‘ศรีนานาพร’ ปรับตัวฝ่าวิกฤตโควิด

19 พ.ค. 2564 | 17:37 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2564 | 11:20 น.

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ‘ศรีนานาพร’ ปรับตัวฝ่าวิกฤตโควิด

ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยคึกคัก ที่หลายบริษัทวางแผนเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในนั้น คือ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP เป็นเจ้าของแบรนด์ เยลลี่พร้อมดื่ม “เจเล่” , ปลาหมึกอบเบนโตะ คาดเข้าจดทะเบียนได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้ โดยที่ผ่านมา บริษัทเร่งปรับตัวเพื่อปรับมือกับการระบาดของโควิด-19 มั่นใจว่าผลประกอบการปีนี้เทิร์นอะราวด์แน่นอน

นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทในปีที่ผ่านได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่โดยรวมแล้ว ถือว่าดีกว่าตลาดและผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน โดยมีรายได้รวม 4,435 ล้านบาท  ลดลงเล็กน้อย  6.5 % จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม  4,748 ล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในปี 2564 มั่นใจว่าจะดีกว่าปีก่อนแน่นอน แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 แต่บริษัทก็มีประสบการณ์จากรอบที่ผ่านๆ มาแล้ว โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2563 หลังบริษัทเร่งปรับตัวรับมือกับภาวะวิกฤต

 

ทั้งนี้ มองว่า จุดแข็งสำคัญที่ทำให้บริษัทประคองตัวฝ่าวิกฤตโควิดมาได้มีด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่ 

1.มีสินค้าที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มขนมคบเคี้ยวและเครื่องดื่ม ช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมามีการออกแคมเปญใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลาหมึกอบเบนโตะที่มียอดขายจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะคนจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย คิดป็นสัดส่วนถึง 30% แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์เลยได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์หันมาเจาะฐานลูกค้าในประเทศมากขึ้น ผ่านแคมเปญ work from home นำเบนโตะ มาทานคู่กับอาหารอื่นๆ เช่น ข้าวต้ม, ข้าวเหนียว เอาไปทำเป็นยำ ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี

ส่วนเยลลี่พร้อมดื่ม “เจเล่” ซึ่งมีวิตามินสูง อร่อย อยู่ท้อง มีการออกสินค้าใหม่ เจเล่น วิตามิน ในราคา 10 บาท จับตลาดในช่วงที่คนหยุดทำงานที่บ้าน ขณะที่กลุ่มน้ำผสมวิตามินยังเติบโตดี เพราะตั้งแต่เกิดโควิดผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

2.ช่องทางกระจายสินค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีศูนย์กระจายสินค้าทั้งหมด 11 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค สามารถกระจายสินค้าถึงกลุ่มร้านค้า ทั้งค้าปลีกและค้าส่งมากกว่า 70,000 รายทั่วประเทศ

3.การบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด บริษัทให้ความสำคัญอย่างมากในการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต มาไล่ดูเลยว่าสินค้าแต่ละตัว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้นทุนประกอบๆไปด้วยอะไรบ้าง เพื่อที่จะหาแนวทางในการลดต้นทุน

4.ธรรมาภิบาล การดูแลพนักงาน แม้ปีที่ผ่านมายอดขายจะได้รับผลกระทบจากโควิด แต่บริษัทไม่มีการปรับลดพนักงาน ไม่มีการลดเงินเดือน พนักงานทุกคนก็มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ร่วมมือกันฟันฝ่าภาวะวิกฤต

ส่วนความคืบหน้าในการเสนอขายหุ้นไอพีโอเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   คาดจะเข้าซื้อขายได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้

โดยมีแผนนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ชำระคืนหนี้ และสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในหุ้นของบริษัทเหมือนได้ลงทุนใน 2 ธุรกิจ ในบริษัทเดียว

ชมคลิปข่าว SNNP : เจ้าตลาดขนม - เครื่องดื่ม ฝ่าวิกฤติโควิดอย่างไร | THAN TALK | 19-05-64