แด่ความรู้สึกตัว

20 ก.ค. 2566 | 03:30 น.

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ แด่ความรู้สึกตัว โดย ราชรามัญ

ความเป็นจริงแล้วองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่เขาไปอย่างรู้ในทุกสรรพสิ่งของธรรมชาติ คำว่าสรรพสิ่งในที่นี้รวมทั้งเรื่องของบนฟ้า เรื่องของจักรวาลด้วย และนอกจากนี้ยังทรงรู้เรื่องของภพภูมิต่างๆ ที่สิ่งมีชีวิตเข้าไปเกาะเกี่ยวเป็นแดนเกิดมากมาย จนยากเกินกว่าสมองมนุษย์ธรรมดาจะเข้าใจ เข้าถึงและเรียนรู้ได้

ความเป็นอัจฉริยะของมนุษย์มีหลายระดับ แต่สิ่งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้นั้นไม่น่าจะใช่อัจฉริยะ แต่ควรจะต้องเรียกว่าสัพพัญญู เพราะเป็นการรู้ที่ยิ่งใหญ่ และการรู้ที่ยิ่งใหญ่นั้นสามารถทำให้มนุษย์มีความสุขในการใช้ชีวิตได้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า มีความทุกข์น้อยลงตามลำดับถึงที่สุดก็หมดสิ้นแห่งความทุกข์ทั้งปวง

ธรรมชาติที่พระองค์ทรงรู้นั้น รู้ทั้งต้นเหตุและรู้ทั้งผลลัพธ์ ตลอดทั้งรู้ถึงวิธีจะทำให้หมดทุกข์

เราหลายคนต่างคุ้นชินกับวิธีการเรียกว่า นั่งภาวนาสมาธิ เพราะเชื่อว่าเป็นการบ่มเพาะจิตวิญญาณให้เกิดภาวะการตื่นรู้ได้

แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราเรียนรู้หลักธรรมในหมวดสติปัฏฐาน 4 เราจะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงเน้นให้การมีสติ

ตามหลักแห่งความเป็นจริงการมีสติได้และอยู่กับปัจจุบันได้อย่างมีความสุข เพราะว่าเรามีความรู้สึกตัว คำว่าความรู้สึกตัวในที่นี้หมายถึง เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เรารู้สึกอะไรอยู่ ถ้ารู้ว่าสิ่งที่เราทำและรู้สึกนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ เราก็ควรที่จะระงับในความรู้และความรู้สึกนั้นเสีย

ดังนั้น ความรู้สึกตัวจึงเป็นธรรมะ แล้วก็เป็นธรรมชาติที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้น

เรื่องของความรู้สึกตัวจะเกิดขึ้นได้นั้นก็คือการมีสติอยู่กับตัวนั่นเอง คนเราจะมีสติอยู่กับตัวได้ก็เพราะเราไม่ไปคิดถึงอดีตมากเกินไป และไม่ไปคิดถึงอนาคตมากเกินไป จึงทำให้เรามีความทุกข์น้อยลง เพราะการอยู่กับปัจจุบันขณะด้วยความรู้สึกตัวนั่นเอง

หลวงพ่อเทียนแห่งวัดสนามในนนทบุรีพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านก็ได้ฝึกสมาธิในการเจริญสติแบบสติปัฏฐาน 4 เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแต่ใช้อุบายในการฝึกแบบยกมือ 14 จังหวะ ซึ่งการฝึกในลักษณะนี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกตัวได้อย่างชัดเจน โดยแยกออกว่าสิ่งใดคือความคิด สิ่งใดคือการคิดแบบปรุงแต่ง และสิ่งใดคือความรู้สึกตัว

เมื่อเรามีความรู้สึกตัวล้วนๆ สภาวะแห่งสติก็จะอยู่กับตัวเราตลอดเวลา สิ่งใดที่เราคิดและเป็นทุกข์มันจะถูกตัดออกไปเองโดยธรรมชาติ สิ่งใดที่ปรุงแต่งและทำให้เป็นทุกข์ก็จะถูกตัดไปเช่นเดียวกัน

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ควรเรียนรู้คือการฝึกปฏิบัติให้เข้าถึงความรู้สึกตัวและอยู่ในปัจจุบันขณะให้มาก

หนังสือเล่มหนึ่งของหลวงพ่อเทียนชื่อแด่ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ การเจริญสติ โดยนำเอาผลลัพธ์ของการปฏิบัติมาชี้ให้เห็นว่าทำให้ความทุกข์น้อยลงได้จริง

การเคลื่อนไหวตัวช้าๆ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็สามารถทำให้เราเกิดสติ และความรู้สึกตัวได้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าความทุกข์จะค่อยๆ น้อยลง โดยเริ่มจากค่อยๆ ปรุงแต่งน้อยลงเป็นลำดับ จนเกิดความว่างแต่เป็นความว่างที่อยู่กับปัจจุบัน สิ่งใดเข้ามากระทบก็รับรู้ได้ทันเพราะมีสตินั่นเอง

วิธีการนี้เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งไม่ได้เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ ไม่ได้เกี่ยวกับความพิสดารใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเนื้อแท้แล้ว ธรรมะก็คือธรรมชาติทั้งปวงนั่นเอง