เปิดชื่อ 12 โรงงานไก่    ลุ้นจีนไฟเขียว ดันยอดโต100%

09 ม.ค. 2563 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2563 | 10:58 น.
30.4 k

เปิดชื่อ 12 โรงงานไก่ ลุ้นได้ไฟเขียวส่งออกไปจีน ช่วยเพิ่มยอดปี 63 หลังอหิวาต์หมูระบาดไทยได้อานิสงส์ พ่อค้าจีนวิ่งหาของวุ่น สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยลุ้นผ่านรับรองไตรมาสแรก เผยส่งผลดันราคาไก่ในประเทศขยับตาม เกษตรกรได้เฮ

 

วันที่ 6 มีนาคม 2561 สำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(GACC)ได้ประกาศรายชื่อและขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกและผลพลอยได้ไก่แช่แข็งของไทยที่ได้รับการรับรอง และสามารถส่งออกไปจีนได้แล้ว 7 โรงงาน ประกอบด้วย โรงงานของ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) (บมจ.) 1 โรงงาน, บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 2 โรงงาน, บริษัท สหฟาร์ม จำกัด(บจก.) 1 โรงงาน, บจก.โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส 1 โรงงาน, บจก. เอฟ แอนด์ เอฟ ฟู้ด 1 โรงงาน และบมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป 1 โรงงาน

 

ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2562 จีนได้ประกาศรับรองเพิ่มอีก 9 โรงงาน สามารถส่งออกไปจีนได้ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ประกอบด้วยโรงงานของ บมจ.จีเอฟพีที, บจก.บางกอกแร้นซ์, บจก.ไทยสัน โพลทรี่, บจก.พนัส โพลทรี, บจก.ไทย โพลทรีย์ กรุ๊ป, บมจ.จีเอฟพีทีนิชิเร(ประเทศไทย), บจก.ซิลเวอร์ ฟาร์ม เซ็นเตอร์, บจก.บิ๊กฟู้ดส์ และบจก.ไทย ฟู้ดส์ กรุ๊ป รวม 2 ล็อตผ่านการรับรองแล้ว 16 โรงงาน

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ล่าสุดมีโรงงานผลิตสินค้าไก่ของไทยที่อยู่ระหว่างรอประกาศผ่านการรับรองจากทางการจีนเพื่อให้มีผลส่งออกไปจีนได้อีก 12 โรง ประกอบด้วย โรงงานของบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ 2 โรง และของบจก.เซ็นทรัล โพลทรีย์ โพรเซสซิ่ง, บจก.เบทเตอร์ ฟู้ดส์, บจก.ซัน ฟู้ด, บจก.คาร์กิลล์ มีทส์, บจก.ไทยสัน โพลทรี่, บจก.บี.ฟู้ดโปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บจก.แหลมทองโพลทริ, บจก.คาร์กิลล์ มีทส์, บจก.ดั๊กคิง และเบทาโกร รายละ 1 โรงงาน

เปิดชื่อ 12 โรงงานไก่     ลุ้นจีนไฟเขียว  ดันยอดโต100%

ช่วง 10 เดือนแรกปี 2562 ไทยส่งออกไก่สดแช่แข็งไปจีนได้ 4.6 หมื่นตันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 207% ส่วนด้านมูลค่าส่งออกได้ 5,095 ล้านบาท ขยายตัว 330% ปี 2563 คาดไทยจะส่งออกสินค้าไก่ไปจีนได้เพิ่มขึ้นระดับเป็น 100% ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น และอียูซึ่งเป็น 2 ตลาดหลักจะไม่ขยายตัวมากตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ไปญี่ปุนเรามีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้นบ้างจากญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนี้

 

อย่างไรก็ดี ตลาดที่จะมาช่วยเพิ่มยอดได้มากในปีนี้คือตลาดจีนที่เกิดปัญหาโรคโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูระบาด ทำให้มีความต้องการนำเข้าไก่ไปบริโภคแทนเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น หากได้รับไฟเขียวผ่านการตรวจเอกสารเพื่อรับรองโรงงานให้ส่งออกไปจีนได้อีก 12 โรง ในไตรมาสแรกที่ 1-2 ของปีนี้จะช่วยเพิ่มยอดได้อีกมาก จากเวลานี้ 15 โรงเดิมที่ผ่านการรับรองมีออร์เดอร์เต็มกำลังผลิต 100% มีผู้นำเข้าของจีนมาขอซื้อจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีกำลังผลิตให้

ผลพวงตลาดไก่ในจีนที่ขยายตัวมาก ยังส่งผลถึงราคาไก่ในประเทศขยับขึ้น ปัจจุบันราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยที่ 34-35 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จากต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 33 บาทต่อกก. จากปี 2561 ผลผลิตไก่ล้นตลาดราคาไก่เหลือ 31-32 บาทต่อกก. มองว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของไก่ไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : โอกาสทองผู้ผลิต-แปรรูปเนื้อไก่ ในยุคหมูจีนแพง

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563