ด่วน ครม.ไฟเขียวเคาะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.–นายกเมืองพัทยา

08 มี.ค. 2565 | 13:02 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2565 | 22:05 น.
4.7 k

ที่ประชุมครม.ไฟเขียวให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทั้ง เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามขั้นตอนต่อไป

วันที่ 8 มี.ค. 65 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. และเลือกตั้งนายกฯเมืองพัทยา

 

โดยครม.เห็นชอบให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ กำหนดให้มีการเลือกตั้งพร้อมกัน วันที่ 29 พ.ค. 2565   โดยมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปกำหนดวันดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป 

 

ปฏิทินเลือกตั้งผู้ว่ากทม.-นายกเมืองพัทยา

  • 31 มี.ค. 2565 วันที่กกต.ดำเนินการประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.-นายกเมืองพัทยา ตามมาตรา 142  
  • 11-15 เม.ย. 2565   รับสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่ากทม.-นายกเมืองพัทยา
  • 29 พ.ค. 2565 เลือกตั้งผู้ว่ากทม.-นายกเมืองพัทยา
  • ประกาศผลการเลือกตั้ง ภายในวันที่ 28 ก.ค. 2565 หรือ 60  วันหลังจากวันเลือกตั้ง

 

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยอมรับว่า ในการประชุมครม.วันนี้ จะหารือถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนายกเมืองพัทยา หลังจาก กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอเรื่องนี้มายังครม. แล้ว

 

ส่วนจะเป็นวันที่ 29 พ.ค.2565 หรือไม่นั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขอให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการประกาศและกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป

 

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นั้น พบว่า มีความคึกคักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังจากมีการเปิดรายชื่อผู้ที่เตรียมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.แล้วหลายคน

ล่าสุด “นิด้าโพล” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ยังได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 1,313 หน่วยตัวอย่าง ในช่วงระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 2 มี.ค.2565 เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 11” พบว่า

  • อันดับ 1 ร้อยละ 38.01 ระบุว่า เป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
  • อันดับ 2 ร้อยละ 13.40 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ 
  • อันดับ 3 ร้อยละ 11.73 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 
  • อันดับ 4 ร้อยละ 8.83 ระบุว่าเป็น ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) 
  • อันดับ 5 ร้อยละ 8.61 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) 
  • อันดับ 6 ร้อยละ 5.56 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) 
  • อันดับ 7 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย 
  • อันดับ 8 ร้อยละ 3.73 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล 
  • อันดับ 9 ร้อยละ 1.83 ระบุว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 
  • อันดับ 10 ร้อยละ 1.29 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรค พลังประชารัฐ 
  • ส่วนอีกร้อยละ 2.74 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครจากพรรคกล้า ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี และดร.ประยูร ครองยศ (พรรคไทยศรีวิไลย์)