คุก 8 เดือน ไม่รอลงอาญา "สนธิญาณ" คดี กปปส. ขัดขวางเลือกตั้ง

20 ต.ค. 2564 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 19:45 น.
10.0 k

ศาลอุทธรณ์พิพากษา กลับคุก 8 เดือน "สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม" คดีชุมนุม กปปส. เหตุร่วมกับ “สำราญ รอดเพชร” ปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง ร.ร.สุโขทัย ส่วน “สกลธี-สมบัติ-เสรี” ยกฟ้อง

20 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1191/2557, อ.1298/2557, อ.1328/2557 พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 4 อดีตแกนนำ กปปส. ได้แก่ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. (ปัจจุบันเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.), นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 70 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า (ปัจจุบันเป็นอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์)

และนายเสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด (ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหารศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤติ) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ จากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557

โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายสนธิญาณ (จำเลยที่ 1) กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ 

กรณีร่วมกับนายสำราญ รอดเพชร ขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ โรงเรียนสุโขทัย เขตดุสิต พิพากษาให้จำคุก 1 ปี อย่างไรก็ดีคำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญา 

ส่วนจำเลยที 2-4 โจทก์ไม่ได้ร่วมนำสืบว่าได้ร่วมพยานหลักฐานไปขัดขวางการเลือกตั้ง อีกทั้งไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2-4 ร่วมขัดขวางการเลือกตั้ง 

ส่วนอุทธรณ์โจทก์ข้ออื่นไม่เป็นสาระสำคัญ ที่เเก้เฉพาะจำเลยที่ 1 นอกนั้นให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผลจากคำพิพากษาดังกล่าวทำให้นายสนธิญาณ ถูกจำคุก 8 เดือน ส่วนนายสกลธี นายสมบัติ และนายเสรี เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคือยกฟ้อง

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่าเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน จำเลยที่ 1-4 เดินทางมาศาล โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. (ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคร่วมพลังประชาชาชาติไทย) พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ มาให้กำลังใจด้วย

นายสุเทพ เปิดเผยตอนหนึ่งว่า คดีกบฏในส่วนของตนนั้น เตรียมจะยื่นอุทธรณ์ในเดือน พ.ย. 2564

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1-4 กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ , อั้งยี่ , ซ่องโจร ,มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ , เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล

ร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 , 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง , ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มา ซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76 ,152 รวม 8 ข้อหา

คดีดังกล่าวเป็นสำนวนแรกที่อัยการยื่นฟ้อง ตั้งแต่ปี 2557 กรณีสืบเนื่องจากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส.ที่มีนายสุเทพ เป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 – 1 พ.ค. 2557 มีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง โดยท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วยมีกำหนด 5 ปี

ขณะที่จำเลยทั้ง 4 รายให้การปฏิเสธทุกข้อหาพร้อมตั้งทนายความสู้คดี ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยทั้งสี่ก็ได้รับการปล่อยชั่วคราว คดีเริ่มสืบพยานตั้งแต่ปี 2558-2562

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 พิพากษายกฟ้องโดยพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลย นำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่อัยการโจทก์นำสืบมารับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1-4 ได้เข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. แต่ไม่ได้เป็นแกนนำที่สั่งการผู้ชุมนุมหรือขึ้นปราศรัยสั่งการให้กระทำการรุนแรง 

โดยการชุมนุมของ กปปส. ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้ว ในคำวินิจฉัยที่ 59/2556 ว่าการชุมนุมของกปปส. มาจากการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 63 ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุที่คัดค้านการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-4 ได้กระทำความผิดตามฟ้องทั้ง 8 ข้อหา จึงพิพากษายกฟ้อง