ยอดผู้ใช้โมบายแบงกิ้งเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณธุรกรรมโตเท่าตัว รับยุคดิจิตอล“ทีเอ็มบี”เล็งดึงคนออมเงินผ่านออนไลน์ ต้นเดือนธันวาคม หลังใช้ E-KYC เปิดบัญชี ME ตอบโจทย์ลูกค้า 4.0 “ไทยพาณิชย์”ระบุอยู่ระหว่างทดสอบเทคโนโลยี Biometric ผ่าน Easy E-KYC รองรับ NDID ไตรมาส 4 ปีนี้
จากไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิตอล ส่งผลให้การใช้โมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า จำนวนผู้ใช้โมบายแบงกิ้งเดือนมีนาคม 2561 รวม 34.5 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 44.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณธุรกรรมสูงถึง 179,221 ล้านรายการ เพิ่มขึ้น 125.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
[caption id="attachment_319656" align="aligncenter" width="335"]
นายเบญจรงค์[/caption]
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวทางพัฒนาระบบดิจิตอลแบงก์กิ้งของธนาคาร ขณะนี้อยู่ในกระบวนการทดลองบนแซนบ็อกซ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการแสดงพิสูจน์ตัวตน (Electronic Know Your Customer : E-KYC) มาใช้ เพื่อให้ลูกค้าสมัครเปิดบัญชี ME ได้ผ่าน E-KYC ได้ทั้งพาสปอร์ต และบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งใช้ได้กับสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ (android) ที่มีฟังก์ชัน NFC และ iOS “การใช้ E-KYC เปิดบัญชีของ ME จะทำให้คนทั้งประเทศสามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารได้ง่ายขึ้นโดยทำได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสาขาเพื่อยืนยันตัวตน และปลอดภัยมากกว่า 3 ชั้น ตั้งแต่ การตรวจสอบข้อมูลว่า ออกโดยกรมการกงสุลก่อนจะสแกนใบหน้าอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีใหม่ HD Face Liveness Detection เพื่อเปรียบเทียบภาพถ่าย และตรวจสอบข้อมูลจากบัตรประชาชนแบบ real-time เพื่อทราบถึงสถานะปัจจุบันเจ้าของข้อมูล โดยคาดว่าจะใช้ได้ในต้นเดือนธันวาคมนี้”
ทั้งนี้ ระบบ E-KYC ของ ME by TMB เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้ง่าย และมีความต่อเนื่อง โดยขั้นตอนเปิดบัญชีแบบ E-KYC จะใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น ลดขั้นตอนยืนยันตัวตนของลูกค้า สามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างภาครัฐ เอกชน และลดต้นทุนธนาคารสามารถแปลงคืนต้นทุนเป็นผลตอบแทนดอกเบี้ยที่สูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไปได้ถึง 4.5 เท่า โดยเฉพาะบัญชีที่มียอดเงินฝากเพิ่มจะได้รับดอกเบี้ยพิเศษอีก 30 สตางค์ เป็นอัตรา 1.7%ต่อปี ซึ่ง ME คาดหวังให้คนหันมาออมเงินเพิ่มขึ้น จึงออกแบบให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทุกอย่างบนแพลตฟอร์มดิจิตอล โดยเลือกเปิดบัญชี ME ทางออนไลน์คาดว่า จะมีลูกค้า 25% ของเป้าหมายลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการใช้เทคโนโลยีหรือคุ้นเคยกับการใช้โมบายแบงก์กิ้งแล้ว จากฐานลูกค้าปัจจุบัน 3.4 แสนบัญชี
นอกจากพัฒนา E-KYC เพื่อเปิดบัญชีแล้ว ธนาคารยังมีแผนจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาทดแทนการให้บริการอื่นๆ เช่น บริหารจัดการข้อมูลส่วนตัวหรือขยายการทำธุรกรรมผ่านช่องทางต่างๆในมุมกว้าง เพื่อตอบสนองความสะดวกลดต้นทุนของลูกค้าและธนาคารโดยเฉพาะแนวโน้มที่ธปท.อนุญาตทุกสถาบันให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตอล (National Digital ID หรือ NDID) ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตอลไปแล้ว คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเห็นภาพ NDID ชัดขึ้น
“ระบบ NDID จะปลดล็อกข้อจำกัดของการใช้ Digital Banking ซึ่งหัวใจ NDID ลูกค้าที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารหนึ่งแล้ว สามารถเปิดบัญชีกับอีกธนาคารได้โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่ เพราะเมื่อแต่ละธนาคารมีความปลอดภัยในกระบวนการยืนยันตัวตนข้ามระหว่างกันได้”
นายธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคาร ไทยพาณิชย์กล่าวว่า ธนาคารเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับระบบ NDIDโดยเริ่มทดสอบเทคโนโลยี E-KYC ในการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าด้วยไบโอเมตริก(Biometric) สำหรับผู้สมัครเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ผ่านแอพพลิเคชัน SCB EASY ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการทดสอบแซนด์บ๊อกซ์ของธปท. ซึ่งในทางปฏิบัติ ธนาคารยังไม่เน้นโปรโมต เพื่อหวังผลทางการตลาด แต่ต้องการทดสอบให้มั่นใจก่อนว่า เทคโนโลยีไบโอเมตริกที่นำมาทดลองใช้มีความแข็งแรง เพื่อรองรับ NDID เข้าใจว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะมีธนาคารหลักทยอยเข้าสู่แซนด์บ็อกซ์ตามแผนของภาครัฐได้
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ได้นำเทคโนโลยี E-KYC เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ด้วยการพิสูจน์ตัวตน
ลูกค้าผ่านแอพ SCB EASY โดยขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า (E-KYC) จะใช้บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และการสแกนใบหน้า (Facial recognition) สำหรับลูกค้าใหม่ที่ยังไม่มีบัญชีผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือไม่เคยทำธุรกรรมใดๆ กับทางธนาคารเท่านั้น ซึ่งเบื้องต้นรองรับเฉพาะโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android ที่มีเทคโนโลยีการอ่าน NFC ได้เท่านั้น โดยคาดว่า จะผลักดันให้มียอดผู้ใช้บริการ SCB EASY สิ้นปีนี้อยู่ที่ 9-10 ล้านราย
หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,402 วันที่ 20 - 22 กันยายน พ.ศ. 2561