‘ลุงตู่’หงอ พรรคร่วมรัฐบาล

06 ต.ค. 2564 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2564 | 18:42 น.

‘ลุงตู่’หงอ พรรคร่วมรัฐบาล : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,720 หน้า 12 วันที่ 7 - 9 ตุลาคม 2564

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เซ็นคำสั่งสํานักนายกรัฐมนตรีที่ 217/2564 เรื่อง ยกเลิกคําสั่งมอบหมายและมอบอํานาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี 

ตามที่ได้มีคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรีที่ 254/ 2564 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งมอบหมายและมอบอํานาจ ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 28 กันยายน 2564 นั้น 

เพื่อให้การกํากับการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นไปอย่างบูรณาการ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอํานาจ พ.ศ. 2550 

จึงให้ยกเลิกคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรีที่ 254/2564 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคําสั่ง มอบหมายและมอบอํานาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 28 กันยายน 2564 และให้นําความในคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 238/2563 เรื่องมอบหมาย และมอบอํานาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 มาใช้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปสั่ง ณ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

 

คืน 4 กรมเกษตรฯให้ปชป.

ก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกคำสั่งนี้ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 นายกรัฐมนตรี ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้รับทราบคำสั่ง มอบหมายงาน ให้ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ เคยดูแลทั้ง 4 กรม ในกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย กรมพัฒนาที่ดิน, กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 

ท่ามกลางความไม่พอใจของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สะท้อนออกมาในกลุ่มไลน์ของส.ส. และอดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 160 คน

ทั้งมีการแสดงความคิดเห็นกันว่า การมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร ดูแลงานแทน นายจุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โดยไม่ได้บอกกล่าว หรือปรึกษาหารือก่อน จนมีคำถามว่าเป็นคำสั่งที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และที่ยอมกันไม่ได้ในพรรคประชาธิปัตย์คือ มองว่า “เป็นการเสียมารยาททางการเมืองอย่างรุนแรง” 

นายจุรินทร์ เองยังออกมาให้สัมภาษณ์ส่งสัญญาณความไม่พอใจไปยังนายกฯ และพรรคพลังประชารัฐว่า เห็นใจพรรคพลังประชารัฐที่ต้องแก้ปัญหาภายในพรรค ก็ให้กำลังใจมาตลอด

 

‘ลุงตู่’หงอ พรรคร่วมรัฐบาล

 

 

“แต่การแก้ปัญหาควรยุติภายในและควรแก้ปัญหาเฉพาะในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ควรกระทบถึงพรรคการเมืองอื่น เพราะแทนที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ อาจจะกลายเป็นแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งโดยไม่จำเป็น” นายจุรินทร์ กล่าวและว่า นายกฯ ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว  

“พรรคประชาธิปัตย์ให้เกียรตินายกรัฐมนตรีในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลและให้เกียรติทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาล เพราะเราเข้าใจดีถึงวัฒนธรรมของพรรคการเมืองในการทำงานร่วมกัน ในรูปแบบรัฐสภาและรัฐบาลผสม ดังนั้นให้นายกฯ เป็นผู้คลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น” นายจุรินทร์ ระบุ 

 

ไม่ถูกใจใครแต่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายกฯเซ็นคำสั่งคืนงาน 4 กรมในกระทรวงเกษตรฯ กลับมาให้ นายจุรินทร์ กำกับดูแลเหมือนเดิม 

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมที่เคยมีคำสั่งให้รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร เข้ามาดูกรมพัฒนาที่ดิน, กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)

“อาจจะไม่ถูกใจใคร แต่ต้องถือว่านายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการให้การบริหารราชการแผ่นดินกลับมาอยู่บนพื้นฐานของหลักความถูกต้องต่อไป” นายราเมศ ระบุ

ย้อนไปก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์ เคยแสดงความไม่พอใจ“นายกฯ” มาแล้วครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งงานให้รัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 นายกฯออกคำสั่งมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีของพรรค ปชป. นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดิมดูแล จังหวัดพิษณุโลก ให้ดูแลภาคอีสาน  

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เดิมดูแล จังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ดูแล จังหวัดเลย หนองบัวลำภู และให้พรรคภูมิใจไทย ดูแล สุราษฎร์ธานีแทน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เดิมดูแล สงขลานครราชสีมาให้ดูแล สตูล พัทลุงและให้ ร.อ.ธรรมนัส ดูแล สงขลานครศรีธรรมราชภูเก็ต ส่วนคุณหญิงกัลยา โสภณพานิชแต่เดิมได้ดูแลจังหวัดราชบุรีก็ถูกตัดจังหวัดราชบุรีออกไป  

คำสั่งดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ “ประชาธิปัตย์” อย่างมากเพราะรัฐมนตรีของพรรคได้ไปดูแลพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ของตัวเอง แล้วโยกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐไปดูแลแทน 

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการขยายฐานเสียง เพื่อหวังผลทางการเมือง และเป็นการเอาเปรียบทางการเมือง ...แม้ต่อมาคำสั่งดังกล่าวจะถูกยกเลิก แต่ยังเป็นปมร้าวในใจพรรคประชาธิปัตย์เรื่อยมา

ย้อนไปอีกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ครม.มีมติเห็นชอบให้ พล.อ. ประวิตร ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติแทน นายจุรินทร์ แม้ “บิ๊กป้อม” ยืนยันไม่มีความขัดแย้งกับ นายจุรินทร์พร้อมอ้างว่าตนเคยดูมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ที่ทำให้ประมงปลดใบเหลืองจนได้ใบเขียว นายกฯ จึงอยากให้ตนเปลี่ยนมาดูแลประมงต่อ ...แต่มติดังกล่าวก็สร้างความคาใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์เรื่อยมา

นอกจาก “ประชาธิปัตย์” ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจคำสั่งของ“นายกฯ” จนต้องมีการ “กลับลำ” เปลี่ยนแปลงคำสั่งแล้ว 

กับพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคคือ “ภูมิใจไทย” ทางนายกฯ ก็เคยออกอาการ “หงอ” มาแล้วเช่นกัน

 

หงอภูมิใจไทย

โดยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 มติคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน ได้มีมติให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบ“วอล์คอิน” จนมีประชาชนบางส่วน ไปขอรับบริการฉีดวัคซีนด้วยการวอล์คอิน Walk-in 

ต่อมา นายอนุทินออกมาบอกว่าการฉีดวัคซีนแบบวอล์คจะเริ่มได้ในวันที่ 1 มิถุนายน ในเวลาต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาบอกไม่เห็น ด้วยกับการวอล์คอิน เพราะกลัวว่าหากประชาชนเข้าไปรวมตัวในจุดเดียวเพื่อรอรับวัคซีนจะทำให้เกิดความชุลมุนได้ 

ภายหลังนายกฯ ออกมาระบุดังกล่าวทำให้ “พลพรรคภูมิใจไทย” ออกมาถล่มนายกฯ โดยเฉพาะ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทองและโฆษกพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่า “หมอพร้อม” ประชาชนจะติดโควิด-19 กันหมด หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ครบ 50 ล้านคน ก็ต้องหาวิธีอื่นมาอำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วย เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้การฉีดวัคซีนกลาย เป็นเรื่องเข้าถึงยาก

แต่สุดท้ายการ “วอล์คอิน” ฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อก็ดำเนินต่อไป

ไปดูอีกเรื่องกรณี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ในการประชุม ครม.ได้มีการเสนอแก้ไขมติ ครม.และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี อันสืบเนื่องจาก มติ ครม.ในวันที่ 17 ส.ค. 2564 ในเรื่องการจัดซื้อ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด วงเงิน 1,014 ล้านบาท ที่ให้จัดหาชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)” แต้มีการปรับปรุงใหม่ให้เป็นข้อความว่า “ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ขอให้ สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็วหากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบันขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”

กรณีการจัดหาชุดตรวจ ATK ดังกล่าวทาง “ชมรมแพทย์ชนบท” ออกมาเรียกร้องและสนับสนุนให้รัฐบาลจัดหาโดยต้องผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ที่มี นายอนุทิน เป็นเจ้ากระทรวง ต้องการแบบไม่ต้องผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก

สรุปสุดท้าย “นายกฯ” ก็เมินข้อเรียกร้องของ “ชมรมแพทย์ชนบท” หันไปเห็นคล้อยกับ สธ. 

ขณะที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 1 มิ.ย. 2564 ที่บรรดาส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้รุมถล่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ โดยต่างแสดงความไม่พอใจที่มีการ “หั่นงบ” ใน 2 กระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยบริหารอยู่ คือ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ถึงขนาดที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี ออกมาระบุว่า “หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ”

ภายหลังเกิดการอภิปรายงบประมาณที่ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ไม่พอใจอย่างหนัก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาระบุว่า ได้ทำความเข้าใจกับนายอนุทิน​ ​​ ในฐานะหัวหน้าพรรค​ภูมิใจ​ไทย​เรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการพูดคุยกันในครม.แล้วถึงการจัดทำงบประมาณปี 2565 หลายเรื่องมีงบประมาณทดแทนในส่วนอื่นเรียบร้อยแล้ว

รูปการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ประชา ธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” บ่งบอกอาการว่า “บิ๊กตู่” หงอพรรคร่วม รัฐบาล...