เหตุผลแรงงานเมียนมาเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

08 ส.ค. 2565 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2565 | 13:18 น.
977

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในประเทศเมียนมา ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงดำเนินชีวิตเฉกเช่นไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมได้โทรศัทพ์ไปสอบถามเพื่อน ที่เป็นรองประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ซึ่งท่านได้เดินทางไปดำเนินธุรกิจที่นั่น ท่านเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นั่น ไม่ได้ออกไปไหนเลย จะเข้าออกเฉพาะที่ทำงานกับโรงแรมที่พักเท่านั้น จึงไม่ค่อยจะรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ มีเพียงช่วงค่ำที่ท่านข้าวกับเพื่อนพนักงาน โดยน้องๆ ที่ทำงานจะขอกลับก่อนสองทุ่มกันทุกคน ส่วนโรงแรมที่พัก(ขออนุญาตไม่บอกชื่อโรงแรมนะครับ)  ก็จะอยู่ติดกับห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่เมียนมา โดยห้างฯนี้ก็มีเรื่องราวที่มีการบุกเข้าไปจับกุมผู้เดินขบวนประท้วงรัฐบาล ในระหว่างที่มีการประท้วงที่รุนแรงอยู่ ดังนั้นเวลากลางคืนจะเงียบสงบดีมาก แต่มารู้ภายหลังว่า โรงแรมที่พักเป็นสถานที่ชาวย่างกุ้งทั่วไปเขาไม่ค่อยจะอยากไปกัน ก็ต่อเมื่อขึ้นเครื่องบินกลับมาเมืองไทยแล้วครับ

ส่วนประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะนักเรียน-นักศึกษา(หมายถึงแรงงาน) ที่กำลังหางานทำกัน ก็กำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการจะสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นหรือ JLPT กันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วงนี้จะอยู่ในช่วงของการสมัครสอบ และจะสอบกันในช่วงอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ ซึ่งที่ประเทศเมียนมา กลุ่มนักเรียน-นักศึกษาเขาจะแตกต่างจากเด็กนักเรียน-นักศึกษาไทย เพราะที่ประเทศไทยเราส่วนใหญ่จะสอบเพราะคาดหวังว่าจะเอาผลสอบที่ได้ ไปเรียนต่อยังประเทศญี่ปุ่นกัน
 

แต่ที่ประเทศเมียนมาส่วนใหญ่ เพราะเขาเอามาใช้ในการเดินทางไปสมัครงานกันครับ การสอบวัดระดับนี้ เขาจะวัดผลกันโดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ N1, N2, N3, N4, N5 โดยระดับ N1 คือระดับที่สูงที่สุด ส่วนระดับ N5 คือระดับที่ต่ำที่สุด ดังนั้นส่วนใหญ่บริษัทญี่ปุ่นเขาจะรับพนักงานที่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นอย่างน้อยก็ต้อง N4 ขึ้นไป แรงงานของเมียนมาทุกคน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นกันครับ

 

ในปัจุบันนี้ ที่ประเทศเมียนมา แรงงานส่วนใหญ่ล้วนแต่ใฝ่ฝันอยากจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศกันทั้งนั้น ถ้าผมคาดเดาผมเชื่อว่านี่คงไม่ใช่เป็นเพราะพิษของเศรษฐกิจในช่วงนี้เท่านั้นนะครับ ในช่วงก่อนหน้า COVID-19 ระบาด ก็มีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศกันเยอะมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดหมายปลายทางของแรงงาน จะเป็นประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน
 

ซึ่งงานที่เขาทำกัน ถ้าเป็นคนที่มีการศึกษาที่ดีหน่อย ก็สามารถได้งานที่ดีกว่าคนที่ด้อยการศึกษา ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ในยุคแรกๆ จะมีงานที่ขึ้นหน้าชูตา ก็เป็นงานบนเรือเดินสมุทร ไม่ว่าจะเป็นเรือสำราญหรือเรือขนส่งสินค้า ล้วนแล้วแต่ดีงานเลิศประเสริฐศรีทั้งนั้น ส่วนที่รองลงมาก็เป็นงานด้านวิศวกรรม ครูบาอาจารย์ และพยาบาล
 

ส่วนงานในโรงงาน งานด้านบริการ หรืองานเป็นแม่บ้าน จะเป็นงานที่ต่ำต้อยที่สุด ดังนั้นจึงมีคำหนึ่งที่เขาชอบเปรียบเปรยกันเล่นๆว่า “Hugh Educational Low experience can go to Japan and Korean, Low Educational and experience just can be a labor” คงไม่ต้องบอกนะครับว่าแล้วเป็น Labor ที่ประเทศไหนกัน

 

ส่วนงานที่ในวันนี้ชาวแรงงานเมียนมา โดยเฉพาะสาวๆ ที่เขาอยากจะไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นกัน คืองานด้านบริบาลผู้สูงอายุครับ เหตุเพราะว่าปัจุบันนี้แรงงานด้านนี้ประเทศญี่ปุ่นขาดแคลนอย่างมาก เราจะเห็นว่ามีบริษัทญี่ปุ่นหลายราย เข้ามาหาแรงงานด้านนี้ที่ประเทศไทยเราด้วย แต่ก็ได้คนไม่เพียงพอต่อความต้องการ
 

และอีกประการหนึ่งแรงงานเมียนมาเป็นแรงงานที่อึดกว่าแรงงานไทยมาก การเรียนรู้เขาก็มีความมานะอดทนมากกว่าแรงงานของเรา อาจจะเป็นเพราะแรงงานเมียนมามีพื้นฐานที่มาจากครอบครัวที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ผิดกับเด็กไทยเรา ที่ประเทศไทยเราถึงอย่างไรก็ไม่มีปัญหาในการดำรงชีวิต ดังนั้นการดิ้นรนเอาตัวรอดของแรงงานประเทศเขา จึงมีน้ำอดน้ำทนมากกว่าแรงงานไทยเรามาก

 

อีกเหตุผลหนึ่งของแรงงานเมียนมา ที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตในการดิ้นรนมากกว่าแรงงานไทยเรา เป็นเพราะแรงงานเมียนมาส่วนใหญ่ นอกจากครอบครัวที่ลำบากแล้ว สถานการณ์บ้านเมืองหรือสถานะทางสังคมอาจจะเหลื่อมล้ำกันมาก ทำให้เขาต้องสู้เพื่อความอยู่ดีกินดีครับ
 

แรงงานของไทยเราไม่ต้องดิ้นรนมากมายเหมือนเขา ดังนั้นการอดทนทำงานจึงไม่ได้เป็นเป้าหมายของแรงงานไทย ส่วนใหญ่แรงงานไทยเรา ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก็เสมือนได้ไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ และยังได้เที่ยวอีกด้วย ดังนั้นพอไปทำงานต่างประเทศได้สัก 2-3 ปี ก็อยากที่จะกลับบ้านแล้ว หรือบางคนพอมีเงินพอกลับมาตั้งตัวได้หน่อย ก็เรียกร้องขอกลับบ้านแล้วครับ ต่างจากแรงงานเมียนมา ที่พอได้มีงานทำก็ไม่อยากกลับบ้าน เพราะถ้ากลับมาบ้าน ก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ดังนั้นจึงอยู่ยาวครับ

 

ในส่วนของนายจ้าง ถ้าหากมีลูกจ้างที่ยอมสมัครใจทำงานยาวๆไปหลายๆปี ย่อมมีความพึงพอใจมากกว่าลูกจ้างที่ทำงานได้ 2-3 ปีแล้วก็อยากกลับบ้าน ยิ่งถ้ารู้ว่าลูกจ้างกลับไปบ้านแล้วจะไม่ยอมกลับมาอีก เขาก็ยิ่งไม่ชอบ เพราะกว่าจะสร้างแรงงานให้รู้งานและมีความเชี่ยวชาญได้ ต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่าสองปี แต่พอเชี่ยวชาญแล้วก็กลับบ้านซะแล้ว คงไม่มีนายจ้างที่ไหนเขาต้องการหรอกครับ ดังนั้นแรงงานเมียนมาจึงเป็นที่ต้องการจากนายจ้างต่างประเทศกันครับ