ชาววานรนิวาสรวมพลังเดินเท้าคัดค้านไม่เอาเหมืองแร่โพแทช!!

11 ธ.ค. 2561 | 22:01 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2561 | 03:23 น.
600
ชาววานรนิวาสรวมพลังจัดกิจกรรม "ไทวานรก้าวเดิน" ออกเดิน 6 วัน จาก อ.วานรนิวาส สู่ตัวเมืองสกลนคร คัดค้านไม่เอาเหมืองแร่โพแทช

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายนักอนุรักษ์ กลุ่มคนรักษ์วานรนิวาส และชาวบ้านจาก 6 ตำบล อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ในพื้นที่สำรวจแร่โพแทชของเอกชนรายหนึ่ง ที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแหล่งแร่โพแทช จำนวน 12 แปลง รวมพื้นที่ 120,000 ไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล ใน อ.วานรนิวาส ได้จัดกิจกรรม "ไทวานรก้าวเดิน" ระหว่างวันที่ 10-15 ธ.ค. 2561 ใช้ระยะเวลา 6 วัน ออกเดินเท้าจาก อ.วานรนิวาส สู่ตัวเมืองสกลนคร เพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส โดยตลอดระยะเวลาในการเดินดังกล่าวจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการจัดเวทีเสวนา เวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกับชุมชน เพื่อสื่อสานถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่โพแทช


1333933

ชาวบ้านรายหนึ่งที่ร่วมเดินคัดค้านในครั้งนี้ กล่าวว่า ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการทำเหมืองแร่โพแทชในอนาคต เมื่อเอกชนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนสำรวจแร่โพแทชก็ย่อมต้องมุ่งหวังที่จะทำเหมืองแร่ในอนาคต หากมีการทำเหมืองแร่โพแทช พื้นที่ที่ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ มีน้ำท่าที่ดี ดินก็จะเค็ม น้ำจะเค็มจากเกลือ จึงออกมาร่วมเดินคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทชในครั้งนี้


1333936

กรณีการสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่ จ.สกลนคร กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงก่อนหน้านี้ ว่า ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชตามปกติทั่วไป ให้แก่ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 116,875 ไร่ สำหรับอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวมีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2558 และจะสิ้นอายุวันที่ 4 ม.ค. 2563 ซึ่งเป็นการให้สิทธิเพียงสำรวจแร่ทางธรณีวิทยา โดยการขุดหรือเจาะสำรวจในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อนำข้อมูลมาประเมินศักยภาพแหล่งแร่ ว่า มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์หรือไม่ และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนเข้าพื้นที่เพื่อทำการสำรวจ หากเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตก็จะไม่สามารถเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าวได้


บาร์ไลน์ฐาน-16

ทั้งนี้ แผนงานการสำรวจแร่จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามข้อมูลธรณีวิทยาที่สำรวจพบในภาคสนามและต้องทำการฝังกลบพร้อมกับฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังเสร็จสิ้นการสำรวจแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปชี้แจงประชาชนในพื้นที่ที่มีการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่โพแทชดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจและได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการสำรวจดังกล่าวไม่ได้เป็นสัญญาสำรวจและผลิตแร่โพแทช เนื่องจากบริษัทที่จะสามารถผลิตแร่ประกอบการเหมืองแร่ได้ เมื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องยื่นขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมือง ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผ่านความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเพื่อศึกษาข้อมูลโครงการและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และการนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนต่อไป


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก