พระบารมีปรีชาสยบคดีแย่งธาตุ (ตอนจบ)

29 เม.ย. 2566 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 19:16 น.

พระบารมีปรีชาสยบคดีแย่งธาตุ (ตอนจบ) คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

(ต่อจากตอน2) 

‘ตอนบ่ายวันนั้น เมื่อถึงกำหนดได้เวลา ๑๔.๐๐ น.ล้นเกล้า ฯ ทั้งสองเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิง เสร็จแล้วเสด็จกลับขึ้นประทับบนพลับพลา’
มีพระราชปฏิสันถารว่า
 
“ศพเจ้าคุณนั้น มีผู้ให้ความเห็นสองอย่าง คืออย่างหนึ่งให้เก็บไว้ อีกอย่างหนึ่งก็คือเผา แต่ฉันเห็นว่า การเก็บไว้นั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย”
 
ผมก็กราบบังคมทูลว่า 
 
“ถ้าเก็บไว้โดยมากก็เพื่อหาผลประโยชน์” 
 
ในหลวงรับสั่งว่า “ผู้ที่ไม่หาประโยชน์ก็มี หวังจะเก็บไว้บูชากราบไหว้จริง ๆ แต่ก็มีทั้งผลดีและไม่ดี ส่วนการเผานั้นมีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ เราเก็บอัฐิรวมไว้แห่งเดียวกันเหมือนเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่”

ผมจึงกราบบังคมทูลว่า 
 
“อังคารนั้น......” ยังไม่ทันจบประโยค ก็ทรงรับสั่งทันทีว่า “อังคารก็เก็บรวมไว้ด้วยกับอัฐิ ไม่แบ่งแยก เก็บรวมไว้ให้ผู้เคารพนับถือกราบใหว้ การแบ่งแยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปนั้นผู้นำไปเก็บไว้บางราย ก็ทำให้เกิดบาป ไม่เป็นกุศล สู้เก็บรวบรวมไว้แห่งเดียว และสร้างอนุสาวรีย์ไว้เคารพกราบไหว้ไม่ได้”
 
เมื่อทรงรับสั่งเช่นนั้น ผมก็หมดห่วง หายวิตกในเรื่องอัฐิและอังคาร เพราะล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ทรงคุ้มครองทั้งสิ้น มิฉะนั้นผมก็คงยุ่งยากใจ แก้ปัญหาของผู้ที่อยากได้ทั้งหลายที่มุ่งหมายไว้แต่เริ่มต้น’

สักครู่ใหญ่ ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ ‘เมื่อเห็นเวลาสมควร เจ้าหน้าที่เคลื่อนศพกำลังจะเข้าสู่เตาเผาจริง พนักงานได้รับพระราชเสาวนีย์ว่า สมเด็จฯจะเสด็จกลับมาพระราชทานเพลิงเผาจริงด้วยพระองค์เอง (นอกหมายกำหนดการ) ขอให้รอไว้ก่อน’
 
เสด็จประทับอยู่หน้าพลับพลา ทอดพระเนตรจนไฟมอดลงแล้วจึงมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำพิธีบังสุกุลบนจิตกาธาน (ตามธรรมดาสามัญเรียกว่าบังสุกุลกองฟอน) ซึ่งตามหมายกำหนดการไม่มี เห็นจะเป็นด้วยว่าสมเด็จ ฯ ทรงเป็นห่วงกลัวอัฐิของท่านเจ้าคุณพี่จะกระจัดกระจาย จึงรีบเสด็จมาทรงควบคุมอย่างใกล้ชิด
 
ทรงปรารภกับพี่เลื่อนว่า ได้กลิ่นหอมเหมือนกลิ่นร่ำอยู่ตลอดเวลา ใครได้กลิ่นบ้างไหม พี่เลื่อนก็กราบบังคมทูลตามความรู้สึก ทรงรับสั่งอยู่นานจึงเสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
 
‘ในคืนนั้น ทางการได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้ความอารักขาอัฐิและอังคาร ผลัดเปลี่ยนกันตระเวนทั้งรอบนอกและรอบใน มีตำรวจถึง ๔ หน่วย มีโรงพักพลับพลาไชย และพระราชวัง กองปราบ และสอบสวนกลางโดยมีหน่วยบัญชาการอยู่ในบริเวณสุสาน มีข่าวจากนายตำรวจว่า เกรงจะมีผู้คอยแย่งอัฐิ เพราะมีคนให้ราคาแต่ละชิ้นสูงมาก จึงต้องระวังอย่างกวดขัน’ จึงได้ขอแรงเพื่อน ๆ มาคอยเฝ้าระวังสัก ๗-๘ คน


 
ก่อนเวลา ๔ ทุ่ม เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังซึ่งมีหน้าที่แปรรูปอัฐิให้เรียบร้อย ยังไม่ทันจะจัดการอย่างใดลงไป ก็พอดีมีโทรศัพท์มาจากในวังว่า สมเด็จ ฯ มีพระราชเสาวนีย์ไม่ให้แตะต้องอัฐิ ให้ทุกคนออกจากห้องเตาเผา และใส่กุญแจให้เรียบร้อย ให้เฝ้าอยู่แต่ภายนอก ย่ำรุ่งจะให้คุณพูนเพิ่มมาควบคุมการแปรรูป ได้ถามพนักงานพระราชวังผู้จะทำการแปรรูปผู้นั้น ก็ได้ความว่า ไม่มีหน้าที่โดยตรง มีหน้าที่กั้นพระกลด สมเด็จ ฯ มีพระราชเสาวนีย์ให้มาทำงานนี้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ(คงเปนด้วยใน) ฐานเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย’
 
‘การกำหนดพิธีสามหาบในตอนเช้านั้น หมายเดิม พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เสด็จแทนพระองค์ แต่ตอนดึกมีโทรศัพท์มาว่า สมเด็จ ฯ เสด็จมาด้วยพระองค์เอง เช้ามืด คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ก็ได้มาจัดการควบคุมการแปรรูปอย่างใกลัชิต เก็บอัฐิและอังคารไม่ยอมให้หลงเหลือไปในที่ใด ทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน แม้ผ้าขาวคลุมกองอัฐิและอังคารก็มีให้เอาไปที่อื่นพ้นสายตาเกรงว่าผงละอองของอังคารและอัฐิจะติดไปด้วย’
 
‘เมื่อถึงเวลาทำโมงเช้า สมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถก็เสด็จมาถึง ทรงพิจารณาดูความเรียบร้อยแล้ว ทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองลงบนกองอัฐิและอังคาร (ได้ทราบว่าปกติใช้กับเจ้านายชั้นสูง) นับว่าเจ้าคุณพี่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานเกียรติอันสูงยิ่ง เวลานั้นผมรู้สึก ตื้นตันใจที่สุดในชีวิต เมื่อเห็นองค์สมเด็จฯทรงเก็บอัฐิด้วยพระหัตถ์จุ่มลงสรงในขันน้ำอบ แล้วทรงหย่อนลงในโกศรูปเจดีย์สำหรับใส่อัฐิ ผงอัฐิและอังคารนอนกันอยู่ในขัน ก็ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์เขี่ยผงปันๆ ปาดลงในโกศจนแน่พระทัยว่าสะอาดแล้ว มิได้ทรงรังเกียจ แม้แต่หลังจากนั้นก็มิได้ทรงล้างพระหัตถ์เพียงแต่เช็ดพระหัตถ์เท่านั้น’
 
‘ตอนเปิดผ้าขาวคลุมอัฐิ พนักงานผู้หนึ่งได้นำผ้าขาวไปทางเตาเผา คุณพูนเพิ่มต้องวิ่งไปนำเอากลับมาและดุว่าบอกแล้วไม่ให้เอาออกไปจากที่นี่ ให้รวมกันใส่ไว้ในเจดีย์’
 
‘สมเด็จ ฯ เสด็จประทับทอดพระเนตร จนเจ้าพนักงานจัดการเรียบร้อยแล้วโปรดให้ผนึกครั่งตามรอยฝาครอบใต้เจดีย์โดยรอบ แล้วมีพระราชเสาวนีย์ ให้ผู้เชิญเจดีย์โลหะบรรจุอัฐิเดินบนลาดพระบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลดกั้นเจดีย์โลหะบรรจุอัฐิโดยใช้กลดสำหรับกันพระองค์ นำเสด็จพระราชดำเนินเชิญไปตั้งบนพลับพลา มีรับสั่งให้ข้าราชบริพารฝ่ายในและญาติเข้าไปคารวะ


 
‘เสร็จแล้วทรงโปรดให้เจ้าหน้าที่ไปนิมนต์ท่านเจ้าคุณอุดม ฯ ขึ้นไปเฝ้าบนพลับพลา รับสั่งว่า “ใครได้กลิ่นหอมเหมือนแป้งร่ำบ้าง” ทรงได้กลิ่นแต่วานนี้ตลอดมาเมื่อประทับอยู่ในวังก็ยังได้กลิ่น บัดนี้ก็ยังได้กลิ่น ยังหอมตลอดเวลา’
 
‘แล้วทรงโปรดให้เชิญเจดีย์โลหะบรรจุอัฐิ และอังคารเดินขึ้นบนลาดพระบาท ไปขึ้นรถยนต์ นำไปเก็บฝากไว้ที่กุฏิท่านเจ้าอาวาส’
 
‘โปรดเกล้าฯให้คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เป็นผู้นำจัดตู้มาใส่เจดีย์โลหะอีกชั้นหนึ่ง และได้จัดตำรวจมาเฝ้ากลางวันหนึ่งนายและกลางคืนสองนาย เพื่อรอเวลาจะสร้างอนุสาวรีย์ต่อไป’
 
ดังนี้ทั้งหมดคือพระบารมีปรีชาโดยแท้สยบเหตุจะเกิดการแย่งอรหันตธาตุได้ สมควรได้บันทึกไว้กลับมาเรื่องมกุฎพันธนะเจดีย์ ท่านที่ไม่อยากเดินทางไปอุตตรประเทศ เมืองอินเดีย จะด้วยกลัวโรคาความสกปรกแร้นแค้นก็ดี หรือกลัวโรคทรัพย์จางกระเป๋าสตางค์ฉีกก็ดี บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณนั้นได้กระทำจำลองสถานที่เอาไว้ให้ท่านแล้วที่ พระแท่นดงรัง เรานี้ที่ท่ามะกา
 
พระแท่นดงรังเกี่ยวอะไร กับ มกุฎพันธนะเจดีย์? คือว่าพระแท่นดงรังนี้ลักษณะเปนหินแท่นธรรมชาติท่านกำหนดเอาว่าเปนแท่นที่พักพระบรมศพพระผู้มีพระภาคเจ้าเอาไว้  ส่วนหลังพระเปนเนินเขาย่อมๆขึ้นไปจำลองมกุฎพันธนะเจตีย์ เปนระยะพอดีกับที่กุสินาราไม่ขาดเกิน สรวมเเทนกันได้โดยเหมาะ


 
ที่นี้จะกล่าวถึงพระบรมรูปสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ประดิษฐานอยู่นอกประเทศโดยได้รับพระบรมราชานุญาตก่อนเสด็จสวรรคต มีอยู่ที่ ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งยามเช้าหมอกลงสวยงามยิ่งนัก ทางวัดมีมูลนิธิจัดที่อยู่ที่กินเปนระเบียบเรียบร้อยสะอาดสัปปายะสำหรับผู้แสวงบุญ ทำเลตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางของสาลวโนทยาน(สถานที่ที่เสด็จปรินิพพาน) กับมกุฎพันธเจดีย์(สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ในเขตจังหวัดกุศินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑๔ ไร่เศษ โดยพุทธบริษัทชาวไทยร่วมใจกันสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา เป็นการเฉลิมพระเกียรติการครองสิริราชสมบัติครบ ๕o ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในดินแดนพุทธภูมิ ได้รับพระราชทานชื่อวัด และพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์ประทานในพระอุโบสถว่า พระพุทธสยัมภูญาณ รับพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ภาพทรงผนวช, ฉัตร๓ ชั้น, ภาพพระมหาชนก, ภาพพระราชกรณียกิจ, ตราสัญลักษณ์ครองราชย์ ๕๐ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. เพื่อประดิษฐานไว้ที่หน้าบันของพระอุโบสถ
 
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมมหาสังฆปริณายกเวลานั้น เสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธียกช่อฟ้า ตัดลูกนิมิตในวันที่ผูกพัทธสีมาตามพระบรมพุทธานุญาต มีศาสนสถานตามแบบของวัดในพระพุทธศาสนา คือ พระอุโบสถ พระมหาเจดีย์ ศาลารับเสด็จ อาคารเฉลิมพระเกียรติ หอสวดมนต์ โรงเรียน สถานพยาบาล ธรรมศาลาที่พักผู้แสวงบุญ หอฉัน กุฎีสงฆ์ หอพระไตรปิฎก ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ครบถ้วน มีศาสนกิจหลักคือการเผยแผ่พุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิ ดูแลชาวพุทธไทยและชาวพุทธนานาชาติผู้เดินทางไปแสวงบุญและการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตไทย สายประเทศอินเดีย-เนปาล ตามมติมหาเถรสมาคม

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,883 วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566