กินข้าวกับไก่ป่า : อ๊อ เหม่ เดอ ชอ หมี่

01 เม.ย. 2566 | 16:03 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 20:11 น.

กินข้าวกับไก่ป่า : อ๊อ เหม่ เดอ ชอ หมี่ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

วานซืนนี้แวะหาท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในแถวโครงการหลวง เหนือขึ้นไปบนดงดอยทิวเขาสลับซับซ้อนของเชียงใหม่จะไปเชียงราย
 
ณ ที่นั้น ท่านทั้งหลายพยายามทำความเข้าใจในวิถีชีวิตร่ายป่าราวดอยของปวงหมู่เขาซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘คน’- ปกาเกอะญอ คนมนุษยชนผู้มีจารีตอิสระอันผูกพันเเน่นแฟ้นกับธรรมชาติ อยู่ป่าหากินพัฒนาภูมิรู้แห่งตนจนเกิดกลายเปนภูมิปัญญา_Wisdom
 
ท่านผู้มีวิถีอนุรักษ์และพยายามสืบสานเพื่อความยั่งยืนเหล่านี้ ชวนให้กินซึ่งข้าวไร่ข้าวดอยหุงมาหอมหวลอวลไอ สีตำโดยซ้อมมือออกมาเปนข้าวกล้องนวลตาเมล็ดเต่งตึง ยวงเมล็ดนั้นติดทั้งจมูกสวยงามน่ากินอุดมวิตามิน พลางแนะนำว่า นี่แน่ะ ข้าวไก่ป่า !

ในความพิศวงงงงวยแห่งรสชาตินั้น ข้าวไก่ป่า เปนข้าวป้อมเนื้อเหนียวร่วนทว่าเม็ดเรียวสวยอย่างข้าวเจ้า กินอร่อยกินมันหนักหนา ว่ากันว่า ปกาเกอะญอเฒ่าผู้หนึ่งออกไปล่าไก่ป่าติดแร้ว ได้มาแล้วถอนขนลนไฟจะทำกิน ล้วงควักเอาเครื่องในไก่ออกใช้งานให้คุ้มค่าชีวิตสัตว์โลกถูกปลดปลงปรากฏว่า พ่อเฒ่าเจอเข้าซึ่งเมล็ดข้าวสีสุกสวยงามประหลาดในกระเพาะไก่ป่า
 
ด้วยวิถีประดารัตตัญญูผู้ผ่านกาลเวลามานาน ปกาฯผู้เฒ่าย่อมแลเห็นคุณค่าแห่งธรรมชาติประทานขุมทรัพย์โภคพันธุ์ธัญญาหารมาปรากฏตรงหน้า ประจงหาทางจัดสรร คั้นเคาะ เพาะเมล็ด ในท้องไก่นั้นจนปลูกลงในไร่ป่าได้สำเร็จ เกิดเปนดงข้าวไก่ป่าบนดอย อร่อยนัก
 
ทีนี้อันว่าไก่ป่า นี่มันทำไมจึงป่า?ก็ขอประทานกราบเรียนแด่ท่านว่า มันก็ทำนองเดียวกันกับนกป่านั่นแล ปราชญ์ล้านนาสล่าเมืองหลวงท่านนิยามความนกป่าไว้ว่า นกป่านี่เปนของไม่ต้องเลี้ยง เช้าตื่นมาโดยสัญชาตญาณ ก็บินปร๋อออกหากินเอาเอง ตกค่ำกลับมานอน ไม่มีใครสอน ถึงฤดูออกเรือนก็สร้างรังหาคู่เอง ทำวางไข่ อะไรๆทำได้เองทั้งนั้นไม่ต้องเลี้ยง ไม่ต้องสอน เรียนรู้ได้เองตามและโดยธรรมชาติไก่ป่าก็เปนอย่างงั้น

บ้านเมืองของเราไก่ป่าสวยงามร่างระหงโดยเฉพาะไก่ผู้ (rooster jungle rooster fowl) จำเพาะจะต้องมีตุ้มหูเปนติ่งเสียด้วย ป่าเมืองไทยมีสองสี ตุ้มหูขาวอย่างนึง ตุ้มหูแดงอีกอย่างนึง ธรรมชาติรจนารังสรรค์งามงด ขอบคุณภาพสวยจาก inaturalist
 
กินข้าวกับไก่ป่า นี้ว่าอย่างไรภาษาปกาเกอะญอ ?
 
นกป่าลูกปา (พ่อ) ตอบมาว่า “อ๊อ เหม่ เดอ ชอ หมี่” ครับ
 
อ้าวถ้างี้กินข้าวกับกระต่ายป่าล่ะก็ อ๊อ เหม่ เดอ เบ่อ แด กินกับลูกเสือก็ว่า เดอ เบ๊าะโส่ โพ  55ฟังอย่างกับภาษาฝรั่งเศสเมืองปารีส 
 
นาทีนี้ก็ให้ระลึกถึงว่าพระยาเมนันเดอร์ มิลินท์กรีก ซึ่งแกเคยโด่งดังในพื้นพิภพเพราะเปนผู้ชอบตั้งปัญหาไล่ต้อนพระนาคเสนพุทธสาวกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้น พญามิลินท์แกถามเรื่องไก่ป่า ตั้งคำถามมิลินทปัญหาถึงคุณแห่งไก่ป่า อันนำไปหามรรคผลนิพพาน


 
พระนาคเสนท่านก็อุปมาถึงคาแรกเตอร์ของไก่ป่า ที่หากคนทำตามแล้วข้ามโอฆสงสารได้ ว่ามีอยู่ 5 ประการ
 
๑.เมื่อเวลายังมืดอยู่ ก็ไม่บินลงหากิน ๒.พอสว่าง ก็บินลงหากิน ๓. จะกินอาหาร ก็ใช้เท้าเขี่ยเสียก่อน แล้วจึงจิกกิน ๔. กลางวันมีตาใสสว่างเห็นอะไรได้ถนัดแต่เวลากลางคืนตาฟางคล้ายคนตาบอด ๕.เมื่อถูกเขาขว้างปา หรือถูกตะเพิดไม่ให้เข้ารัง ก็ไม่ทิ้งรังของตน
 
พญามิลินท์ เมนันเดอร์ ท่านก็สงสัย พระนาคเสนก็ถวายวิสัชชนาคลี่คลายปัญหา ๑.นั้นคือว่า เอาอย่างไก่ป่าเวลาเช้าปัดกวาดที่อยู่ และจัดตั้งเครื่องใช้สอย ไว้ให้เรียบร้อย อาบน้ำชำระกายให้สะอาด บูชากราบไหว้ปูชนียวัตถุ และบุคคล ๒.ครั้นสว่างแล้ว จึงกระทำการหาเลี้ยงชีพ ตามหน้าที่แห่งเพศของตน ไม่ข้ามสเต็ปไปมา ๓. พิจารณาก่อนแล้ว จึงบริโภคอาหาร ไม่มัวเมา มุ่งแต่จะทรงชีวิตไว้ เพื่อทำประโยชน์สุขแก่ตน และผู้อื่น ๔.ตาไม่บอด ก็พึงทำเหมือนคนตาบอด คือไม่ยินดียินร้าย ดุจภาษิต ที่พระมหากัจจายนะกล่าวไว้ว่า มีตาดีก็พึง ทำเป็นเหมือนคนตาบอด มีหูได้ยิน ก็พึงเป็นเหมือนหูหนวก มีลิ้นเจรจาได้ ก็พึงเป็นเหมือนคนใบ้ มีกำลังก็พึงเป็นเหมือนคนอ่อนเพลีย เรื่องร้ายเกิดขน ก็พึงนอนนิ่งเสีย เหมือนคนนอนเฉยอยู่ฉะนั้นส่วนจำเพาะจะแสดงไว้ ณ ที่นี้ คือ ข้อ ๕. กล่าวคือ ไก่ป่านั้นแม้จะถูกไล่ ถูกเขวี้ยง ทำร้าย ตะเพิดไม่ให้เข้ารังอย่างไรก็ไม่เคยทิ้งรัง


 
ดังนั้น คนเราจะทำจะพูด ไม่พึงละสติ สัมปชัญญะ ประหนึ่งไก่ป่าไม่ทิ้งรัง commitment เช่นนี้จึงนำไปสู่เส้นทางอันเกษมได้ ดังนี้แล้วอย่าว่าแต่พญามิลินท์ เมนันเดอร์เลยคนทั่วไปอย่างเราท่านก็ควรยอกรยกมือไหว้ใน ‘คุณ’ พิเศษ ของไก่ป่าที่พระนาคเสนท่านยกมาให้ใช้
 
อีทีนี้ว่าไหนๆไปถึงแดนพุทธภูมิแดนกรีกแล้วขอข้ามไปยุโรปสักหน่อย คราวหนึ่งไปถึงและนั่งหย่อนใจอยู่ริมน้ำเมืองปร้าก นึกถึงว่าการปรากฏตัวของไก่ในทางคริสตศาสนาก็มีความน่าสนใจ วันหนึ่งที่เมืองเบอร์โน ซึ่งใหญ่เปนอันดับสองของ สธร. เช็ก ที่มหาวิหารประจำเมืองมีรูปไก่เงินลอยตัวขนาดใหญ่ยืนคู่กับนักบุญท่าทางหวั่นไหว นั้นเองคือนักบุญปีเตอร์อัครสาวก ยามเมื่อพระเยซูเจ้าจะถูกจับกุมจากฝ่ายโรมัน ทรงมีพยากรณ์ว่าปีเตอร์จะทำเปนไม่รู้จักพระองค์ โดยกล่าววาจาผิดจากความจริงเพื่อเอาตัวรอด เวลาที่ปีเตอร์กล่าวอสัจจะวาจาเปนครั้งที่สามนั้น เขาจะได้ยินเสียงไก่ขันคู การณ์ก็เปนดังนั้น
 
ปีเตอร์ถูกสอบปากคำก็ชิงปฏิเสธว่ามิเคยรู้จักพระองค์ท่านสามคราว คราวที่สามนี้เกิดเสียงไก่ขันก้องขึ้น เตือนสติตรงตามคริสตทำนาย ไก่จึงเปนสัญลักษณ์นัยแห่งการย้ำเตือนถึงการระงับการกระทำทุจริตทางวาจาของคริสตศาสนา
 
กลับมาที่ทางใต้ของเมืองไทย พูดถึงไก่ก็ให้นึกถึงสมภารเจ้าวัดขนาย พุนพิน สุราษฎร์ธานี คือพ่อท่านล้าน ที่วัดขนาย


 
นานมาแล้วคราวลงไปทำประกันภัยนากุ้งที่สุราษฯพวกทหารกองบินขึ้นกันมากได้พาไปกราบ ต่อมาไปหาซื้อที่ดินจะทำคอนโดมิเนียมตั้งแต่เซ็นทรัลยังไม่ขึ้น ได้พบท่านอีก ท่านเปนผู้ทรงศีลสำรวมและสุภาพนุ่มนวลอย่างยิ่ง ที่วัดขนายมีไก่แจ้ไก่บ้านไก่ป่า ดารดาษเดินอวดขนสวยงามทั่วไปด้วยเปนเขตอภัยทานและสมภารท่านเกิดปีไก่เปนผู้น้อมเอาคุณของไก่มาทำอิทธิวัตถุแจกแก่ผู้นับถือ 
 
อันว่าวิชาไก่นี้ เกจิอาจารย์แต่เดิมสังเกตเอาอาการกิริยาของไก่ ว่าขยันขวักไขว่หากิน ตื่นแต่เช้าไม่รอสาย ขวนขวายเลี้ยงดูลูก ยามจะนอนก็แสวงหาคอนที่ปลอดภัย ซ้ำไปไหนมาไหนก็ผู้ชนชื่นชมว่าสวยงาม ด้วยไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง จึงได้ดึงรูปธาตุของไก่ มาตั้งไว้ในฐานเปนเครื่องกำหนดอธิจิตในการอวยชัยให้พร เพื่อผู้นับถือรำลึกได้มีคาแรกเตอร์อย่างไก่ ลงว่าขยันไม่ท้ออย่างไก่แล้วจึงสร้างฐานะร่ำรวยขึ้นได้ อีกทั้งเมื่อได้มีฐานะแล้วจึงทำให้ปุถุชนสามารถมีความพร้อมจะทะลุเปลือกหุ้มห่อ พร้อมพอจะปฏิบัติเอาวิโมกข์อันเปนแก่นหลักของพระสัทธรรมได้ไม่ต้องเเสวงหาทำกินเปนได้แต่คฤหัสถ์ฆราวาสธรรมอยู่ร่ำไป

 
ลักษณะร่วมของทางภาคกลางมีวิชาอย่างไก่ ชักยันต์ขึ้นเรียกว่ายันต์ไก่เถื่อน มีลักษณะเปนปราสาทเรือนยอด นอกนี้ยังมีแยกสายออกไปเปนยันต์กาน้ำ หากว่าต้องการอวยชัยแก่ผู้ไปผู้ค้าขายข้าวของทางน้ำ สำนักของสมเด็จพระญาณสังวรองค์แรกในรัตนโกสินทร์ ทรงได้รับการขนานพระนาม ว่า สังฆราช สุก ไก่เถื่อน โดยนัยยะหนึ่งหมายถึงท่านมีเมตตาพ้นประมาณขนาดไก่ป่านั้นยังเชื่องลงเข้าหากราบกรานให้ท่านให้อาหารในมือได้ แต่อีกนัยยะหนึ่งนั้นท่านเจริญวิปัสสนาอาศัยฐานกรรมฐานสายวิชาไถ่เถื่อนเปนอารมณ์ ด้วยคาถาพญาไก่เถื่อน “เวสาทากุ กุสาทาเวฯ” เปนอารมณ์ของโลกธรรม 8 มีลาภ เสื่อมลาภฯ ไม่มีแน่นอน ไม่ควรยึดติด จึงเกิดปลงตกในความยินดีทางโลก สละละออกแล้วมุ่งหน้าสู่พระธรรมต่อไป
 
ทั้งนี้ด้วยครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าองค์แรกในกัปป์นี้ คือ พระกกุสันโธพุทธเจ้านั้น ตามตำนานได้เสวยชาติเปนพญาไก่ และ กำเนิดของท่านแต่แรกมีแม่ไก่รับไปเลี้ยงดูฟูมฟัก ทำให้ไก่มีสถานะอยู่อย่างพิเศษในบวรพระพุทธศาสนา
 
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,875 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2566