วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีวาระการพิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดก่อนหน้าที่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ซึ่งคณะกรรมการฯชุดใหม่มีมติให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปอีก 6 เดือน โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 และให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561
สำหรับเหตุผลให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ระบุเนื่องจากพบว่ายังมีการใช้ใน 160 ประเทศ ดังนั้นจึงยังอนุญาตให้ใช้ได้จากมติครั้งก่อนไม่ได้พิจารณาถึงผล
กระทบของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารสัตว์ ได้รับผลกระทบหลายแสนล้านบาทดังนั้นหากประกาศห้ามใช้สารดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากสหรัฐอเมริกาได้
นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันสารเคมีทั้ง 3 รายการ ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2563 เหลืออยู่ 2.25 หมื่นตัน (กราฟิกประกอบ) ในส่วนไกลโฟเซต ที่จำกัดการใช้ ก็ยังไม่มีโควตาออกมาเลยว่าในปีนี้จะให้นำเข้าได้เท่าไร แต่ละบริษัทได้โควตาเท่าไร ปัจจุบันปริมาณไกลโฟเซตยังคงมีเหลืออยู่จริงแต่ไม่มีทุกบริษัท บางบริษัทของหมดไป 2 เดือนก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะพลิกมติให้เป็นจำกัดการใช้ ทั้งนี้สมาคมกำลังทำหนังสือเพื่อขอหารือกับกรมวิชาการเกษตรว่าเมื่อยังไม่ได้ยกเลิกการใช้ ก็ควรเปิดโควตาให้มีการนำเข้า เพราะผลจากการที่มีสินค้าน้อย(ปัจจุบันไกลโฟเซตคงเหลือในสต๊อก 1.05 หมื่นตัน) จะทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น และบริษัทต่างๆ จำเป็นที่จะต้องสั่งของเข้ามาก่อนฤดูฝนจะมาถึงในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเป็นอย่างช้า เพราะเกษตรกรจำเป็นต้องใช้
แหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตร เผยถึงภาพรวมผู้ที่ครอบครองวัตถุอันตราย 3 ชนิดเวลานี้มีจำนวน 13,221 ราย ในจำนวนนี้เป็นของหน่วยงานสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร(สวพ.)ใน 8 เขต รวม 73 จังหวัด จำนวน 13,141 ราย ร้านค้าเขต กทม./ปริมณฑล มีเพียง 5 ราย(จาก 73 ราย, ผู้จัดจำหน่ายใน 20 จังหวัด เหลืออยู่ 31 ราย(จาก 386 ราย) และผู้ผลิต/ผู้นำเข้าใน 12 จังหวัด เหลืออยู่ 44 ราย(จาก 105 ราย)
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ปริมาณการครอบครองผ่านมา 6 เดือน ลดลงเพียงกว่า 1,000 ตัน ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในการที่เกษตรกร ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ในฐานะผู้บริโภค เห็นด้วยกับการสร้างมาตรฐาน ISO แบบเสนอความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ(ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...
นายวีรวุฒิ กล่าวอีกว่า จากร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าวนั้น 3 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมนวัตกรรมเกษตรไทย จะร่วมหารือกับกรมวิชาการเกษตร ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการหารือกันก่อน เพราะหากร่างประกาศมีผลบังคับใช้แล้วเกรงจะมีปัญหาภายหลัง เนื่องจากสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยว ข้องกับการกำหนดที่ตั้งของสถานประกอบการวัตถุอันตรายจะต้องได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองมาตรฐานจากการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการ
ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานISO/IEC 17025
ปัจจุบันโรงงานมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.ซื้อสารเคมีแบบสำเร็จรูป แล้วนำมาบรรจุผลิตภัณฑ์ใหม่ แล้วมีใบรับรองผ่านการตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตร 2.โรงงานที่นำมาผสมปรุงแต่งสารเคมี ซึ่งเห็นด้วยที่จะต้องเป็นไปตามที่กรมประกาศ เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่จำเป็นที่จะต้องเข้าระบบแล้วให้ระยะเวลาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอีก 2 ปี แต่ที่มีปัญหาคือผู้ประกอบการกลุ่มแรก เพราะจะต้องลงทุนสูงมาก ดังนั้นเห็นว่าควรมีการยืดหยุ่น จะใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,545 วันที่ 2 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563