บีแลนด์ทุ่ม 6 พันล้าน รับรถไฟฟ้า

08 ส.ค. 2562 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2562 | 17:15 น.
10.9 k

    บีแลนด์ เล็งทุ่มงบ 5-6 พันล้านบาทลงทุนในเมืองทองธานี รับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู หวังดันรายได้แตะหมื่นล้านบาทใน 3 ปี

บีแลนด์ทุ่ม 6 พันล้าน  รับรถไฟฟ้า

       หลังจาก “อนันต์ กาญจนพาสน์” ประกาศวางมือจากธุรกิจและทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับลูกๆ โดยมี 2 ทายาทในเจเนอเรชัน 3 “ปีเตอร์และพอลล์ กาญจนพาสน์” มารับไม้ต่อ โดย “ปีเตอร์” คุมบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือบีแลนด์ (BLAND) และ “พอลล์” ดูแลบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบางกอกแลนด์ที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 20 ในเดือนตุลาคมนี้ ต่างมุ่งสานต่อการทุ่มเทการลงทุนในอิมแพ็ค เมืองทองธานี ให้สมบูรณ์แบบและรองรับการเติบโตในอนาคต

บีแลนด์ทุ่ม 6 พันล้าน  รับรถไฟฟ้า

        นายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ รองประธานกรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือบีแลนด์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บีแลนด์อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ ในเรื่องของการอนุมัติส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูระยะทาง 2.8 กิโลเมตรจากสถานีศรีรัช ที่จะเข้ามายัง 2 สถานี ในอิมแพ็ค เมืองทองธานี คือ บริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี และอาคารชาเลนเจอร์ ที่บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กับบีแลนด์ จะเป็นผู้ลงทุนคนละ 1,250 ล้านบาท และการบำรุงรักษา 10 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 30 ปี

ปีเตอร์ กาญจนพาสน์

         ทั้งนี้ถ้ามีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีชมพูเข้ามาในพื้นที่ จะส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นไม่ตํ่ากว่า 3 เท่า จากปัจจุบันเฉลี่ย 1 แสนบาทต่อตารางวาเพิ่มเป็น 3 แสนบาทต่อตารางวา เทียบเท่ากับที่ดินติดริมถนนแจ้งวัฒนะในปัจจุบัน ทั้งการมีรถไฟฟ้ายังคาดว่าจะช่วยผลักดันการเดินทางเข้ามาในอิมแพ็คได้เพิ่มขึ้นอีก 30% จากจำนวนผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ตรวมกว่า 10 ล้านคนต่อปี

       ดังนั้นการขยายการลงทุนของบีแลนด์ในช่วง 3 ปีนี้จะโฟกัสการลงทุนอยู่ที่เมืองทองธานี เป็นหลัก โดยได้วางงบลงทุน 5,000-6,000 ล้านบาท (ไม่รวมมูลค่าที่ดิน) เพื่อสร้างให้เป็นเมืองสมบูรณ์แบบ รองรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู

บีแลนด์ทุ่ม 6 พันล้าน  รับรถไฟฟ้า

       นอกจากนี้ยังมีแผนขยายการลงทุนในพื้นที่ราว 600 ไร่รอบทะเลสาบเมืองทองธานีและพื้นที่อิมแพ็คจากพื้นที่ทั้งหมด 4,000 ไร่ โดยการลงทุนจะมีทั้งโรงแรม การลงทุนด้านไมซ์ ช็อปปิ้งมอลล์ โดยจะทยอยลงทุนและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 8 ปี ส่วนรายละเอียดทั้งหมดจะเปิดเผยได้ในช่วงปลายปีนี้ และเริ่มก่อสร้างในปีหน้า ถ้าได้ความชัดเจนเรื่องของรถไฟฟ้า

        “เมื่อ 2-3 ปีก่อน คุณพ่อ (อนันต์ กาญจนพาสน์)ได้ขายที่ดินกว่า 1,350 ไร่ บริเวณถนนศรีนครินทร์ ได้เงิน 1.49 หมื่นล้านบาท และภายในสิ้นปีนี้จะรับโอนอีก 4,000 ล้านบาท ก็จะนำมาลงทุนที่อิมแพ็คเมืองทองธานี เพื่อผลักดันให้ที่นี่เป็นเมืองสมบูรณ์แบบ”

       

         นายปีเตอร์ กล่าวว่า บริษัทเน้นขยายพื้นที่คอมเมอร์เชียลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงพื้นที่บริเวณสะพานเชื่อมภายในอิมแพ็คราว 2 กิโลเมตร ที่อนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจะส่งผลให้มีพื้นที่รีเทลเพิ่มขึ้นจากพื้นที่รีเทลในปัจจุบันที่มีราว 6 หมื่นตรม. และช่วยผลักดันรายได้จากค้าปลีกให้มีกำไรจาก 1,000 ล้านบาทในปัจจุบันเพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาทใน 2-3 ปีนี้ 

 

ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เกิน 1 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปี ขณะที่ในปีงบประมาณ 2562 (1เมษายน 2561-30 มีนาคม 2562) มีรายได้ 7,974 ล้านบาท กำไร 1.81 พันล้านบาท

พอลล์  กาญจนพาสน์

          ด้านนายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทจะทยอยลงทุนเพิ่มต่อเนื่องเพื่อผลักดันรายได้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากรายได้ในการเช่าพื้นที่จัดงานต่างๆในอิมแพ็คแล้ว จะมุ่งผลักดันรายได้จากอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาทภายใน 2-3 ปีจากปัจจุบันที่มีรายได้ 700 ล้านบาทต่อปี ซึ่งล่าสุดได้ไปซื้อแฟรนไชส์ “The coffee academics” แบรนด์กาแฟจากฮ่องกงมาเปิดให้บริการในย่านหลังสวนในช่วงปลายปีนี้และตั้งเป้าจะเปิดให้บริการ 8-10 สาขาภายใน 3 ปี และเน้นขยายรายได้จากการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้งานครัวของอิมแพ็คที่มีบริการจัดเลี้ยงอยู่แล้ว

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,494 วันที่ 8 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

บีแลนด์ทุ่ม 6 พันล้าน  รับรถไฟฟ้า