ไม่รู้เรื่องการตลาด ชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 18

08 เม.ย. 2566 | 03:50 น.

คอลัมน์ เปิดมุกปลุกหมอง โดย…สุรวงศ์ วัฒนกูล

กระรอก ปลูกต้นไม้ด้วยการ “ปลูกจริงๆ” ขุดดิน หย่อนเมล็ดหรือลูกไม้ แล้วกลบหลุมอย่างเรียบร้อย แบบว่าพฤติกรรมที่ว่านี้เป็นการกักตุนอาหารตามนิสัยของกระรอกเพื่อเก็บอาหารไว้กินทีหลังแต่ประจวบเหมาะตรงที่กระรอกเขาฝังอาหารไว้เยอะมากจน “จำไม่ได้ ว่าฝังอาหารไว้ที่ไหน” (ฮา) 

ปู่ผมท่านเป็นพระ มีโยมเอามันเทศดิบใส่กระสอบมาให้ ท่านเอาไปวางไว้ใต้กุฏิ ผ่านไปหลายเดือนก็เห็นยอดของต้นมันเทศโผล่พลิ้วขึ้นมาตรงหน้าต่างจึงนึกได้ว่าลืมให้แม่ครัวเอาไปต้ม (ฮา) 

กระรอก กินเปลือกไม้ได้เรื่อยๆ คล้ายกับคนที่รับเงินจิ๊บๆ เพื่อแลกกับการหย่อนบัตรสนับสนุนให้นักการเมืองบางรายเข้าไปในสภาได้แฮปเงินซองหนาเนื้อๆ ชาวบ้านจึงซื่อๆ แบบ กระรอก ในขณะที่นักการเมืองรายนั้นเขา กะหลอก จนเคยชิน หอยทากชอบกินปูนฉาบฝาผนังซึ่งมีแคลเซียมช่วยให้เปลือกแข็งแรง นักการเมืองบางคนก็ชอบกินปูนจนเพื่อนๆ เรียกว่า ส.ส. แคลเซี่ยม (ฮา)

ย่อหน้าแรกที่เล่าอุ่นเครื่องนี่ เป็นมุกระดับตำนาน ยุคนี้เขาไปไกลถึงขนาดยกตลาดมาตั้งไว้ในที่ทำการพรรค Guru การตลาด ท่านสมมุติมุมมองได้ชัดว่า ถ้าอุปมา นักการเมือง เป็น “นักการตลาด”  รัฐบาลกับ พรรคการเมือง คือ “ยี่ห้อ” และ “ตรา” ประชาชน  เป็น “ผู้บริโภค” 

นักบริโภคจะมีใจร่วมหย่อนบัตรชิงโชคลงกล่องยี่ห้อไหนตราอะไร ขึ้นอยู่กับความทรงจำฝังใจที่ได้เสพ  “เนื้อหา” (Content) ที่พรรคกับรัฐบาล “สื่อได้จี๊ดพิชิตใจ” นักบริโภค “เสพได้รสจดได้ความนำไปเล่าต่อ” หัวใจของการชนะการเลือกตั้ง คือ“การสื่อสาร” 

ในยุค Gen X มีสำนวนชวนขนลุกว่า “ผู้ใดกุมสื่อ ผู้นั้นกุมอำนาจ” การยึดอำนาจทุกครั้งที่ผ่านมาจึงเข้าไปควบคุมสถานีวิทยุเอาไว้ก่อน บรรยากาศคล้ายๆ กับการขึ้นโรงพัก ใครแจ้งก่อนได้เปรียบใครแจ้งที่หลังถือว่าแก้เกี้ยวเพื่อไม่ให้เสียเชิง

ท่าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้คะแนนแลนด์สไลด์ เพราะหอบนโยบายมาโชว์ตั้ง 214 ข้อ ผมก็เลยอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ กับ เพื่อไทย เพราะโชว์นโยบายล่าสุด 8 ข้อ จะแลนด์สไลด์ไหวหรือเปล่า เว้นเสียแต่ว่ามีไม้เด็ดรออยู่ก็แล้วกันไป 

ส่วนพรรคน้องใหม่อย่าง รวมไทยสร้างชาติ เขาอ้างอิงผลงานผ่านสโลแกนง่ายๆ แต่เท่ว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ใครว่าไงไม่รู้นะ ผมว่าสโลแกนนี้ใช้ได้ จำได้ไหมว่าเคยมีคนในวงการเมืองเขาบ่นถึงรัฐบาล บิ๊กตู่ ว่า “โครงการนี้ก็ทำ โครงการนั้นก็ทำ จะมีอะไรเหลือไว้ให้รัฐบาลสมัยหน้าทำบ้างล่ะ! “ (ฮา) 

ฟังดูมันขัดกับคำครหาว่า รัฐบาลนี้ไม่มีผลงาน!  พรรคภูมิใจไทย เขาเว้ากันซื่อๆว่า “พูดแล้วทำ” พร้อมกับชู 16 นโยบาย ในเมื่อ ภูมิใจไทย เว้า หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ว้าว ซะ 10 ข้อ WOW ของเขามาจาก Wealth Opportunity and Welfare For All หรือ การสร้ลงงางความมั่งคั่ง สร้างโอกาส และ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อประชาชน สงครามการขายความคิดรอบนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน

การตลาดการเมือง (Political Marketing) คือ การเมืองที่เอาการตลาดมาเป็นตัวนำ จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ปรากฏชัดจนน่ากังวลใจ มีการวิเคราะห์กันว่า “ความเป็นคนดี” มิใช่ “จุดขายหลัก” เค้าลางนี้มีมาหลายปีแล้ว เคยพูดผ่านสื่อกันตรึมว่า “ถึงเขาจะโกงแต่ถ้าทำงานให้ชาวบ้านมีกินก็ช่างมัน” ถ้าจะเล่นกันอย่างนั้นจริงๆ เส้นทางการเมืองก็คงจะไม่มี มนุษย์หลงเหลือไว้เป็นแบบอย่าง 

เรื่องนี้ไม่ได้เอามาเล่ากันเล่นๆ ผมเคยถามในห้องจัดอบรมหลายแห่งว่า “ผมถามกรณีศึกษาเรื่องหนึ่ง แม่ค้าเอาส้มเน่าใส้ไว้ก้นถุง ส้มที่ผิวยังดูดีเอาไว้ด้านบนเพื่อกลบเกลื่อน เมื่อลูกค้าโวยว่า ทำไมทำแบบนี้ แม่ค้าก็บอกหน้าตาเฉยว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วส้มที่เหลืออยู่หนูจะเอาไว้ขายใครล่ะ มีใครเห็นด้วยกับแม่ค้าบ้างไหม” ผู้ฟังหลายท้านออกอาการไม่ถือสา แถมยังเห็นพ้องกันด้วยว่า สิ่งที่แม่ค้าทำอยู่ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย!

คำว่า Politics คัดนัยมาจาก Goodreads.Com โดย ท่าน Myron Fagan ชาวอเมริกัน เป็น นักเขียน โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์และละครเวที นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่กระตือรือร้น เป็นนักทฤษฎีสมคบคิดที่มีอิทธิพล อธิบายไว้หวือหวาน่าสนใจแบบต้องสูดยาดมก่อนอ่านว่า “Politics” เป็นคำภาษาละติน มาจาก Poli + tics 

ทั้งนี้ Poli แปลว่า มากมาย และ tics เป็น สำบัดสำนวน หมายถึง สัตว์ดูดเลือด มิน่า ไม่เคยมีใครตั้งชื่อพรรคว่า  “ยุง” เท่าที่เห็นก็คงจะมีแต่ ดูดลูกพรรค (ฮา)
 

ไม่ว่าจะยังไง ผมก็ยังชอบใจ วินสตัน เชอร์ชิลล์ เป็นนิจ ท่านเคยกล่าวล้อเรื่องทำนองนี้ไว้นานแล้วว่า ในขณะที่ “ความเท็จ วิ่งล้ำหน้าไปไกล ความจริง เพิ่งจะเริ่มนุ่งกางเกง” (ฮา)