กีดกันการค้ายุคโควิด ฟัดเดือด!

10 พ.ค. 2564 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2564 | 19:52 น.
845

กีดกันการค้ายุคโควิดยังฟัดเดือด ไทย-เทศแห่ใช้มาตรการ เอดี /ซีวีดี/เซฟการ์ดป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ไทยตกเป็นเป้า คู่ค้าอยู่ระหว่างเปิดไต่สวน 37 รายการ หวั่นกระทบส่งออกช่วงขาขึ้น

สถานการณ์ค้าโลกเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น หลังซมพิษโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาดังนั้นมาตรการทางการค้าหลัก ๆ ทั้ง มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD), มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) เป็นที่จับตามองว่าแต่ละประเทศจะนำมาใช้มากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ณ ปัจจุบันมีสินค้าไทยอยู่ระหว่างถูกประเทศคู่ค้าเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการรวม 37 รายการ แบ่งเป็นมาตรการเอดี 14 รายการ จาก 5 ประเทศ(อินเดียมากสุด 6 รายการ) มาตรการซีวีดี 3 รายการ จาก 2 ประเทศ (อินเดีย เวียดนาม) และมาตรการเซฟการ์ด 20 รายการ จาก 9 ประเทศ(ฟิลิปปินส์ มากสุด 10 รายการ) โดยสินค้าไทยที่ถูกไต่สวน เช่น วัสดุที่ใช้ในการเชื่อม,เหล็กกล้าผสม, เส้นใยโพลีเอสเตอร์ และนํ้าตาล เป็นต้น

ขณะที่ไทยมีการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการกับประเทศคู่ค้ารวม 7 รายการ แบ่งเป็นมาตรการเอดี 6 รายการ และมาตรการเซฟการ์ด 1 รายการ สินค้าที่ไทยเปิดไต่สวน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน,สินค้าฟอยล์และอะลูมิเนียม,ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ (BOPP) เกรดทั่วไป เป็นต้น

กีรติ  รัชโน

“การใช้มาตรการเอดี/ ซีวีดี และเซฟการ์ดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต มีปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออก มีผลทำให้ประเทศ ต่างๆ ใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ขณะที่คาดสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะยังดำเนินต่อไป แต่สหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดนคาดจะหันมาใช้มาตรการเอดี/ ซีวีดี ซึ่งเป็นมาตรการการค้าแบบดังเดิมมากขึ้น”

ชัยชาญ  เจริญสุข

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า จากแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถป้องกันได้ โดย 1.การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ประเทศปลายทางกำหนดซึ่งมองว่าเป็นประเด็นที่คู่ค้าจะใช้กีดกันมากกว่า และ 2.การบริหารต้นทุน และกำหนดราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ขายในราคาที่ตํ่าราคาขายในประเทศ หรือขายในราคาดัมพ์ตลาดในประเทศปลายทาง ถ้าทำได้ 2 อย่างนี้ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกใช้มาตรการ

“ขบวนการขั้นตอนในการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดี ซีวีดี หรือเซฟการ์ดของแต่ละประเทศจะใช้เวลาเฉลี่ย 6 เดือนถึง 1 ปี หากมีมูลถึงจะใช้มาตรการจริง ซึ่งคงไม่กระทบการส่งออกไทยที่กำลังขยายตัวในเวลานี้มาก”

กีดกันการค้ายุคโควิด ฟัดเดือด!

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว ที่น่าจับตามองคือตลาดสหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะนำ 2 ประเด็นมาใช้ในการกีดกันการค้าเพิ่มเติมได้แก่ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนการใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น ภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกับกระแสดังกล่าว

“อินเดียเป็นประเทศที่ใช้มาตรการเอดีมากที่สุดในโลก(ตัวเลขสะสม 712 รายการ) โดยจีนถูกใช้มาตรการมากที่สุด เหตุจากอินเดียกลัวขาดดุล การค้าโดยเฉพาะกับจีน เพราะอินเดียเป็นตลาดใหญ่มีประชากร มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ถ้าเขาเปิดเสรีสินค้าจากทั่วโลกก็จะทะลักเข้า ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของอินเดียเป็นเอสเอ็มอีอยู่ในช่วงตั้งไข่ของการทำธุรกิจ หากแข่งขันไม่ได้ ก็อาจต้องเลิกกิจการไป”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564