เคลียร์ สหกรณ์แตกสาขา ฮุบโควตา นม รร.

29 พ.ค. 2564 | 16:15 น.
1.1 k

ประธานชุมนุมสหกรณ์โคมนมฯ เปิดใจเคลียร์ “สหกรณ์” แตกสาขา ฮุบโควตา นมโรงเรียน ละเอียดยิบ นัดทางออก 1 มิ.ย. ก่อน สหกรณ์ตายเรียบ

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังเกาะติด  อึ้ง! สหกรณ์แตกสาขาแบ่งเค้กนม รร. เป็นการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หรือ “นมโรงเรียน” ประจำปีการศึกษา 2564 งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท  มีความคืบหน้าตามลำดับ

 

นัยฤทธิ์ จำเล

 

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้สหกรณ์ การที่จะเปิดสาขาแต่ละที่ ไม่ใช่เรื่องง่าย มีกฎระเบียบมากมายต้องขออนุมัติจากที่ประชุมใหญ่และต้องให้สหกรณ์จังหวัดอนุญาต “แดนดำเนินการ” ถึงสร้างสาขาได้ สหกรณ์ทั่วไปไม่มี

 

 แต่ “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด”  มีใบแดนดำเนินการตั้งแต่สมัยจัดตั้งแล้ว ดังนั้นสามารถเปิดได้ทั่วประเทศ แล้วนโยบายของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ไม่ออกใบแดนดำเนินการให้ และสหกรณ์โคนมกำแพงแสน จำกัด ก็ได้ ในเขตใกล้พื้นที่ของที่ตั้งแล้ว ต้องไม่ทับซ้อนกับพื้นที่สหกรณ์อื่นๆ

 

“แดนดำเนินการ” คือ สหกรณ์ หมายถึงข้อบังคับ ที่จะไปสร้าง แตกสาขา ไม่ได้ เชื่อว่าหลายสหกรณ์ ก็อยากจะทำแต่ทำไม่ได้เพราะติด แดนดำเนินการ เพราะระเบียบล็อกไว้ ต่างจากบริษัทเอกชน  ไม่มีระเบียบอะไรเลย มีเงินก็สามารถสร้าง สาขาได้เลย”

 

นายนัยฤทธิ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับคำพูดของนายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ที่ว่า หากเปิดในลักษณะแบบนี้เกษตรกรเดือดร้อนแน่นอน ในส่วนผู้ประกอบการที่ยื่นไม่เกิน 5 ตัน/วัน  จะขยายภาพให้ชัด ก็คือ หากมีน้ำนมดิบ 5 ตัน  เกิดขึ้นทั่วประเทศ วันนี้คนที่จะซื้อน้ำนมดิบไปทำนมโรงเรียนจะต้องแบกสัดส่วน ยกตัวอย่าง ซื้อน้ำนม 10 ตัน/วัน ขายนมโรงเรียนขายได้ 7 ตัน/วัน ส่วนที่เหลือจะต้องไปบริหารนมพาณิชย์

 

แต่พอมาวันนี้มาใช้กฎระเบียบแค่ 5 ตัน/วัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ไม่ต้องแบกสัดส่วนนมพาณิชย์ จะทำให้การรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรลดน้อยลงแน่นอน เพราะผู้ประกอบการก็คิดจะซื้อแค่ 5 ตัน/วันเท่านั้น และก็จะได้แค่ 5 ตัน/วัน เท่านั้น จะไม่รับซื้อน้ำนมดิบเพิ่ม และการกำหนดน้ำนมดิบ 5 ตัน/วัน ทำให้คนรับซื้อน้ำนมดิบลดลง เกษตรกรจะเดือดร้อน นี่คือเรื่องจริง ยอมรับ


 

นายนัยฤทธิ์ กล่าวว่า วันนี้โรงใหญ่จะต้องแบกสัดส่วน มีน้ำนมดิบ 10 ตัน/วัน จะได้เข้านมโรงเรียน 7 ตัน/วัน ส่วน 3 ตัน/วัน ต้องไปบริหารจัดการเอาเอง เพื่อซื้อนมโรงเรียน 10 ตัน/วัน เข้านมโรงเรียน 7 ตัน/วัน ตามเงื่อนไขเดิม แต่พอระเบียบใหม่ไปเปิดช่องให้เกิดโรงนมขนาดเล็ก 5 ตัน/วัน จะได้ 5 ตัน/วัน ไม่ต้องไปซื้อน้ำนมดิบเพิ่ม แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมากล่าวหาโจมตีว่า "สหกรณ์ฮุบโควตานมโรงเรียน" เนื่องจากว่าเอกชนสร้างเงื่อนไขได้โดยง่าย

 

"ไม่มีการตรวจสอบบัญชี ไม่มีการตรวจนับสินค้าแบบสหรกณ์ สหกรณ์ทุกวันนี้ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี แต่เอกชนจ้างพนักงานบัญชีมาตรวจสอบง่ายๆ เช่นรับซื้อน้ำนมดิบเกษตรกร สหกรณ์มีการตรวจสอบย้อนกลับ ซื้อมาขายไป แต่เอกชนไม่สามารถตรวจสอบได้ ที่มาที่ไป วันนี้ภาคสหกรณ์เสียเปรียบอย่างมาก เราก็ต้องมีการทบทวน ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จะมีการประชุม ที่จังหวัดขอนแก่น ทบทวนมาตรการ หากทำอย่างนี้สหกรณ์จะอยู่ไม่ได้แน่นอน อนาคตตายเรียบ"

 

นายนัยฤทธิ์ กล่าวว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะถูกเอกชนกลืน แล้วค่อยๆ ลดหายไป แล้วปีหน้าจะเกิดขึ้นมากกว่านี้ ถ้าเป็นระเบียบแบบนี้ ยังไม่แก้ไข แล้วถามวันนี้ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา ปล่อยให้สร้างแล้วเกิดใหม่เรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งมาแก้กฎหมาย มาแก้ระเบียบ โดยกลับมาใช้แบบเดิมคนที่สร้างลงทุนไปแล้วจะทำอย่างไร

 

คือต้องชัดเจน ว่าจะทำแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งการเข้ามาในโครงการนมโรงเรียน ง่ายมาก เพียงแค่รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร 5 ตัน/วัน ระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นก็สามารถเข้าโครงการนมโรงเรียนได้ เพียงแค่ทำโรงนมพาสเจอร์ไรส์ให้ถูกต้องตามระเบียบ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ข้อจำกัดแค่นี้ง่ายมาก แต่วันนี้สหกรณ์ทำยาก ไม่เหมือนภาคเอกชน เกิดขึ้นง่ายมาก แค่มีเงินลงทุน นี่คือหลักที่สหกรณ์เสียเปรียบ

 

"ในอนาคตจะต้องมีมาตรการออกมาว่า ว่าทำในลักษณะนี้ไม่ได้แล้ว หรือยกเลิก 5 ตัน/วัน ให้เข้าสัดส่วนทั้งหมดก็ได้ แต่มายึดโยงแบบนี้จะทำให้ระบบรวน หากปล่อยไว้เป็นแบบนี้ สหกรณ์ก็จะโดนริดลอนสิทธิแน่นอน ก็จะยิ่งโดนกลืนไปเรื่อยๆ แล้วถ้ามองว่า 5 ตัน/วัน ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อนาคตเกษตรกรจะขายน้ำนมดิบได้ลดลงแน่นอน เป็นห่วงมากกว่า"