'นิพิฐ' ยื่น ปธ.รัฐสภา กล่าวหา 'สุภา' ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

01 ก.พ. 2561 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2561 | 21:50 น.
1432

‘นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา’ ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา กล่าวหา ‘สุภา ปิยะจิตติ’ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เอื้อให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นผิด และไม่นำสืบข้อเท็จจริงคดีรับสินบน


 

[caption id="attachment_255217" align="aligncenter" width="497"] นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา[/caption]


นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ยื่นหนังสือต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานรัฐสภา กล่าวหา น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช. ว่า จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 หมวด 4 ว่าด้วยการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. ในข้อหาหรือฐานความผิด ดังนี้
1.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 90, 91

2.กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 46 (2) (3) (5), มาตรา 120 และมาตรา 125

3.ฝ่าฝืนระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้าราชการ และลูกจ้างสำนักงาน ป.ป.ช.

 

[caption id="attachment_255219" align="aligncenter" width="503"] น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช.[/caption]

โดยระบุถึงพฤติการณ์ความผิด ว่า น.ส.สุภา และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เดินทางไปสอบพยานที่ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับ นางรสยา เธียรวรรณ ผู้ถูกกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ในคดีอาญา ว่า เกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับคดีทุจริตปาล์มน้ำมัน ประเทศอินโดนีเซีย และถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมากถึง 5 คดี

นางรสยา มีพฤติกรรมติดสินบนพยาน โดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 ได้นำส่งถุงสินบนมอบให้กับ นายบูลฮันนุดดิน ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ PT.KPI และเป็นพยานปากสำคัญ เพื่อให้พยานให้ถ้อยคำบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นผลร้ายต่อนายนิพิฐ ก่อนเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ซึ่งนำโดย น.ส.สุภา ผู้รับผิดชอบสำนวนและหัวหน้าคณะเดินทางไปสอบข้อเท็จจริงจากพยาน เข้าสอบสวนนายบูลฮัน ในวันที่ 7 ส.ค. 2560 ซึ่งระยะเวลาห่างจากวันที่ส่งมอบถุงสินบน ก่อนสอบปากคำ 2 วัน ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560 นางรสยาได้เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย ด้วยสายการบินเที่ยวเดียวกัน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.

นอกจากนี้ ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.สุภา หลายฉบับ ให้สอบสวนนางรสยาและผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีสินบน แต่ปรากฏว่า น.ส.สุภา ได้ละเว้นไม่ดำเนินการสอบสวนแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีพิจารณาเพียงคำชี้แจงของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวม 21 ประเด็นแล้ว ไม่พบความผิด ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ขณะที่ น.ส.สุภา ไม่ได้สอบพยานด้วยตนเอง อีกทั้งยังบิดเบือนคำให้การพยาน โดยมุ่งเป้าไปที่ตนเองและบุคคลภายนอกผู้บริสุทธิ์

ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า น.ส.สุภา ได้เดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย แต่ไม่ได้สอบนายบูลฮันนุดดินด้วยตนเอง ในการสอบพยานมีการแต่งเติมข้อความหรือประโยคนอกเหนือไปจากคำให้การของนายบูลฮัน เพื่อใส่ร้ายปรักปรำตนเองและผู้บริสุทธิ์อันเป็นการช่วยเหลือ กลุ่มนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร, นางรสยา กับพวก นายบูลฮันจึงไม่ยอมลงลายมือชื่อใด ๆ แต่ ป.ป.ช. กลับให้ข่าวยืนยันผ่านสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560 ว่า น.ส.สุภา บินไปสอบปากคำด้วยตนเอง สอบเสร็จนายบูลฮันยอมลงนามแต่โดยดี ซึ่งการให้ข่าวดังกล่าวขัดแย้งกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

การกระทำดังกล่าวส่อให้เห็นถึงพฤติกรรมและเจตนาของ น.ส.สุภา และคณะ ป.ป.ช. ที่เดินทางไปสอบพยานที่ประเทศอินโดนีเซีย ว่า มีความพยายามใส่ร้ายป้ายสีตนเอง และมีความพยายามช่วยเหลือกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่อย่างชัดเจน และไม่อาจแปลความหรือตีความเป็นอย่างอื่นไปได้ และยังมีพฤติกรรมช่วยเหลือนายไพรินทร์, นางรสยา กับพวก

ดังนั้น จึงขอยืนยันว่า หลักฐานที่ยื่นต่อประธานรัฐสภา เป็นหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย และจะได้ยื่นต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางต่อไป


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว