ชง "ท่าเรือระนอง-รถไฟทางคู่" เข้า ครม. เชื่อม 'อีอีซี' สู่ประตูการค้าโลก

15 พ.ย. 2561 | 16:46 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2561 | 03:27 น.
805
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "จากอีอีซีสู่เศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ" ในงานสัมมนา Next Step Thailand : EEC ยุทธศาสตร์ไทยเชื่อมโลก จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ภายในเดือน พ.ย. นี้ หรือช้าสุดไม่เกินต้นเดือน ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะนำโครงการก่อสร้างท่าเรือระนอง โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระยอง และนครศรีธรรมราช เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ หลังจากที่ สศช. ได้จัดทำรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

619282935

โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือระนองใหม่ เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมพร-ระนอง ราว 1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงบก่อสร้างถนนเชื่อมฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน รวมถึงการจัดทำโครงการอื่น ๆ เช่น การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน การพัฒนาประมงชายฝั่ง การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมัน การพัฒนาท่าเรือระนอง การสร้างรถไฟรางคู่ชุมพร-ระนอง


1170030_46106980

ทั้งนี้ หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ได้ จะเริ่มทำการศึกษาในรายละเอียดของโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2562 และจะเริ่มดำเนินกิจกรรมพัฒนาพื้นที่ที่เป็นสีเขียวก่อน เช่น การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนก่อน การพัฒนาประมงชายฝั่ง การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชน ใช้งบไม่มาก เพราะเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงของที่มีอยู่เดิม

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและได้ลงสำรวจดูพื้นที่แล้ว เนื่องจากจะเป็นโครงการที่มาเชื่อมกับโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่จะใช้รถไฟทางคู่และท่าเรือระนองในการส่งออกสินค้าไปฝั่งอันดามัน เป็นการลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าให้สั้นลง และจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้ได้ สอดรับกับการลงทุนใน 5 โครงการสำคัญในอีอีซี เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน


05

"โครงการอีอีซีเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และถือเป็นการพัฒนานำร่องก่อนที่จะขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ"

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า หากประเทศไทยไม่มีโครงการอีอีซีในอีก 5 ปี การพัฒนาประเทศจะล้าหลังกว่าประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการลงทุนในอีอีซี จะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเงินลงทุนเป็นสำคัญ แต่จะเน้นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากกว่า เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และเป็นการสร้างฐานกำลังคนในประเทศได้


IMG_0989

อย่างกรณีโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) เป็น 1 ใน 9 แห่ง ที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของแอร์บัส ซึ่งจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัยล่าสุด เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเครื่องบินของแอร์บัสทำการบินอยู่ราว 7 พันลำ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางในการซ่อมบำรุงในภูมิภาคนี้ได้

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองพื้นที่อีอีซี ว่า สำหรับร่างผังเมืองรวมในอีอีซี คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในกลางเดือน ธ.ค. นี้ และหลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การจัดทำผังเมืองเฉพาะพื้นที่ ตามการใช้ประโยชน์ในที่ดิน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ราวกลางปี 2562 ซึ่งถือว่ามีความรวดเร็วกว่าปกติ ที่ขั้นตอนการจัดทำผังเมืองเฉพาะจะต้องใช้เวลาดำเนินการราว 2 ปีครึ่ง

โดยผังเมืองใหม่ของพื้นที่อีอีซี จะทำให้มีพื้นที่ลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายราว 3 แสนไร่ คิดเป็น 3-4% ของพื้นที่อีอีซีทั้งหมด ซึ่งจะเพียงพอที่จะรองรับการลงทุน โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม และสามารถรองรับประชากรราว 6-7 ล้านคน ที่จะเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัวได้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว