จีนขยับ “ข้าวโพด-ถั่วเหลือง-ข้าวสาลี” ตลาดโลก แดงยกแผง

14 มี.ค. 2564 | 19:40 น.
19.8 k

ตลาดโลก “ข้าวโพด-ถั่วเหลือง-ข้าวสาลี” แดงยกแผง สะท้าน "จีน" วางแผนพัฒนาสร้างความมั่นคงด้านอาหารใน 5 ปี วงการค้าไทย ตื่น กระตุ้นปรับตัวให้ทันยุค “disrupt” ก่อนอาชีพสูญพันธุ์

แหล่งข่าววงการค้าเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดชิคาโก รายงานสถานการณ์สินค้าเกษตร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 เริ่มราคาร่วงลงสู่แดนลบยกกระดาน นำโดย “ถั่วเหลือง” ด้วยนักลงทุนมองว่ารายงาน คาดการณ์อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรโลก ( WASDE)  ยังไม่ชัดเจนโดยไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบที่จีนจะมีแผนพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่นักวิเคราะห์ของ ภาวะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (CBOT) มองว่าสภาวะอากาศจะเป็นปัจจัยหลักในทวีปอเมริกาใต้ ที่มีผลต่อผลผลิตและราคาในตลาด โดยคาดว่าทิศทางของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกจะชัดเจนขึ้นในเดือนเมษายนนี้

ถั่วเหลือง หรือ soybeans

 

“ราคาร่วงนำตลาดถึง -2.06% เมื่อ USDA หรือ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ปรับลดผผลิตถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาลง 0.5 ล้านตัน แต่เพิ่มผลผลิตของบราซิล 1 ล้านตัน อีกทั้งยังไม่มีความแน่นอนถึงคาดการณ์ผลผลิตที่จะได้รับ ซึ่งบราซิลเพิ่งเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองได้เพียง 25% จาก 46% ในระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้งบราซิลมีกำหนดจะส่งถั่วเหลืองให้จีนนับหลายล้านตันในเดือนนี้  ทำให้ยอดขายของสหรัฐไปจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วน “ข้าวโพด” แรงเทขายออกทำกำไร และปรับสถานะของการลงทุน -2.53% ด้วย  USDA หรือ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ยังไม่ประเมินผลกระทบที่จีนมีแผนพัฒนาการเกษตร 5 ปีที่เริ่มในปีนี้ไปจนถึงปี 2525 เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยจีนจะพัฒนานวัตกรรมทุกทางรวมทั้งพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้ได้ผลผลิตที่มากเพียงพอ รวมทั้งปรับปรุงสายพันธุ์ปศุสัตว์ ซึ่ง รัฐมนตรีเกษตรและพัฒนาชนบทของจีนกำลังนำเสนอที่ประชุมสภาประชาชนจีนอยู่ในขณะนี้

 

ข้าวโพด หรือ corn

 

ปิดท้าย “ข้าวสาลี” ราคาร่วงลงจากแรงขายออกทางเทคนิค-0.87% การเพิ่มขึ้นของข้าวสาลีออสเตรเลียอีก 3 ล้านตัน สู้ระดับ 33 ล้านตัน ในปีนี้ และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 117.11% จากปีที่แล้ว จะทำให้ออสเตรเลียขายผลผลิตทั้งในรูปแบบของ Foodและ Feed หลังจากถูกจีนตอบโต้ด้วยชะลอการซื้อข้าวสาลี ขึ้นภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์จากกรณีออสเตรเลียกล่าวหาว่าจีนเป็นผู้แพร่เชื้อ "โควิด-19" ในปลายปี 2019

 

ข้าวสาลี หรือ Wheat

แหล่งข่าววงการค้าเกษตร กล่าวว่า ยิ่งมองอนาคตยิ่งน่ากังวล อนาคตเกษตรกรมีโอกาสโดน “disrupt” จากการพัฒนาด้านเกษตรของประเทศจีนสูงมาก