู่ในประเทศ จากการลดการนำเข้าธัญพืชที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ลง

 

ทั้งนี้วิธีการคือ รัฐบาลอาจจะชดเชยราคาข้าวให้โรงสีที่ซื้อมาแล้วขายขาดทุนเพื่อให้โรงสีขายข้าวสารให้โรงงานอาหารสัตว์ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ได้ในราคาที่ถูกลง สมมติเช่น 4 ล้านตัน ชดเชยตันละ 1,000 บาท ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท หากชดเชย 1,500 บาท ก็เพียง 6,000 ล้านบาท ซึ่งโรงสีสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปช่วยซื้อข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพให้เกษตรกรได้ และภาพรวมรัฐบาลจะได้ 2 เด้งคือ 1.ลดรายจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ชาวนาข้าวลง และผู้ผลิตอาหารสัตว์มีทางเลือกในการใช้ข้าวในประเทศเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

 

ปิ๊งไอเดีย ช่วยเงินชดเชยปีละ 6 พันล้าน  ใช้ \"ข้าว\" ทำอาหารสัตว์

“ปีนี้เป็นปีที่น่าตกใจมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิราคาตก ปีหน้าจะมีปัญหาถ้าภายใน 3-4 เดือนนี้ราคาไม่ปรับขึ้น เพราะโครงการประกันรายได้ข้าวปีที่ผ่านมารัฐบาลจ่ายไปแสนล้านบาท ดังนั้นหากนำข้าวมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพดที่ไม่เพียงพอได้จะช่วยลดภาระงบประมาณรัฐลงได้มากและแก้ปัญหาราคาข้าวได้ในระยะยาว”

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

 

ด้านนายนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายก สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า มูลค่าตลาดอาหารสัตว์ในประเทศประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี  มีการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ปีละประมาณ 20 ล้านตัน ส่วนหนึ่งมีการซื้อข้าวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์อยู่แล้ว ซึ่งจะซื้อในปริมาณที่ต้องการใช้เท่านั้น ส่วนจะมาทดแทนวัตถุดิบนำเข้านั้นจะต้องมีการเทียบเคียงระหว่างราคากับแป้ง หารออกมาเป็นหน่วย สมมติราคา “ข้าวสาร” กับ “ข้าวสาลี” ต้นทุนเท่ากัน แน่นอนก็ต้องช่วยเหลือกันแทนที่จะไปลำบากนำเข้ามา แต่ถ้าราคาข้าวสาลีถูกกว่าจะมาบังคับไม่ให้นำเข้าก็คงไม่ได้ 

 

“หากกลัวราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาก็มีประกันรายได้เกษตรกร ไม่ต้องห่วง หรือจะใช้ประกันแบบ 2 ชั้น แบบชาวไร่ข้าวโพดก็ได้ คือ ให้โรงงานซื้อราคาขั้นต่ำเท่านี้ แล้วก็บวกเพิ่มชดเชยประกันรายได้อีกชั้นหนึ่ง แต่ถ้าราคาข้าวดี สามารถแข่งกับข้าวสาลีได้ มาตรฐานต่อหน่วยเท่ากันก็คุยกันได้ แต่ถ้าข้าวสารราคาสูงมาบังคับให้ซื้อไม่ให้นำวัตถุดิบเข้ามา ไม่เอาเปรียบผมมากไปหน่อยหรือ” นายพรศิลป์ กล่าว

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง