"ดุสิตธานี"กระจายความเสี่ยงลงทุนหลากหลาย ลุ้นครึ่งหลังปี64ท่องเที่ยวทยอยฟื้น

24 ก.พ. 2564 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2564 | 09:16 น.

กลุ่มดุสิตธานีเผยปี63 ขาดทุน 1,011 ล้านบาท จากโควิด-19 รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คิด ลุ้นครึ่งหลังของปีนี้ที่ธุรกิจท่องเที่ยวจะค่อยๆ ฟื้นตัว เดินกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง สร้างสมดุลธุรกิจ

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ว่าผลประกอบการของดุสิตธานีในปี 2563 ที่ผ่านมา จะประสบภาวะขาดทุน แต่ก็เป็นไปตามที่ฝ่ายบริหารคาดการณ์ไว้

เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งระลอกแรกในช่วงปี 2563 และระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีเดียวกัน ทำให้การเดินทางหยุดชะงักและจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ด้วยการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบของดุสิตธานี ผนวกกับกลยุทธ์หลักของบริษัทฯ ที่เน้นการระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ด้วยการกระจาย การลงทุนหลากหลาย ทำให้สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ 

“ธุรกิจโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในส่วนที่เราเป็นเจ้าของและรับเป็นผู้บริหารต่างก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงแรมต้องหยุดให้บริการในช่วงไตรมาสสองจากการแพร่ระบาดในระลอกแรก 

จนเมื่อการเดินทางผ่อนคลายได้บ้างในช่วงกลางปีที่แล้ว จึงเริ่มเห็นสัญญาณการค่อยๆ ฟื้นตัวของรายได้ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2563 โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาสเพิ่มขึ้น 60.3%  

แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก2 ในปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เรายังเห็นความคืบหน้าในการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกและในหลายประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับบุคลากรที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวเป็นลำดับแรกๆ 

โดยทีมงานของดุสิตฯ ในประเทศต่างๆ ก็ได้รับการฉีดวัคซีนกันเป็นส่วนมากแล้ว ทำให้เราเริ่มมั่นใจว่า จะเห็นการท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

ที่ผ่านมา ดุสิตธานีไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ปรับโมเดลเดินหน้าสร้างรายได้ผ่าน non-room business  และเตรียมการรองรับกับการกลับมาของการท่องเที่ยว โดยปรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้น่าสนใจมากขึ้น 

อย่างกรณีของโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ที่เราพัฒนาเป็นแหล่งกิจกรรมท่องเที่ยวในแนววิถีธรรมชาติ มีแปลงนาที่ปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นจุดขายที่มีความโดดเด่นในอนาคต และเราจะใช้โมเดลนี้ในโรงแรมต่างๆ ของกลุ่มดุสิตธานีด้วย” นางศุภจีกล่าว

สำหรับธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มดุสิตธานี ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยธุรกิจการศึกษา ในส่วนของวิทยาลัยดุสิตธานีสามารถรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 17% โดยทางวิทยาลัยมีหลักสูตรที่ตอบรับกับความต้องการของผู้ที่ต้องการเรียนเพื่อหารายได้เสริมและไปประกอบวิชาชีพเพิ่มขึ้น

 นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจการศึกษาให้เติบโตต่อเนื่องด้วยการเปิดโครงการ Food School เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับตลาดบน เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารที่ยังมีแผนเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 ซึ่งปัจจุบันรายได้จากธุรกิจอาหารยังเป็นไปตามเป้าหมาย

โดยรายได้หลักยังคงมาจาก Epicure Catering ซึ่งให้บริการจัดหาอาหาร (Catering) ให้แก่โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนไปยังเวียดนาม และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2564 

ในขณะที่ธุรกิจอาหารภายใต้แบรนด์ “คาวาอิ” ในปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มจุด grab & go ที่เวอร์จิน ฟิตเนส คลับ อีก 3 แห่ง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ และตึกเอ็มไพร์  ส่วนปีนี้จะเปิด flagship store เพิ่มในเดือนพฤษภาคม  

ทางด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มดุสิตธานีจะเริ่มเปิดการขายโครงการที่พักอาศัย “ดุสิต เรสซิเดนเซส” ในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ให้กับลูกค้าในช่วงไตรมาสสองของปีนี้  หลังจากที่มียอดขายจาก Private sales ในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ

“ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนในธุรกิจที่มีความหลากหลายของกลุ่มดุสิตธานี ทำให้เราสามารถสร้างสมดุลให้กับธุรกิจได้ 

แม้ว่ารายได้หลักจะมาจากธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาพรวมของกลุ่มดุสิตธานีต้องหยุดชะงัก และหลังจากนี้เราเชื่อว่า เราจะสามารถสร้างการเติบโตได้ภายใต้ฐานรากที่แน่นหนา  เพราะบทเรียนตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

ทำให้เราเรียนรู้ที่จะปรับตัว เราลดค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด และการแสวงหารายได้ก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อโลกปลดล็อคจากโควิด-19 เราเชื่อว่า ฐานรากที่เราวางไว้จะสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานีกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: