อันตรายจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา

05 ก.ย. 2565 | 05:30 น.
2.0 k

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ช่วงเช้าเกิดอาการวิปริตจากสภาพอากาศแปรป่วนอย่างหนัก ฝนตกกระหน่ำแรงมาก ในตัวผมเองช่วงที่ฝนตกหนักนั้น ผมอยู่ที่บ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” เพื่อรอต้อนรับคณาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น (慶應義塾大学  Keio University) ซึ่งนำคณะเข้ามาเยี่ยมชมกิจการของผม
 

ในระหว่างที่กำลังเจรจากันอยู่นั้น ได้มีโทรศัพท์เข้ามาจากกรุงย่างกุ้ง ผมจึงบอกไปว่า อีกสองชั่วโมงจะโทรกลับ น้องเขาก็บอกว่าขอเวลานิดเดียว คืออยากจะแจ้งว่าขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดตกรุนแรงมาก เหลือเพียง 4,300 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ทำเอาผมแทบจะหงายหลังตกเก้าอี้เลยครับ
 

ถามซ้ำว่าพูดใหม่อีกทีสิ! น้องเขาก็ย้ำคำเดิม และถามต่อว่า “จะทำอย่างไรดี? เพราะตอนนี้หนูงงไปหมดค่ะ” ผมเลยบอกเขาว่าให้ใจเย็นๆ ขอเวลาผมส่งแขกกลับแล้วจะรีบโทรกลับ หลังจากวางหูโทรศัพท์แล้ว ผมแทบจะทำอะไรไม่ถูก พูดภาษาอังกฤษเพื่อพรีเซนต์งาน ก็พูดผิดพูดถูกตลอดเวลาครับ

 

งานนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะก่อนเกิดการระบาดของเจ้าวายร้าย COVID-19 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1,340-1,350 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ แต่พอในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 ทหารออกมาทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฎฐาฎิปัตย์ก็ประกาศให้ธนาคารทุกแห่งหยุดดำเนินธุรกิจ พอวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2020 ได้อนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ ประชาชนและกลุ่มต่อต้านก็แห่กันไปถอนเงิน ทำให้ค่าเงินไหลตกไปอยู่ที่ประมาณ 1,600-1,800 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ
 

แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล รัฐบาลก็ออกมาใช้กำลังปราบปรามการเดินขบวน ทำให้ค่าเงินก็ไหลลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือเพียงประมาณ 1,900-2,300 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ต่อจากนั้นก็ผันผวนต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการออกมาตรการบังคับให้ผู้ที่มีเงินเหรียญสหรัฐในมือ ต้องนำเงินตราดังกล่าวออกมาแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินจ๊าดภายใน 24 ชั่วโมง เงินเหรียญสหรัฐก็เริ่มแข็งค่าขึ้น
 

ในขณะที่เงินจ๊าดก็ยิ่งไหลลงไปเรื่อยๆ แต่พอเกิดการขาดแคลนเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ทางการเมียนมาก็ออกมาประกาศการระงับการชำระหนี้ระหว่างประเทศทั้งหมด ค่าเงินก็ยิ่งเอาไม่อยู่ ไหลลงมาอยู่ที่ 3,200 จ๊าดต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม การไหลลงมาของอัตราแลกเปลี่ยนแม้จะไหลลงมามาก แต่ก็ค่อยๆ ไหลลง ไม่ได้ไหลลงพรวดพราดเหมือนเมื่อวันวิปริตที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะภายในวันเดียว ค่าเงินไหลตกลงมามากถึงเกือบพันจ๊าด ก็ทำให้ช๊อคกันไปหมดทั้งประเทศเลยครับ

 

เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ช่วงบ่ายแก่ๆ หลังจากที่ส่งแขกกลับไปแล้ว ผมรีบโทรศัพท์กลับไปที่กรุงย่างกุ้ง เพื่อให้พนักงานสาม-สี่คน แยกย้ายกันโทรศัพท์ตรวจเช็คหลายๆ ช่องทางที่มีการรับแลกเงิน ซึ่งเกือบทุกช่องทาง อัตราแลกเปลี่ยนก็แตกต่างกันไม่มาก อยู่ที่ 4,300-4,600 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ แต่ทุกๆ ช่องทางล้วนปฎิเสธรับแลกเงินโดยสิ้นเชิง เพราะทุกแห่งล้วนเกรงว่าหากแลกไปแล้ว จะไม่สามารถแลกคืนกลับมาได้ จึงทำให้มีแต่ “ราคาไม่มีการซื้อ-ขาย” ผมจึงรีบสั่งการให้พนักงานทุกคน หยุดทำการขายสินค้าของทุกช่องทาง จะมีเพียงห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรดเท่านั้น ที่จะส่งสินค้าให้ แต่ให้จำกัดจำนวนโดยจัดสรรให้แต่พองามเท่านั้น
 

การล่วงหล่นของอัตราแลกเปลี่ยนครั้งนี้ อาจทำให้เกิดการล้มละลายของภาคธุรกิจภายในช่วงข้ามวันได้  เพราะถ้าหากใครนำสินค้าเข้าไปทำการค้า-ขายที่ประเทศเมียนมา แม้จะมีเครดิตหรือว่าซื้อมาด้วยเงินสดก็ตาม ล้วนแต่ต้องรับกรรมกันไปครับ ผมขออนุญาตแจกแจงให้ทราบสาเหตุพอสังเขปดังนี้ครับ
 

ในกรณีของภาคเศรษฐกิจจุลภาคหรือหน่วยธุรกิจทั่วไป ที่ซื้อมา-ขายไป โดยทั่วๆ ไปที่ทำธุรกิจกันอยู่ มักจะซื้อมาด้วยลัษณะซื้อเครดิต บ้างก็ 30 วัน บ้างก็ 60 วัน แล้วแต่ความคุ้นเคยหรือประเพณีปฎิบัติกัน แน่นอนว่าจะต้องมีช่องว่างของเวลาระหว่างการซื้อมา-ขายไป ทำให้ระยะเวลาของช่องว่างนั้น ผู้ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมด เพราะโรงงานหรือเจ้าของสินค้า เขาคงไม่มาช่วยเหลือเราแน่ ดังนั้นหากมีการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าสูงๆ ความเสียหายก็ต้องทวีคูณไปในทิศทางเดียวกันครับ
 

ส่วนคนที่เอาเงินสดไปซื้อ แล้วนำสินค้าเข้าไปขาย แน่นอนว่าทุกธุรกิจ ย่อมมีสินค้าคงเหลืออยู่ในคลังเสมอ ดังนั้นสินค้าที่ขายออกไปแล้ว ถ้าขายเป็นเงินสดก็รอดไป แต่ถ้าขายเป็นเงินเชื่อ ความเสียหายก็ย่อมมีเป็นธรรมดา แต่สินค้าที่คงคลังอยู่ในมือ ถ้ามีจำนวนมาก ก็อาจจะมีกำไรเฉพาะที่คงเหลืออยู่ในมือ แต่ทั้งสองประเภทที่กล่าวมา ต้องทำใจว่าวันนี้ขายออกไป ถ้าจะซื้อโดยนำเข้าประเทศมาอีก ก็ย่อมเตรียมตัวซื้อสินค้าที่แพงขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นไม่สามารถซื้อเข้าในราคาที่ตนเองขายออกไปในวันนี้ก็เป็นไปได้ครับ
 

ส่วนในลักษณะของเศรษฐกิจมหภาคหรือภาพรวมใหญ่ของประเทศ แน่นอนว่าผลกระทบจะรุนแรงกว่าจุลภาคหรือหน่วยธุรกิจทั่วไปเยอะเลยครับ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศ มีหลากหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตรามูลค่า อาทิเช่น 1. ดุลการชำระเงิน ซึ่งหมายรวมถึงบัญชีเงินเดินสะพัด บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
 

2. บัญชีเงินเดินสะพัด ซึ่งหมายถึงบัญชีดุลการค้าและบริการ บัญชีเงินโอน และบัญชีรายได้สุทธิจากต่างประเทศ เป็นต้น เพราะเหตุที่กล่าวมานั้น จะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยทุกประเภท แล้วก็จะส่งต่อมาที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลทั้งสองทาง ไม่ว่าจะเป็นทางบวกและทางลบ อีกทั้งเกิดผลกระทบได้ทั้งฝั่งปัจจัยที่เป็นตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม ซึ่งมันจะส่งผลไปมาทั้งขาไปและขากลับทั้งหมด ดังนั้นหากจะอธิบายให้ละเอียด คงต้องใช้เวลาอธิบายทั้งเทอมของปีการศึกษาเลยละครับ ดังนั้นคงต้องขออนุญาตที่จะพูดเพียงแค่นี้ เอาเป็นว่าผลกระทบนั้นมากมายมหาศาลเลยครับ
 

นี่คือผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ต้องบอกว่ารัฐบาลทหารเมียนมาอาจจะไม่ทันระแวดระวังกันก็เป็นไปได้  เพราะโดยทั่วไปหากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น รัฐบาลควรจะต้องรีบมีการสั่งการโดยเร่งด่วนเฉียบพลัน เขาจะไม่ปล่อยให้ค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไหลเยอะเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนครับ .....เฮ้อ...........ขออนุญาตเสียมารยาทถอนหายใจแรงๆ สักนิดนะครับ