ใบไม้นอกกำมือ

01 ธ.ค. 2565 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2565 | 09:06 น.
884

ทำมาธรรมะ โดย ราช รามัญ

พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว ความรู้ในด้านจิตวิญญาณของพระองค์นั้นมีมากมาย ครั้งหนึ่งพระองค์เคยทรงตรัสว่า ใบประดู่ลายในมือตถาคต​ช่างน้อยนิด​ เมื่อเทียบกับใบประดู่ลายทั้งป่า​ ธรรมทั้งปวงของที่ตถาคตรู้​ เปรียบเหมือนใบประดู่ลายทั้งป่า​ แต่ตถาคตหยิบเอามาสอนแค่กำมือเดียว​ 
 

นั่นหมายความว่า​ ทรงรู้อะไรอีกมากมาย​ในด้านจิตวิญญาณ แต่ทรงหยิบเอาเรื่องที่เหมาะกับมนุษย์มาสอน​ คือ​ อริยสัจทั้งสี่​ ทุกข์​ สมุทัย​ นิโรธ​ มรรค​ เพื่อความดับทุกข์​ 
 

ถ้าได้พิจารณาอย่างเปิดใจ​ ใบประดู่ลายนอกกำมือ​ของตถาคต​ ก็เป็นธรรมะเช่นกัน​ เป็นองค์ความรู้เช่นกัน​ ผมจึงเขียนเรื่องนี้ว่า​ ใบไม้นอกกำมือ​ 
 

เป็นไปได้ที่​เราได้พบได้เห็นธรรมะของหลวงปู่ หลวงพ่อแต่ละวัด แต่ละองค์มีความแตกต่างกันออกไป​ เพราะท่านอาจได้พบวิธีการที่เรียกว่า​ ใบไม้นอกกำมือ​ คือ​ องค์ความรู้หรือวิธีการที่พุทธองค์ไม่ได้ตรัสถึง​ และสุดท้ายความรู้เหล่านั้นก็มาจบลงรอยเดียวกันที่​ อริยสัจ 4​

อย่างวิชา​ ธรรมกาย​ ที่หลวงพ่อสด​ วัดปากน้ำ​ภาษีเจริญ​ กทม.​ ค้นพบนั้น อาจเป็นใบไม้นอกกำมือที่สำคัญอีกใบ ที่ใครเมื่อฝึกแล้วก็จะได้สมาธิดี ตลอดทั้งสามารถเข้าอริยสัจ 4 ได้ ​เพราะธรรมกาย​ หมายถึง​ กายตถาคต​ ผมจึงมิเคยปฏิเสธแนวทางนี้แต่อย่างใด​ หรือ​ วิชามโนมยิทธิ​ ที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำ​ วัดท่าซุง​ ท่านสอนก็มีความเป็นไปได้ว่า​ เป็นหนึ่งในใบไม้นอกกำมือเช่นเดียวกัน​ 
 

ธรรมะ 84000 พระธรรมขันธ์นั้น​ มีมากเกินที่เราจะรู้ทั้งหมดตั้งแต่เบื้องต้นท่ามกลางไปถึงที่สุด​ 
 

พระสิ้นคิด​ ที่กำลังโด่งดังในติ๊กต๊อก​ ในโลกออนไลน์​ ท่านก็พูดความจริง​ พูดในสิ่งที่ปรากฏในพุทธกาล​ เคยฝึกปฏิบัติธรรมมา จนกระทั่งเข้าใจในธรรมระดับหนึ่ง​ นับว่าเป็นใบไม้นอกกำมืออีกใบ
 

ถ้าเชื่อเรื่องกรรม​ เรื่องวาสนา​ เรื่องบุญ​ แต่ละบุคคลย่อมมีแตกต่างกัน ​ความแตกต่างตรงจุดนี้เอง​ จึงทำให้พระภิกษุผู้มุ่งในการปฏิบัตินั้นได้พบสัจธรรมตามความเป็นจริงที่มีจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เราไม่อาจกล่าวได้ว่าวิธีของท่านนั้นถูกท่านนี้ผิดด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมา

 

บ่อยครั้งที่ เวลาไปบรรยายตามองค์กรแล้วมีผู้คนถามว่า วิธีของวัดนั้นท่านถูกไหม หลวงพ่อนี้ใช่ไหม ก็ต้องขอตอบแบบตรงไปตรงมาว่า เราไม่เคยปฏิบัติตามแนวทางของท่าน เราก็ไม่ควรไปตัดสินท่านว่าถูกหรือผิด

 

แต่ถ้าเรายึดในหลักเรื่องของบุญ เรื่องของวาสนา เรื่องของกรรม ซึ่งแต่ละคนย่อมมีภาวะที่แตกต่าง ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ท่านสร้างบุญสร้างกุศลมาทางนั้นจึงได้พบสัจธรรมแบบนั้น
 

นี่คือการวางใจเป็นกลาง ในการศึกษาธรรมะ แต่ถ้าเราจะยึดเอาแค่เพียงใบไม้ที่อยู่ในกำมือของพระพุทธเจ้าแล้วบอกว่า นั่นคือสิ่งที่ถูกเพียงอย่างเดียว งั้นก็จะเป็นมุมมองที่ค่อนข้างแคบไป
 

เพราะพระองค์เองก็ตรัสว่า ความรู้เหมือนใบไม้ทั้งป่า จะหยิบเอามาสอนแค่สิ่งที่สำคัญลัดสั้นแล้วก็ตรง​ แต่คงไม่เป็นเรื่องผิดถ้าจะใช้แนวทางอื่น เพื่อให้สุดท้ายก็เชื่อมโยงมาถึงอริยสัจ 4

 

เราเองควรจะต้องมีความใจกว้าง ในการที่จะเรียนรู้หลากหลายมุมมองเกี่ยวกับธรรมะ เพราะถ้าเรายึดรูปแบบใดอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ แล้วบอกว่าถูกที่สุด ส่วนวิธีการรูปแบบอื่นๆ ผิดหมด ตัวเราเองก็สร้างทัศนคติในเชิงลบหรืออกุศลให้แก่ตัวเอง​
 

อันนั้นผู้เป็นนักปฏิบัติควรที่จะต้องใจกว้าง ยอมรับฟังถึงวิธีการปฏิบัติต่างสำนัก ต่างครูบาอาจารย์ แล้วก็น้อมเอามาพิจารณาว่า เหมาะกับเราหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะก็เดินจากไป แต่ถ้าใช่ก็ลองศึกษาดูปฏิบัติดู เพียงเท่านี้ ปฏิกิริยาที่มักเกิดกับนักปฏิบัติอยู่เสมอว่าสำนักนั้นใช่ หลวงพ่อนี้ผิด หลวงพ่อนั้นถูกก็จะหมดไป
 

อย่างแนวทางที่ผมแนะนำเสมอทุกครั้งที่ไปบรรยายตามองค์กรก็คือการฝึกกรรมฐานเงียบ หมายความว่าในการใช้ชีวิตปัจจุบัน ขณะขับรถก็ดี ทำงานก็ดี นั่ง,ยืน,นอนเดินทำกิจใดๆ ก็ดี ให้ทำด้วยความเงียบ เปิดประตูเบาๆ ปิดประตูเบาๆ เดินเบาๆ วางสิ่งของเบาๆ ไม่ให้มีเสียงเลย นี่เรียกว่ากรรมฐานเงียบ
 

เพราะในขณะที่เราพยายามทำอะไรโดยเงียบๆ นั่น แปลว่าเรามีสติอยู่กับตัวอยู่ตลอดเวลา เราถึงวางสิ่งของหรือเดินหรือทำอะไรเงียบๆ ได้​ เมื่อเราฝึกแบบนี้บ่อยๆ เมื่อถึงเวลาเราไปนั่งสมาธิภาวนา ความสงบก็จะปรากฏได้เร็ว เพราะเราฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาในการเคลื่อนไหว ที่สำคัญเราก็จะไม่จมอยู่กับอารมณ์ของสมาธิหรือที่เรียกว่ากรรมฐานนั้น​ 
 

จะฝึกรูปแบบใดสำนักไหนก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญในขณะที่ฝึกปฏิบัตินั้น เราต้องไม่เครียด เราต้องไม่มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ต่อการปฏิบัตินั้น และทุกสรรพสิ่งจะปรากฏในใจของเราเอง

 

ติดตามราชรามัญ / วิทยากร / บรรยาย : ราช รามัญ