เม็ดมะม่วงฯเผา กระบี่/พังงา

28 ม.ค. 2566 | 17:54 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2566 | 18:00 น.

คอลัมน์อิ่ม_โอชาฯ โดย Joie de La Cuisine

ของกินเล่นที่อร่อยถูกปากและไม่เสียสุขภาพอย่างหนึ่งของคนกระบี่/พังงา แต่โบราณ ก็คือว่าเอาเม็ดมะม่วงหิมพานต์มาเผาแทนที่จะเอาไปทอดน้ำมัน
 
ยามจะกินต้องสีๆในมือเอาเปลือกอ่อนหุ้มเม็ดของมันออกเสียก่อนถือเปนความสนุกท้าทายก่อนจะได้เข้าปากเคี้ยวความอร่อยโอชา
 
อีทีนี้เพื่อให้เข้าใจชัดเจนตรงกันว่า งานเผาโบราณนั้นเผาอย่างไร มันคั่วหรือมันเผากันแน่ จึงไปสัมภาษณ์ปากคำนายหัวธนพงศ์ เทพกล่ำ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีเทือกเถาอยู่ทางลำทับ ได้ความมานำเรียนท่านผู้อ่านว่า

อันดับแรกเขาจะเอาสังกะสีตีเปนกระบะสี่เหลี่ยม มีชอบสูงประมาณหนึ่งนิ้วเจาะรูทั่วๆไป ก่อไฟตั้งกระบะสังกะสีนี้เข้าบนเส้าสามขา ซึ่งจะใช้อิฐ หิน ทำเปนเส้าก็ได้ สุมไฟแล้ว แล้วเอาเม็ดมะม่วงฯดิบทั้งเปลือกใส่ลงไปมากพอควร จึงไปหาไม้ยาว ๆ คนไปมาจนร้อนระอุทั่วกัน พอผิวเม็ดข้างนอกมีน้ำมันไหลเยิ้มออกมาแปลว่าจะสุกแล้ว เขาก็เอาไม้ยาวที่คนนั้น
 
นั้นแหย่ลงไปในไฟเตา ไฟเตาก็จะลุกพรึ่บติดน้ำมันที่ปลายไม้นั่นขึ้นมา จึงยกเอาไฟปลายไม้มาจ่อที่เม็ดเปื้อนน้ำมันบนกระบะนี้ ไฟก็จะลุกไหม้เม็ดมะม่วงในกระบะเปนการทั่วไป พอได้จังหวะคนคั่วเขาก็จะเขี่ยกระบะให้คว่ำเม็ดมะม่วงฯตกกระจายลงบนลานดิน แล้วหากิ่งไม้ใบสดๆ มาตีให้ไฟที่ติดอยู่ตามเม็ดมะม่วงให้ดับ ก็จะเห็นเหมือนก้อนถ่านสีดำ ๆ เด็กๆชาวบ้านที่เฝ้ารออยู่จะมีหน้าที่ใช้หินทุบลงไปเบา ๆ เปลือกสีดำจะแตกออก จะเห็นเมล็ดเหลืองกรอบภายในน่ารับประทานส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ แต่ถ้าใครไม่มีศิลปวิทยาในการคั่วเที่ยวปล่อยให้ไฟลุกไหม้เปลือกนอกนานเกินไป

เม็ดมะม่วงฯภายในจะกลับกลายดำเปนถ่านหารับประทานไม่ได้เสียอีกข้างเนื้อของมะม่วงหิมพานต์เด็ก ๆ จะชอบรับประทานเล่น มีรสหวานอมฝาด บางต้นก็ฝาดมาก บางต้นก็ฝาดน้อย เปลือกนอกมีสีเหลือง แดง แสด ตามแต่ชนิดของมัน ผู้ใหญ่บางคนก็ชอบรับประทาน แต่ต้องหั่นเปนสี่เหลียมขนาดพอคำล้างน้ำเกลือแล้วจึงคลุกเคล้ากับเกลือน้ำตาลสักหนึ่งชั่วโมงก็เอามารับประทานเปนของหวาน จากรูปนี้นั่งอยู่ร้านผัดไทยริมถนนเจ้าฟ้า เยาวชนเขาใส่ตะกร้าเอามาขายให้ 20 บาท
 
ข้างยอดอ่อน ๆ ของต้นมะม่วงนี้มีสีแดงปนน้ำตาล ชาวใต้นิยมรับประทานกับชนมจีน น้ำพริกและแกงต่าง ๆ ให้รสฝาดมัน ครั้นจะปลูก_การปลูกต้มะม่วงหิมพานต์นี้ไม่ยากท่านว่า เพียงฝังเมล็ดลงไปในดิน และไม่ต้องเอาใจใส่อีกเลย เพียง ๕ ปีก็มีผลให้รับประทานได้ เคยมีคนเอามาปลูกในพระนครก็ขึ้นงอกงามดี แต่ไม่ค่อยมีผลให้กิน พวกบราซิลอเมริกาใต้คั้นน้ำผลสุกไปหมักเหล้ากินทั้งๆเปนส่าก็ว่าอร่อยดี บางทีระอุได้ที่แล้วเอากลั่นเห็นว่าก็ได้ผลดี เรียกกันว่า ฟีนิ

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18  ฉบับที่ 3,857 วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566