TDRIเผยรัฐขาดดุลค่าน้ำปีละ 8 พัน-1.2 หมื่นล้าน

08 ส.ค. 2561 | 18:26 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2561 | 01:26 น.
“ทีดีอาร์ไอ” ชงรัฐเก็บภาษีน้ำเสีย แนะสร้างเขื่อนเก็บน้ำใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำเกษตรกร นอกเขต/ในเขตชลประทาน ระบุชัดเกษตรใช้น้ำฟุ่มเฟือย เพราะไม่เก็บค่าน้ำ แนะกรมชลฯ สร้างกติกาใหม่ เพื่อลดความสูญเสีย-จูงใจชาวนาลดน้ำทำนา ปลูกลำไย/อ้อยแทน ได้มูลค่าสูงกว่า

tdri5

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “การวิเคราะห์การพัฒนาโครงการชลประทานและการบริหารจัดน้ำที่เหมาะสมกับประเทศไทย และส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงสุด” เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดสรรน้ำชลประทานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงสุด เนื่องจากเห็นว่า สถานการณ์การใช้น้ำในปัจจุบันมาจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาคเกษตรซึ่งมีการใช้น้ำมากที่สุด ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ (การประปา และธุรกิจท่องเที่ยว)

โดยปริมาณการใช้น้ำลดหลั่นมากน้อยต่างกันไป ซึ่งในอนาคตทรัพยากรน้ำอาจจะไม่พอสำหรับทุกความต้องการ และปริมาณน้ำ จะมีความผันผวนสูงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทราบว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีประสิทธิภาพในการใช้น้ำเพียงใด และเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร
tdri

“ผลจากการศึกษามูลค่าแท้จริงของน้ำในระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ 1.7-2.2 แสนล้านบาท หรือ 1.3-1.7% ของจีดีพี ราคาเงาของน้ำ 1.24-1.68 ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งการใช้น้ำชลประทานในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจต่ำสุด โดยเฉพาะการทำนาปรัง ส่วนการใช้น้ำปลูกพืชอื่น หรือใช้นอกภาคเกษตร ให้มูลค่าส่วนเพิ่มผลผลิตสูงกว่าข้าว มูลค่าเพิ่มจากการใช้ทำนา/อ้อย ต่ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและฝั่งตะวันตกต่ำกว่าภาคกลาง (ฝั่งขวาของเจ้าพระยา ทั้งนี้ไม่ว่าจะวัดด้วยดัชนี VMP (มูลค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำเพิ่ม 1 หน่วย) หรือดัชนีรอยเท้าน้ำ (water footprint intensity) ข้าวนาปรังทั้งหมดเพื่อส่งออกเท่ากับไทยอุดหนุนค่าน้ำให้ผู้บริโภคต่างประเทศ “

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า หากจูงใจให้ชาวนาลดการใช้น้ำทำนาได้ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร แล้วนำไปปลูกลำไย/อ้อย จะได้มูลค่าสูงกว่าข้าว 165-1,298 บาท หากนำน้ำที่ประหยัดไปใช้นอกภาคเกษตรจะเกิดรายได้สุทธิเพิ่ม 5 หมื่นบาท/1 พันลูกบากศ์เมตร ส่วนการผันน้ำจากภาคที่มีน้ำส่วนเกิน (ลุ่มเจ้าพระยา) สู่ภาคที่ขาดแคลน (อ่างเก็บน้ำบางพระ) เพื่อผลิตน้ำประปา จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.11%
tdri1 “โอกาสขาดแคลนน้ำไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี ใน 15 ปี คิดเป็น 20%-26.7% หรือสูงกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หากสามารถลดการใช้น้ำในภาคเกษตร 1-3% โดยความร่วมมือของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ลดการใช้น้ำประปาในกรุงเทพฯ และภาคนอกเกษตรโดยปรับค่าชลประทานให้สะท้อนต้นทุนน้ำ ภาวะการณ์ขาดแคลนน้ำจะบรรเทาลงมาก ความจำเป็นในการลงทุนขยายแหล่งน้ำใหม่จะลดลงมาก ดังนั้นรัฐควรจะมีงบประมาณไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เสียเปรียบคนในเขตชลประทาน”

สำหรับการบริหารเชิงนโยบายมี 3 ประการ ได้แก่ 1.โครงการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำในอนาคตต้องคำนวณประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากน้ำที่ใช้นอกภาคเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำประปา สำหรับครัวเรือน และประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรม-ภาคบริการ ประโยชน์ต่อการขยายพื้นที่การเกษตรเป็นผลพลอยได้ ถ้าเช่นนั้นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ต้องสามารถสนองความต้องการน้ำที่หลากหลาย ซับซ้อนขึ้น และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ใช่โครงการชลประทานเพื่อทำนาแบบในอดีต
tdri2 2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพ/มูลค่าทางเศรษฐกิจของการใช้น้ำจะสัมฤทธิ์ผลจำเป็นต้องยกระดับความสำคัญของนโยบายการจัดการอุปสงค์ต่อน้ำให้ทัดเทียมนโยบายพัฒนาแหล่งน้ำ มีนโยบายราคาน้ำที่เหมาะสมและภาษีน้ำเสีย ต้องสร้างกติกา ความเข้มแข็งขององค์กรผู้ใช้น้ำ ให้มีส่วนร่วมจัดการน้ำกับคณะกรรมการระดับชาติ กลุ่ม/คณะกรรมการลุ่มน้ำเก็บค่าน้ำชลประทานเป็นรายได้ของกลุ่มเพื่อบำรุงรักษาระบบชลประทานในพื้นที่ และที่สำคัญเงินค่าชลประทานควรนำมาใช้ในการปรับปรุงระบบชลประทาน ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีเงินเหลือไปพัฒนาแหล่งน้ำนอกระบบชลประทาน เพื่อความเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรนอกเขตชลประทาน และ 3.ให้ความสำคัญกับนโยบายฟื้นฟูระบบชลประทาน เพื่ดลดความสูญเสียน้ำในระบบชลประทาน

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ทำไมต้องวิจัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ส่งผลต่อจีดีพีสูงสุด เพราะน้ำชลประทานต้องลงทุนและบำรุงรักษาด้วยงบประมาณมหาศาล รวมทั้งการเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านจำนวนมาก ทำให้เขาสูญเสียทรัพย์สินและรายได้ การใข้น้ำควรก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากับต้นทุน และความสูญเสียดังกล่าว แต่ปัจจุบันการใช้น้ำในหลายๆ กิจการเป็นการใช้อย่างสิ้นเปลือง ไม่คุ้มค่า ยิ่งกว่านั้น ความต้องการใช้น้ำในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองต่างๆ ทั่วโลก

tdri3

เพราะฉะนั้นการวิจัยจากมุมมองทางเศรษฐกิจ จะช่วยยกระดับความสำคัญของการตัดสินใจของรัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทาน ให้ทัดเทียมกับการตัดสินใจลงทุนด้านถนน /ไฟฟ้า โดยการพิจารณาผลลัพธ์ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อให้ใช้น้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งสมมติว่ามีตลาดซื้อขายน้ำ ที่เป็นตลาดแข่งขัน แต่ในกรณีของน้ำ ชลประทาน ไทยยังไม่มีตลาดซื้อขาย เพราะกฎหมายแพ่งพาณิชย์กำหนดให้น้ำเป็นสมบัติสาธารณะ ดังนั้นน้ำเพื่อการเกษตรจึงเป็นของฟรี ไม่มีราคา (ยกเว้นเกษตรกรบางคนที่ต้องเสียค่าเชื้อเพลิงในการสูบน้ำจากคลองชลประทานเข้าสู่ไร่นาของตน)

ผลที่ตามมาคือ เกษตรกรต้นน้ำจะใช้น้ำฟุ่มเฟือย จนหลายครั้งไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับเกษตรกรท้ายน้ำ แม้แต่การนำน้ำชลประทานไปผลิตเป็นน้ำประปา ผู้ใช้น้ำประปาก็มิได้จ่ายเงินค่าน้ำดิบตามมูลค่าของต้นทุน(ส่วนเพิ่ม) ของน้ำชลประทานที่นำมาผลิตน้ำประปา ก็คือรัฐขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก อย่างน้อยปีละ 8พัน-1.27 หมื่นล้าน เพราะหากเก็บจะมีเงินมาบำรุงรักษาคูคลองชลประทานได้ ที่สำคัญการอุดหนุนการใช้น้ำให้แก่เกษตรกรในเขตชลประทาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ยังก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรนอกเขตชลประทานทั้งประเทศ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว