ส่งออกสินค้าเกษตร ภายใต้ FTA ปี 63 โต 2.3 %

26 ม.ค. 2564 | 18:22 น.

“กรมเจรจา”  กางสถิติการค้าปี 63 พบ ส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยขยายตัว 2.3% แม้ทั้งปีต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 หมูสด ไก่สด ปลาสด และผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง มันสำปะหลัง ความต้องการพุ่ง! พร้อมเร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ เพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการการค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2563 แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ พบว่า สินค้าเกษตร อาทิ กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ไม่รวมอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่าส่งออก 14,876 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (71% ของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปโลก) เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ กัมพูชา (+140%) ฮ่องกง (+19%) สิงคโปร์ (+18%) บรูไน (+15%) จีน (+11%) นิวซีแลนด์ (+11%) ออสเตรเลีย (+5%) เมียนมา (+2%) และมาเลเซีย (+2%) สินค้าเกษตรที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+259%) ปศุสัตว์อื่นๆ 815 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+78%) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 912 ล้านเหรียญสหรัฐ (+14%) ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+13%) ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 4,088 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+12%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 2,676 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+3%) เป็นต้น

ส่งออกสินค้าเกษตร  ภายใต้ FTA ปี 63 โต 2.3 %

 

สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูปของไทย ถึงแม้การส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอปรับตัวลดลงร้อยละ 5.8 โดยมีมูลค่าส่งออก 11,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่พบว่าความต้องการสินค้าดังกล่าวของไทยในหลายประเทศเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา อาทิ เวียดนาม (+24%) สิงคโปร์ (+20%) เปรู (+17%) ชิลี (+10%) ฮ่องกง (+8%) บรูไน (+7%) นิวซีแลนด์ (+7%) ออสเตรเลีย (+3%) และฟิลิปปินส์ (+0.1%) โดยสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขยายตัว คือ สินค้ากลุ่มอาหารสำเร็จรูปซึ่งเก็บรักษาได้นานและสะดวกต่อการบริโภคตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคโควิด เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 3,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+3%) อาหารสัตว์เลี้ยง มูลค่า 2,005 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+18%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป มูลค่า 1,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+1%) สิ่งปรุงแต่งรสอาหาร มูลค่า 851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+8%) และผักกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+4%)

 

เช่นเดียวกับ สินค้าอุตสาหกรรมของไทย ที่การส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอลดลงร้อยละ 7.9 มีมูลค่าส่งออก 108,893 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ความต้องการสินค้าของไทยในตลาดสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ สิงคโปร์ (+18%) และจีน (+1%) โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ สินค้าป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และสินค้า Work from Home อาทิ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 18,669 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+2%) เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ มูลค่า 1,439 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+13%) ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 12,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+8%) อุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่า 751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+5%)

ส่งออกสินค้าเกษตร  ภายใต้ FTA ปี 63 โต 2.3 %

 

ทั้งนี้ การค้าของไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอมีมูลค่า 276,303 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (63% ของการค้าของไทยทั้งหมด) โดยเป็นการส่งออก มูลค่า 140,826 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (61% ของการส่งออกของไทย) และเป็นการนำเข้า มูลค่า 135,477 ล้านดอลลร์สหรัฐ (66% ของการนำเข้าทั้งหมด) ตลาดคู่เอฟทีเอที่ขยายตัว ได้แก่ จีน (+2.0%) สิงคโปร์ (+7.2%) 

 ในปี 2564 กรมฯ จะเร่งเดินหน้าผลักดันการเจรจาเอฟทีเอ ทั้งการเจรจาที่ยังค้างอยู่กับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา รวมทั้งเตรียมเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) เพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง