สจล. เปิดสถาบัน KOSEN – KMITL เปิดการศึกษาครั้งแรก พ.ค. นี้ ล่าสุดรับหัวกะทิ 24 คน รุ่นแรก พร้อมศึกษา 5 ปีทุนรัฐบาลเต็มจำนวน
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอล บนความร่วมมือในการผลิตวิศวกรปฏิบัติการ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย และกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น มีความพร้อมทำการเรียนการสอน 100% ในสถาบันโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอล และมีแนวทางการขยายวิทยาเขตเพิ่มเติมตามความพร้อมของสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้าร่วมในโครงการ
ทั้งนี้ สถาบันโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอล ถือเป็นสถาบันหลักในการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ ตอบโจทย์ภาคการผลิตของไทยและการขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างสรรค์ ตามแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน (Thailand Plus One) ของประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องการยกไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงการถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องผลิตวิศวกรปฏิบัติการสร้างความเชื่อมั่นให้กับญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
“สำหรับในภาคการศึกษา 2562 มีนักเรียนหัวกะทิกลุ่มแรกที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 24 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งเป็นหลักสูตร 5 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์จาก สจล. โดยยึดมาตรฐานตามสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ที่มีความเข้มข้นทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ควบคู่กับการเรียนรู้ในทักษะด้านสังคมและอารมณ์ เพื่อสร้างวิศวกรปฏิบัติการที่มีความสามารถสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ นักเรียนได้ทำโปรเจคและฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมพาร์ทเนอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอนจากทั้งสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับอาจารย์ของไทยเป็นที่ปรึกษาควบคู่กัน”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการสถาบันโคเซ็น – เคเอ็มไอทีแอล กล่าวว่า หลักสูตรโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอล ภายใต้ความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ได้นำร่องทำการเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) หรือการเรียนด้านระบบอัตโนมัติ
ทั้งนี้คัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และสนใจศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อผลิตวิศวกรปฏิบัตการที่มีความชำนาญเฉพาะสาขา ในช่วงก่อนสำเร็จการศึกษานักศึกษาจะได้เดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้จะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากรัฐบาล และหลังจากสำเร็จการศึกษาสามารถเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีอีก 2 ปีในสถาบันชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ