พลิกศก. “อันดามัน-อ่าวไทย” พัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพรับเปิดประเทศ

31 มี.ค. 2564 | 19:10 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2564 | 18:30 น.
531

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กฎบัตรไทย หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกาศเริ่มต้นแผนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอันดามัน-อ่าวไทย ด้วยระบบส่งเสริมสุขภาพและการจัดเวลเนสแพ็กเกจ กระตุ้นการท่องเที่ยวสุขภาพ คาด 3 ปีสร้างมูลค่าเศรษฐกิจรวม 1.5 แสนล้านบาท

 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี ร่วมกับอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ ได้ร่วมกันเปิดหลักสูตรการบริหารจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหารรุ่น 1 (Wellness Hotel for Executive#1) และแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศและการพื้นฟูเศรษฐกิจอันดามัน-อ่าวไทย สนับสนุนภาคใต้เป็นศูนย์กลางเวลเนสของเอเซีย ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายสุขภาพแห่งชาติของรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความพร้อมในการนำกลุ่มคณะวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทย์แผนไทย และคณะเทคนิคการแพทย์ รวมทั้งคณะการบริการและการท่องเที่ยว สนับสนุนทางวิชาการแก่กลุ่มเป้าหมายโรงแรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต เป็นโรงแรมส่งเสริมสุขภาพหรือเวลเนสโฮเทล โดยเบื้องต้น ได้ร่วมกับกฎบัตรไทย เปิดหลักสูตรการบริการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหาร รุ่น 1 มีผู้บริหารโรงแรมจากจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีเข้าร่วมจำนวน 120 แห่ง

หลักสูตรนี้ คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยจะเป็นวิทยากรฝึกอบรมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพเป็นเวลา 145 ชั่วโมง ดำเนินการฝึกอบรม 4 เดือน นับจากเดือนมีนาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเฉพาะสำหรับเจ้าของโรงแรมและผู้บริหารโรงแรมเท่านั้น โดยเนื้อหาจะเน้นการยกระดับสมรรถนะทั้ง up skill และ new skill ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ สาธารณสุข การแพทย์แผนไทย และดิจิทัลเฮลท์

คาดหวังให้ผู้เรียนมีขีดความสามารถระดับสูง ในการบริหารจัดการระบบส่งเสริมสุขภาพ สามารถใช้ฐานองค์ความรู้จากการวิจัยและเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการ และสร้างประสิทธิภาพแก่องค์กร ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดความยั่งยืนในระบบการส่งเสริมสุขภาพและการท่องเที่ยวสุขภาพระยะยาว ทั้งนี้ งบประมาณในการวิจัยระดับพื้นที่ มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและการจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่หรือ บพท.

พลิกศก. “อันดามัน-อ่าวไทย” พัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพรับเปิดประเทศ

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธ์ ประธานกฎบัตรไทย กล่าวว่า แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพรองรับการเปิดประเทศและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอันดามัน เป็นแผนงานร่วมระหว่างกฎบัตรไทยกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มีเป้าหมายทางตรงในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 โดยแผนได้กำหนดเป้าหมายทางตรงในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับกลุ่มโรงแรม  ซึ่งได้แก่ การพัฒนาสมรรถนะด้านการบริหารจัดการระบบเวลเนสที่เป็นสากล และนำกิจการเวลเนสที่ได้มาตรฐานแล้วเปิดให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยการจัดเวลเนสแพ็กเกจ จำนวน 12 แพ็กเกจ

 

 

แบ่งเป็น แพ็กเกจด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน  4 แพ็กเกจ ผลิตภัณฑ์ความงาม 2 แพ็กเกจ และแพทย์แผนไทยจำนวน 6 แพ็กเกจ สำหรับกลุ่มเป้าหมายในช่วงปี 2564 ที่จะเริ่มให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จะพุ่งเป้าไปยังกลุ่มลูกค้าชาวไทย และนับจากเดือนมกราคม 2565 จะเปิดขายแพ็กเกจให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชาวต่างชาติ ซึ่งตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดขึ้นนั้น ในช่วงของแผนระยะ 3 ปี (2564-2566) คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับโรงแรมจำนวน 250 โรง ไม่น้อยกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

  นายฐาปนา บุณยประวิตร  กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย กล่าวเสริมว่า แผนการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพรองรับแผนการเปิดประเทศและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ  อันดามัน-อ่าวไทย พุ่งเป้าไปยังการพัฒนาในภาพรวมเพื่อสร้างพื้นที่อันดามันและอ่าวไทย เป็นเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพวิถีใหม่ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างภาคการผลิต การจัดทำแผนการตลาดวิถีใหม่ และการสร้างเครือข่ายการตลาดสุขภาพ ร่วมกับกลุ่มการท่องเที่ยวนานาชาติทั้งไทยและต่างประเทศ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)(ทีเส็บ)  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยสมายด์แอร์เวย์ จำกัด บริษัท อินโนเวชั่น เทคโนโลยี จำกัด บริษัท บี-เฮลท์ตี้เอเซีย จำกัด บริษัท เอเซียฟู๊ดแอนด์ฟาร์ม จำกัด พร้อมด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์กรภาคีเครือข่าย

   สำหรับแผนปฏิบัติการนั้น แบ่งออกเป็น  3 ปี โดยปี 2564 ที่จะเริ่มในเดือนมีนาคมนี้นั้น โครงการกำหนดดำเนินการวิจัยจำนวน 3 เรื่อง การยกระดับสมรรถนะด้วยการฝึกอบรมผู้บริหารและพนักงาน 120 โรงแรม การให้คำปรึกษาแนะนำแก่โรงแรม 120 โรง การพัฒนาแพลตฟอร์มโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ 1 แพลตฟอร์ม การปรับปรุงฟื้นฟูโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ 120 โรงแรม การจัดกิจกรรมเวลเนส 12 แพ็คเกจ พร้อมการจัดงาน 2021 Thailand International Wellness & Research Expo ร่วมกับทีเสปและ ททท. และการพัฒนา 3 ชุมชนสมุนไพรเป็นพื้นที่ผลิตต้นแบบ

    ปี 2565 การยกระดับสมรรถนะด้วยการฝึกอบรมผู้บริหารและพนักงาน 130 โรงแรม การให้คำปรึกษาแนะนำ 250 โรงแรม การปรับปรุงฟื้นฟูโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ 250 โรงแรม การจัดกิจกรรมเวลเนส 15 แพ็คเกจ การจัดงาน 2022 Thailand International Wellness & Research Expo การพัฒนามาตรฐานและใบอนุญาตโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนา 5 ชุมชนสมุนไพร และการพัฒนา 3 ย่านส่งเสริมสุขภาพ 

                ส่วนในปี 2566 การให้คำปรึกษาแนะนำ 250 โรงแรม การปรับปรุงฟื้นฟูโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ 250 โรงแรม

                การจัดกิจกรรมเวลเนส 15 แพ็กเกจ การจัดงาน 2023 Thailand International Wellness & Research Expo

                การพัฒนา 5 ชุมชนสมุนไพร และการพัฒนา 2 ย่านส่งเสริมสุขภาพ   

                โดยการประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิต และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพ ตามแผน 3 ปี จะได้รับผลตอบแทนรวม 156,939,665,000 บาท แบ่งเป็น มูลค่าที่ได้รับจากกลุ่มโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ 18,528,176,000 บาท กลุ่มเฮลท์เทค 5,011,277,000 บาท กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยและสมุนไพร 31,761,580,000 บาท และกลุ่มแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก 101,038,632,000 บาท มูลค่าดังกล่าวไม่นับรวม รายได้จากการท่องเที่ยวสุขภาพ การค้าปลีกค้าส่งผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร และรายได้จากการจ้างงานในทุกกลุ่มที่ได้รับการพัฒนาของโครงการ

 

ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการสัมมนาวิทยากรได้ร่วมกันแถลงถึงข้อเสนอการพลิกฟื้น"อ่าวไทย-อันดามัน"รับเปิดประเทศ (ชมคลิป) 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,666 วันที่ 1 - 3 เมษายน พ.ศ. 2564