“บิ๊ก มท.”เลิกเสียที ..คุณพ่อรู้ดี..

11 ม.ค. 2566 | 13:50 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2566 | 23:32 น.
603

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

***หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3852 ระหว่างวันที่12-14 มกราคม 2566 โดย...กาแฟขม
 

*** ข่าวเข้มข้นร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี เมื่อมีการนำเสนอความคาวของนักการเมือง อดีตผู้มีตำแหน่งระดับ “รองนายกรัฐมนตรี” ไปกระทำเสื่อมเสียในทางจริยธรรมยุ่งกับครอบครัวชาวบ้านเขา ปัญหาต้องดูระหว่างเข้าไปยุ่งเขายังมีสถานะครอบครัวเดียวกันอยู่ ยังไม่หย่าร้างแยกขาดจากกัน อันนี้ก็ดูยุ่งพอสมควร การเมือง การมุ้งพันกันยุ่งเหยิงไปหมด คนเป็นนักการเมืองต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตัวตน หรือ มาตรฐานทางจริยธรรมที่ต้องเหนือกว่าชาวบ้านเขา
 

*** ไม่เฉพาะการเมืองแต่ราชการก็ยุ่งเหยิงไม่น้อย เมื่อคนระดับปลัดกระทรวงมหาดไทย คุมอำนาจบาตรใหญ่ พูดโดยไม่ไตร่ตรอง ในทำนองดูถูกดูแคลนลูกน้องเขา จบสถาบันการศึกษาที่ไหน ก่อนหัวเราะทำนองเยาะเย้ย สะท้อนตัวตนผู้ถืออำนาจนิยม ตามสไตล์กระทรวงนี้ สะท้อนวัฒนธรรมความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ตัวตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความเห็นต่าง หรือ ใครแสดงความเห็นต่าง มักจะถูกต่อว่าถากถางเช่นนี้ แล้วอย่างนี้จะมีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ฟังกันและตัดสินใจได้ถูกต้องอย่างไร กลับไปย้อนดูเถิดการทำงานของกระทรวงนี้มิใช่หรือ ที่ถ่วงการพัฒนาประเทศ เพราะยึดติดกับประเพณีวัฒนธรรมความเป็น “นาย” แบบเก่าที่ไม่เสื่อมคลายนี่แหล่ะ ประเทศจึงเดินไม่ถึงไหน
 

*** กระทรวงนี้มิใช่หรือ ที่เขียนรายงานประเภทชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน แต่กลับไปแจกเมล็ดพันธุ์ผัก ที่ชาวบ้านไม่มีที่ทำเล้าไก่ แต่ไปแจกแม่ไก่ให้ฟักไข่ ลองนึกภาพดูเขาจะเอาเมล็ดพันธุ์ เอาแม่ไก่ไปฟักไข่ที่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ช่วยตอบหน่อยเถอะ ตอบโจทย์ชาวบ้านเขาอย่างไร ไม่ใช่แจกส่งรายงานความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) แล้ววัด KPI ผ่านประเมินทำได้ดี อย่างนี้เขาเรียกสักแต่ว่าได้แจก โลกไปไกลถึงขั้นข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ที่พูดกันมาก กระทรวงนี้ก็มีมากที่สุดบิ๊กดาต้าอย่างที่ว่า นำมาวิเคราะห์และแก้ปัญหาให้ตรงจุดกันได้แล้ว อย่าท่องจำและทำซ้ำๆ แจกเมล็ดพันธุ์ผักอย่างเดียวเถิดฯ พระเดช พระคุณฯ
 

*** ปี่กลองการเมืองเชิดแล้วเชิดอีก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเปิดตัวผู้รับเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรครวมไทยสร้างชาติ พูด “mission และทิศทางก้าวต่อไปเพื่อคนไทยทั้งชาติ” คอการเมืองจับตาไม่กะพริบ ที่จับตาไม่ใช่เรื่องที่พูดและเรื่องที่จะทำ เพราะคงเห็นกันมาหมดแล้ว แต่จับตาว่าจะมีส.ส.เดินตามนายกฯ หรือ พลังนายกฯ จะดูดส.ส.เดินตามมาได้มากน้อยเพียงใด ประเมินนาทีนี้นายกฯ ขาลงจะเข็นเข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างไร มีการเช็กชื่อระดับส.ส.อดีตส.ส.เกรด A ที่ว่าแน่ ยังนับจำนวนไม่ครบ 25 คน ที่เพียงพอในการเสนอชื่อเป็นนายกฯ เลย เอายังไงดี
 

*** เรื่องนี้ดีจริงต้องขยาย รู้ไหม ชาวนาขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ด้วยเหตุที่ว่าโลกร้อน ทุกประเทศมีเป้าหมาย ลดภาวะก๊าซเรือนกระจกลง ปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดว่างั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนา มีบริษัท Spiro Carbon สัญชาติอเมริกัน เข้าดำเนินการคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนา ให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ในราคาดี
 

โดยแพลตฟอร์มของบริษัทนี้ จะรับซื้อจากเกษตรกรโดยให้ราคาต่อตันคาร์บอนเทียบเท่าละ 400 บาท เงื่อนไขให้ชาวนาต้องปล่อยนํ้าในการทำนาให้แห้ง 2 ครั้ง บริษัทใช้เทคโนโลยีจานดาวเทียมเฉพาะ ตรวจสอบพื้นที่ที่ได้ลงทะเบียนตรวจจับพืชผลที่มีแสงแตกต่างกันออกไป พร้อมแสดงข้อมูลพิสูจน์ ที่นามีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจริงไหม และลดก๊าซมีเทนไปได้ในปริมาณเท่าใดเบื้องต้นนาข้าว 1 ไร่ จะมีการปล่อยคาร์บอนออกมาประมาณ 2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
 

                            “บิ๊ก มท.”เลิกเสียที ..คุณพ่อรู้ดี..

*** ขยายอีกนิดวิธีการทำจัดการนํ้าแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ปรับให้พื้นที่สมํ่าเสมอ และปลูกข้าว ถ้าปลูกด้วยวิธีการหว่าน หลังหว่านข้าวให้ระบายนํ้าให้แห้ง เพื่อให้เมล็ดข้าวงอกสมํ่าเสมอ แล้วพ่นสารคุม-ฆ่าวัชพืชหลังหว่านข้าว 10 วัน และเอานํ้าเข้าแปลงหลังพ่นสารภายใน 2 วัน ประมาณครึ่งต้นข้าว รักษาระดับนํ้าไว้จนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยรองพื้น ข้าวโตมาหน่อยอายุ 20-25 วัน ให้ใส่ปุ๋ยรองพื้น แล้วปล่อยนํ้าในนาให้แห้งไปโดยธรรมชาติจนนํ้าอยู่ที่ระดับ 15 เซนติเมตรใต้ผิวดิน สูบนํ้าเข้าแปลงจนระดับนํ้าสูง 5 เซนติเมตรเหนือผิวดินแล้วปล่อยนํ้าให้แห้งไปตามธรรมชาติ ทำสลับกันไป รักษาระดับนํ้าในแปลงให้อยู่ที่ 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน จนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 10 วัน จึงปล่อยให้แปลงแห้งเพื่อให้ข้าวสุก ชาวนา ที่ อ.เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เขาขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว 2 ราย มีรายได้ประมาณกว่า 8,000 บาทต่อราย (รายละ 10 ไร่) ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 9,000 ไร่