8 เดือน ไทยยังโชว์ความสำเร็จ ป้องโรคอหิวาต์สุกร ลามเวียดนาม-กัมพูชา ส่อขยายเป็นวงกว้าง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ติวเข้มซักซ้อมแผนดักทางพวกลักลอบ ผวานำเนื้อติดเชื้อโรคเข้าประเทศ อีกด้านสั่งไล่เอ็กซเรย์กว่า 1.9 แสนฟาร์มทั่วประเทศ โล่งยังไม่พบฟาร์มสุกรต้องสงสัย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือไวรัส ASF เริ่มแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2561ที่ผ่านมาพบการระบาดใน 17 ประเทศได้แก่ ทวีปยุโรป 10 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย 4 ประเทศ โดยในทวีปเอเซียมีรายงานการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 61 ต่อมาพบที่ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และกัมพูชา ตามลำดับ
“โรค ASF แม้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและควบคุมโรค เชื้อโรคทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต เพื่อความไม่ประมาททางกรมได้จัดประชุมสัมมนา "ยกระดับมาตรการสกัดกั้น ควบคุม ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคมที่ผ่านมา”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ถูกต้อง และมอบนโยบายการปฎิบัติงานการลาดตะเวนเข้มงวดตรวจค้นจับกุม การลักลอบนำเข้าสัตว์ -ซากสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ รวมถึงมาตรการสกัดกั้นโรค ASF ไม่ให้หลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ให้กับหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกัน
สำหรับแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคมี 3 ระยะคือ ก่อนเผชิญเหตุการระบาด ขณะเผชิญเหตุการระบาด และหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด โดยกำหนดแนวปฏิบัติไว้ 8 มาตรการ คือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาการควบคุมโรค การเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารความเสี่ยง และการจัดการฟื้นฟูเกษตรกร
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง กรอบในการดำเนินงาน และการสนับสนุนในการดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างประเทศ เช่น ด้านการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค ด่านกักกันสัตว์ การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ และทางห้องปฏิบัติการ เพื่อจะได้นำแนวทางมาทำการซักซ้อมแผนปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ร่วมกันระหว่างประเทศต่อไป
อนึ่ง ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 210,978 ราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 208,192 ราย เลี้ยงสุกรขุน 80,000 ตัว สุกรพันธุ์ 63,000 ตัว ลูกสุกร 733,000 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 2,758 ราย เลี้ยงสุกรขุน 8,800,000 ตัว สุกรพันธุ์ 1,137,000 ตัว และลูกสุกร 4,670,000 ตัว ดังนั้นหากเกิดการระบาดของโรคแล้วทำลายสุกร กรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของสุกรที่เลี้ยง เสียหายรวม 21,168,000,000 บาท กรณีเกิดโรคร้อยละ 50 ของสุกรที่เลี้ยง เสียหายรวม 35,280,000,000 บาท
หากเกิดโรคร้อยละ 80ของสุกรที่เลี้ยงเสียหายรวม 56,448,000,000 บาท และถ้าเกิดการระบาดทั้งหมดจะเสียหายรวม 70,560,000,000 บาท รวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป เนื้อสุกรมีชีวิต ด้านธุรกิจอาหารสัตว์ ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์อีกมหาศาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการพื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่เกษตรกรเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเป็นเวลานาน