"โบ๊ทลากูนยอชต์ติ้ง" ทุ่มพันล้าน ชิงโอกาส "ไทยมารีน่าฮับ"

04 มี.ค. 2562 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2562 | 04:56 น.
1.8 k

คาดว่า ภายในปี 2563 ทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นแหล่งที่มีเรือยอชต์เดินทางมาเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแคริบเบียน ทำให้ผู้นำในธุรกิจนำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเรือยอชต์ของไทยที่ทำธุรกิจนี้มากว่า 25 ปี ซึ่งมีสาขาอยู่กว่า 9 แห่ง ทั้งในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมัลดีฟส์ ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ... อ่านได้จากสัมภาษณ์ นายวริศ ยงสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบ๊ทลากูนยอชต์ติ้ง จำกัด
 

วริศ ยงสกุล

วริศ ยงสกุล


⁍ ดันยอดขายปีนี้แตะ 2 พันล้าน

การดำเนินธุรกิจของโบ๊ทลากูนยอชต์ติ้งในภูมิภาคนี้ ปีที่ผ่านมา เรามียอดขายเรือยอชต์และซูเปอร์ยอชต์จาก 9 สาขา ใน 5 ประเทศ เพิ่มขึ้นราว 10% โดยอยู่ที่ราวกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจาก 1,500 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ในภูมิภาคนี้ และในปีนี้ คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มเป็นมากกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้หลักกว่า 85% จะมาจากการซื้อขายเรือยอชต์และซูเปอร์ยอชต์ที่เป็นทั้งเรือมือ 1 และมือ 2 โดยเราเป็นตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์เรือยอชต์ระดับโลก อาทิ Princess, Jeanneau, Prestige ตามมาด้วยรายได้จากการเช่าเรือและการซ่อมบำรุงรักษาเรือและงานบริการหลังการขายอื่น ๆ ที่เรามีให้บริการครบวงจร

การเติบโตของลูกค้าส่วนใหญ่ คนมาซื้อเรือจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ก็เห็นชัดเจนว่า เรามีสัดส่วนลูกค้าในกลุ่มคนไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดิม 20% ตอนนี้ขยับมาเป็น 30% แล้ว แสดงให้เห็นว่า คนไทยมีไลฟ์สไตล์ล่องเรือยอชต์เพิ่มขึ้น วันนี้คนมีแนวโน้มจะซื้อเรือยอชต์และเดินทางท่องเที่ยวโดยยอชต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นเพราะมีความส่วนตัว สามารถเดินทางไปได้ในทุกจุดที่หลายคนไม่สามารถไปได้ ทั้งในประเทศ หรือ ข้ามประเทศ ทั้งเรือยอชต์ยังเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจทำงานพ่วงกับการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ หรือแม้แต่ด้านกีฬา ผมจึงมองว่า แนวโน้มนี้ยังเติบโตได้อีกไกล ไทยเองก็มีความพร้อมหลายอย่างในการรองรับ


⁍ เพิ่มพอร์ตยอชต์โมเดลใหม่

นอกจากนี้ ยังจะเห็นเทรนด์การเติบโตของเรือซูเปอร์ยอชต์และสปอร์ตยอชต์ที่กำลังเป็นที่นิยม ทำให้บริษัทจึงอยู่ระหว่างขยายพอร์ตโฟลิโอ โดยลงทุนซื้อเรือยอชต์รุ่นใหม่ ๆ ของโลก ซึ่งลงทุนไปมากกว่า 1,000 ล้านบาท ในการนำเข้าเรือ 5-6 รุ่นใหม่ มาเปิดตัวในไทยและในภูมิภาคนี้ จะทยอยนำเข้ามาตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

เช่น เรือยอชต์ของแบรนด์ Princess อาทิ Y85 ที่เป็นไซซ์เริ่มต้นของเรือซูเปอร์ยอชต์ ที่เริ่มจาก 25 เมตร เป็นสเปเชียล อิดิชัน ราคาที่เราจะขายอยู่ที่ราว 300 ล้านบาท ทั้งยังจะมี R35 เป็นสปอร์ตยอชต์และเป็นครั้งแรกของโลก ที่บริษัทเรือยอชต์และบริษัทเทคโนโลยี F1 ของรถ ได้มาพัฒนาร่วมสปอร์ตยอชต์ร่วมกันที่ดูโฉบเฉี่ยวสวยงาม ราคาที่เราจะขายอยู่ที่ราว 40 ล้านบาท F45 ยอชต์ขนาดกะทัดรัด แต่มีพื้นที่ใช้สอยที่ครบครัน ราคาที่เราจะขายอยู่ที่ราว 42 ล้านบาท เรือยอชต์แบรนด์ Jeanneau ก็จะนำเรือคาตามารัน 9.0 CC ขนาด 30 ฟุต เป็นต้น
 

\"โบ๊ทลากูนยอชต์ติ้ง\" ทุ่มพันล้าน ชิงโอกาส \"ไทยมารีน่าฮับ\"


⁍ เล็งลงทุนมารีน่าในอีอีซี

ไม่เพียงการซื้อขายเรือยอชต์ เรายังทำธุรกิจมารีน่าที่ภูเก็ตในนาม "โบ๊ท ลากูน ภูเก็ต" ซึ่งบริการจอดเรือยอชต์ทั้งบนบกและในนํ้าได้ 330 ลำ โดยนอกจากให้บริการจอดเรือ เรายังจะเน้นจัดอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น มารีน่า อีเวนต์ จัดล่องเรือเป็นกลุ่ม เป็นต้น เพื่อทำให้ที่นี่เป็นเดสติเนชันสำหรับการล่องเรือ และ "กระบี่ โบ๊ทลากูน" รองรับเรือยอชต์ทั้งบนบกและในนํ้าได้ 120 ลำ เราจะเน้นการขยายบริการให้มากขึ้น รวมถึงเรายังให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร

นอกจากนี้ ก็ยังมองโอกาสที่จะลงทุนมารีน่าเพิ่มเติมทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก็ดูไว้ที่เมียนมา มาเลเซีย ซึ่งก็มีคนรู้จักมาชวนอยู่และเราก็ชอบด้านนี้ แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม


⁍ จี้รัฐปล่อยเช่าซูเปอร์ยอชต์

ส่วนการส่งเสริมธุรกิจนี้ของภาครัฐ จะเห็นว่า การจัดกิจกรรมยอชต์โชว์ในแต่ละปีที่เกิดขึ้นในภูเก็ตก็เป็นสิ่งที่ดี และภาครัฐเองก็มีแผนจะส่งเสริมเรื่องนี้ แต่ยังอยู่ในกระบวนการ เช่น การเปิดให้เจ้าของเรือซูเปอร์ยอชต์ที่นำเรือเข้ามาแวะพัก สามารถปล่อยเช่าได้ ก็อยากให้มีการขับเคลื่อนต่อ เพื่อให้กฎหมายไทยอนุญาตให้ปล่อยเช่าได้ เป็นต้น รวมไปถึงภาครัฐควรมองเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการเป็นมารีน่าาฮับของไทย


| สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3449 ระหว่างวันที่ 3 - 6 มีนาคม 2562

\"โบ๊ทลากูนยอชต์ติ้ง\" ทุ่มพันล้าน ชิงโอกาส \"ไทยมารีน่าฮับ\"