พาณิชย์กางแผนรับมือ คู่ค้าเปิดไต่สวน กีดกันการค้าหนัก

15 พ.ค. 2564 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2564 | 19:28 น.

การใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศ และอาจเป็นเครื่องมือกีดกันการค้า ในช่วงจากนี้ที่เศรษฐกิจ การค้าโลกเริ่มฟื้นตัวจะเป็นอย่างไรนั้น

ข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2564 มีสินค้าไทยอยู่ระหว่างถูกประเทศคู่ค้าเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ารวม 37 รายการ แบ่งเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) 14 รายการ จาก 5 ประเทศ(อินเดียใช้มาตรการกับไทยมากสุดรองลงมาคือเวียดนาม และสหรัฐฯ) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) 3 รายการ จาก 2 ประเทศ (อินเดีย เวียดนาม) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) 20 รายการ จาก 9 ประเทศ(ฟิลิปปินส์ มากสุด 10 รายการ) โดยสินค้าไทยที่ถูกไต่สวน เช่น วัสดุที่ใช้ในการเชื่อม, เหล็กกล้าผสม, เส้นใยโพลีเอสเตอร์ และนํ้าตาล เป็นต้น

ขณะที่ไทยมีการเปิดไต่ สวนเพื่อใช้มาตรการกับประเทศคู่ค้ารวม 7 รายการ แบ่งเป็นมาตรการเอดี 6 รายการ และมาตรการเซฟการ์ด 1 รายการ สินค้าที่ไทยเปิดไต่สวน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน, สินค้าฟอยล์และอะลูมิเนียม, ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ (BOPP) เกรดทั่วไป เป็นต้น ทั้งนี้ผลกระทบหากไทยถูกใช้มาตรการต่าง ๆ ข้างต้น คือการชะลอตัวทางการค้าที่การส่งออกอาจลดลงจากการถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราสูง ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน เสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศที่ไม่ถูกใช้มาตรการ หรือประเทศที่มีแต้มต่อทางการค้า ส่งผลต่อเนื่องถึงการผลิต และการจ้างงานที่ลดลง เป็นต้น

แนวโน้มใช้มาตรการพุ่ง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้มาตรการ AD / CVD /SG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต จากปัจจัยหลักคือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ขยายตัวเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลทำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการข้างต้นเพิ่มขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ขณะที่คาดการณ์ว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะยังคงดำเนินต่อไป แต่สหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหันมาใช้มาตรการการค้าแบบดั้งเดิม คือ AD / CVD ควบคู่กับการนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อใช้เป็นมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้าซึ่งรวมทั้งไทยมากขึ้น

 

อินเดียเบอร์1ใช้ ADโลก

ทั้งนี้จากข้อมูลของ  wto.org (สถิติตั้งแต่ปี 2538 ถึง ณ เดือนพ.ค.2564) การใช้มาตรการ AD ทั่วโลกมีจำนวนทั้งสิ้น 4,012 กรณี โดยประเทศที่ใช้มาตรการ AD กับทั่วโลกมากสุดคือ อินเดีย  712 กรณี  รองลงมาคือ สหรัฐฯ 514 กรณี และสหภาพยุโรป(อียู) 335 กรณี (กราฟิกประกอบ) ส่วนมาตรการ CVD มีจำนวนทั้งสิ้น 337 กรณี ประเทศที่ใช้มาตรการมากสุดคือ สหรัฐฯ 168 กรณี อียู 45 กรณี และ แคนาดา 35 กรณี โดยประเทศที่ถูกใช้มาตรการมากสุดคือ จีน 128 กรณี รองลงมา อินเดีย 55 กรณี และ เกาหลีใต้ 15 กรณี สินค้าที่ถูกใช้มาตรการ CVD มากสุดคือ เหล็กชนิดต่าง ๆ 165 กรณี รองลงมาคือ เคมีภัณฑ์ 31 กรณี และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 28 กรณี

ส่วนมาตรการ SG มีจำนวนทั้งสิ้น 191 กรณี ประเทศที่ใช้มาตรการมากสุดคือ อินโดนีเซีย 23 กรณี รองลงมา อินเดีย 22 กรณี และตุรกี 17 กรณี สินค้าที่ถูกใช้มาตรการ SG มากสุดคือ เหล็กชนิดต่าง ๆ 51 กรณี รองลงมา เคมีภัณฑ์ 35 กรณี และอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และยาสูบ 15 กรณี

มาตรการตอบโต้

นายกีรติ กล่าวว่า บทบาทของกรมการค้าต่างประเทศ กรณีไทยถูกไต่สวน AD / CVD / SG ที่สำคัญคือ ให้คำแนะนำผู้ส่งออกไทยในการตอบแบบสอบถาม, การเข้าร่วมตรวจสอบข้อมูลในฐานะผู้สังเกตการณ์, มีหนังสือถึงรัฐบาลประเทศผู้ไต่สวนเพื่อสนับสนุนข้อมูลหรือข้อโต้แย้งของผู้ส่งออกไทย, ในกรณีการไต่สวน CVD กรมการค้าต่างประเทศ  จะเป็น Focal Point หรือเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น บีโอไอ  กรมศุลกากร กรมสรรพากร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ในการเข้าร่วมกระบวนการตอบแบบสอบถามสำหรับภาครัฐ รวมถึงแนะนำรายชื่อบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการ AD / CVD / SG ของประเทศต่าง ๆ (ในกรณีที่ต้องการใช้ที่ปรึกษากฎหมาย โดยเฉพาะกระบวนการไต่สวนของสหรัฐฯที่จะต้องกระทำผ่านบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลสหรัฐฯเท่านั้น)

“มาตรการเหล่านี้เป็นกฎกติกาของ WTO ที่สามารถทำได้เพื่อปกป้องตัวเองจากการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในส่วนของมาตรการเอดีฝากถึงผู้ส่งออกไทยต้องเข้าใจหลักการ อย่าไปขายสินค้าราคาถูกกว่าราคาที่ขายในประเทศตัวเอง เช่นขายในบ้าน 10 บาท แต่ส่งไปขายประเทศอื่นในราคา 4 บาท แสดงว่ามีเจตนาไปดัมพ์ราคาและทุ่มตลาด  เพราะหากถูกไต่สวนและถูกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราสูงก็จะทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน คู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น  เรื่องนี้เราพยายามบอกกับผู้ส่งออกไทยทุกราย รวมถึงผู้ประกอบการจากต่างประทศที่มาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกว่าอย่าไปทำ” 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สหรัฐฯประกาศเอดียางรถยนต์จากไทย เรียกเก็บภาษี 13-22%

บิ๊กฟิล์ม BOPP จี้พาณิชย์เดินหน้า ไต่สวนเอดี 3 ชาติทุ่มตลาดหนัก

เล็งต่ออายุเอดีเหล็กอีก5ปี