เคาะ “คิงเพาเวอร์” ได้สัมปทาน “ดิวตี้ฟรี”ดอนเมือง 10 ปี 6 เดือน

22 มิ.ย. 2564 | 15:32 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2564 | 11:30 น.
5.4 k

รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เคาะ “คิงเพาเวอร์" ได้สัมปทาน “ดิวตี้ฟรี” หรือร้านค้าปลอดภาษี ที่ดอนเมืองเป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน

บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับสิทธิ์ประกอบกิจการร้านค้าปลอดภาษี หรือ ดิวตี้ฟรี้ ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) เป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2576

โดยเรื่องนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 22 มิ.ย.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่องร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ซึ่งอนุมัติให้ บริษัท การบินไทย เป็นผู้ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดภาษีท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ถูกต้อง เหมาะสมและไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน

กระทรวงคมนาคมได้รายงานว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะว่า ให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ทบทวนมติ ครม.ดังกล่าว หากไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วให้ดำเนินการยกเลิก

นอกจากนี้ ทอท.แจ้งว่า ได้ประกาศเชิญชวนคัดเลือกผู้ประกอบการจำหน่ายร้านค้าปลอดภาษี ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม-8 พฤศจิกายน 2562 เพื่อหาผู้ประกอบการรายใหม่ต่อจากบริษัทคิงเพาเวอร์ ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทาน 30 ก.ย.65

ซึ่งมีผู้สนใจซื้อซองประมูลจำนวน 2 ราย แต่มีผู้มายื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ที่ประชุมจึงได้มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว โดยให้บริษัทคิงพาวเวอร์ได้รับสิทธิ์ประกอบกิจการระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2576

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับมติครม.ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้ 

ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่อง ร้านค้าปลอดภาษี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่อง ร้านค้าปลอดภาษี ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัท การบินไทย จำกัด* (บกท.) เป็นผู้ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดภาษี ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ เพื่อให้การคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างภาครัฐและประชาชน รวมทั้งสอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบันและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

*บริษัท การบินไทย จำกัด เปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 และใช้ชื่อว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกินกว่าร้อยละ 50

สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงคมนาคม รายงานว่า
 

1. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่อง ร้านค้าปลอดภาษี หากเห็นว่าไม่สอดคล้อง ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ทอท. กับ บกท. ให้เสนอเรื่องต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอยกเลิกต่อไป

2. ทอท. แจ้งว่า
     2.1 การประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ภายในท่าอากาศยาน ต่าง ๆ มีลักษณะเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 จนกระทั่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ซึ่งส่งผลให้มี

     1) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 19 เมษายน 2559 และ

     2) กฎกระทรวงกำหนดเพิ่มมูลค่าของโครงการที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้โครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าห้าพันล้านบาทที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกเอกชนเพื่อการอนุญาต การให้สัมปทาน การให้สิทธิ หรือการให้ประโยชน์ในกิจการของรัฐไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวโดยอนุโลม

     2.2 ปัจจุบันได้มีการตราพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2562 รวมทั้งได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ได้มีการกำหนดกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการท่าอากาศยาน จำนวน 12 กิจการ แต่ไม่รวมถึงกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free)

ดังนั้น ทอท. จึงได้ถือปฏิบัติสำหรับการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานต่าง ๆ โดยเป็นไปตาม 1) ระเบียบ ทอท. ว่าด้วยการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ 2) ข้อกำหนด ทอท. ว่าด้วยวิธีดำเนินการคัดเลือกเพื่อให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2561 ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐฯ ลงวันที่ 19 เมษายน 2559 และกฎกระทรวงกำหนดเพิ่มมูลค่าของโครงการฯ พ.ศ. 2559 ที่ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

     2.3 ทอท. ได้ออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2562 เพื่อหาผู้ประกอบกิจการรายใหม่ต่อจากผู้ประกอบกิจการรายเดิม (กลุ่มคิงเพาเวอร์) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยมีผู้สนใจซื้อเอกสาร จำนวน 2 ราย แต่มีผู้มายื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว ได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 15/2562 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมมีมติอนุมัติผลการคัดเลือกการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เรียบร้อยแล้ว โดยให้ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2576

     2.4 การดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ดังกล่าว เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ซึ่งส่งผลให้ ทอท. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด รวมทั้งสอดคล้องกับบทบาทและแนวทางการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมืองตามที่กำหนดไว้ สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 ที่อนุมัติให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (ชื่อในขณะนั้น) เป็นผู้ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องเปิดประมูลทั่วไปมีความไม่เหมาะสมกับการดำเนินงานในปัจจุบัน

รวมทั้งไม่สอดคล้องกับบทบาทและแนวทางการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมือง เนื่องจาก บกท. ไม่ได้รับอนุญาตจาก ทอท. ให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2550 และปัจจุบันได้ย้ายเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2552 อย่างไรก็ตาม หาก บกท. ประสงค์ที่จะประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ก็สามารถยื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของ ทอท. ได้ โดยต้องถือปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 44/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 ด้วย

3. บกท. พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทเอกชนตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :