ดึง "ซีพี-ไทยเบฟ" ร่วมค้ายาง กยท.ดอดเจรจาลับหลังปิดดีลบริษัทร่วมทุน 5 เสือ

07 พ.ค. 2561 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2561 | 18:42 น.
ดึง ค้ายางสะเทือนรักษาการผู้ว่าการยางฯดอดเจรจาลับเปิดดีลใหม่ ดึง ซีพี- เบียร์ช้าง ร่วมลงทุน
"ฉัตรเฉลิม" ประกาศยุติบริษัทร่วมทุน เร่งเคลียร์ปิดบัญชีเกษตรฯ ดึงกว่า 30 ประเทศผู้นำเข้าเน้นยุโรป-อเมริกาใต้ เจราจาซื้อยางไทยผ่านสถาบันเกษตรกร 17- 19 พ.ค. นี้ แก้ราคาชาวสวนขายต่ำกว่าทุน

จากที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เปิดประเด็น สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ( สยยท.) ฝากการบ้านถึงนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในสัดส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ที่ขยับขึ้นมาควบตำแหน่งรักษาการผู้การการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)คนใหม่ ให้ผนึกซีพี-เบียร์ช้าง ลงทุนร่วมซื้อยางพาราแข่งขัน 5 ผู้ค้ารายใหญ่ ไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 ที่ผ่านมานั้น

[caption id="attachment_279530" align="aligncenter" width="503"] เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์[/caption]

ล่าสุด รายงานข่าวจากกยท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาเวลาประมาณ 15.00 น. นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่า กยท. ได้มาเปิดห้องเจรจาลับที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยพบกับที่ปรึกษาเครือซีพี, และที่ปรึกษาบริษัทเทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ในเครือไทยเบฟเวอเรจฯ หรือเบียร์ช้าง ซึ่งทั้งสองบริษัทได้ดำเนินการธุรกิจยางพาราอยู่แล้ว มองว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากที่ประชุมบอร์ด (วันที่ 18 เม.ย.61) ที่ผ่านมา ที่มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการการ กยท. ได้มีมติเห็นชอบที่จะยุติบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด กับ 5 บริษัทผู้ค้ายางรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน)(บมจ.), บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด (บจก.), บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี, บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) และบจก.เซาท์แลนด์ รับเบอร์ รวมเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท เฉลี่ยบริษัทละ 200 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ถือหุ้น 3 บริษัทยังชำระค่าหุ้นยังไม่ครบ (กราฟิกประกอบ)
25658548 ทั้งนี้ผลการดำเนินงานมีการซื้อขายยางพาราผ่านตลาดซื้อขายจริง โดยเริ่มประมูลตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2560 ปริมาณยางที่ประมูลทั้งหมด จำนวน 1.16 หมื่นตัน ปริมาณยางขายไปแล้ว จำนวน 2,232 ตัน ปริมาณยางคงเหลือ จำนวน 9,368 ตัน ราคาซื้อเฉลี่ย 56.91-61.19 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่ราคายางพารา กยท.รายงาน วันที่ 23 เมษายน 2561 ราคายางแผ่นดิบตลาดกลางยางพารา จังหวัดสงขลา 47.78 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 49.77 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด ณ โรงงานอยู่ที่ 45.50 บาทต่อกิโลกรัม

[caption id="attachment_279532" align="aligncenter" width="503"] กฤษฎา บุญราช กฤษฎา บุญราช[/caption]

แหล่งข่าว กยท.กล่าวอีกว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้ กยท. จัดงาน "โครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ณ พื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย" ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2561 เน้นคู้ค้ารายใหม่กว่า 30 ประเทศทั่วโลก
แถบยุโรปและอเมริกาใต้กับสถาบันเกษตรกร

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่า กยท. กล่าวว่าขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่รวบรวมมาตรการต่างๆ ที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้เพื่อสรุปว่าการดำเนินการก้าวหน้าอย่างไร และมีอุปสรรคอย่างไรบ้าง จะเดินต่อ จะทบทวนหรือจะยุติ ค่อยว่ากันไป เช่นเดียวกับการยุติบริษัทร่วมทุนยางพารา กับ 5 เสือ ที่เป็นไปไม่ได้ก็ต้องหยุด ไม่ดันทุรัง แล้วค่อยหาทางใหม่ต่อไป ส่วนมาตรการที่จะออกในสัปดาห์นี้จะมีแนวทางที่จะแก้ไขราคายางตกต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืน พร้อมกล่าวว่า "ผมเชื่อมั่น ว่าผมทำได้ ไม่เช่นนั้นผมไม่มา จะทำเต็มที่ เชื่อว่ามาตรการที่ออกมาจะดีต่อทั้งชาวสวนยางและอุตสาหกรรมยางโดยรวม แต่สุดท้ายแล้วจะต้องขายยางให้คุ้มต้นทุนชาวสวนยางให้ได้"

[caption id="attachment_279535" align="aligncenter" width="503"] อุทัย สอนหลักทรัพย์ อุทัย สอนหลักทรัพย์[/caption]

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธาน สยยท.กล่าวสั้นๆ ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเครือซีพี หรือเบียร์ช้าง บริษัทใดก็ได้ที่เข้ามาบริหารอย่างมืออาชีพด้านการตลาด ส่วน กยท.ก็ทำหน้าที่แค่รวบรวมวัตถุดิบจากสถาบันเกษตรกรเพื่อส่งมอบ ให้ซื้อขายออนไลน์ในตลาดซื้อขายจริง โดยสัดส่วนการลงทุน กยท. 51% ส่วนอีก 49% จะใช้ระดมทุนแบบตลาดหุ้นก็ได้ เพราะถ้าทำได้เชื่อว่าจะทำให้ราคายางพารามีสเถียรภาพดีขึ้น
......................
เชกชั่นการค้า-การลงทุน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,360 ระหว่างวันที่ 26 -28 เมษายน 2561
e-book-1-503x62