ไวน์ประมูล

29 ต.ค. 2565 | 09:00 น.
1.2 k

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

พวกฝรั่งระดับ super class มีความยินดีแปลกประหลาดจะซื้อของขวัญให้แก่บุตรชายที่บรรลุนิติภาวะวัย 21 ปี เปนตู้แช่ไวน์อย่างดีที่ข้างในมีเมรัยขาวแดงราคาแพงบรรจุอัดไว้
 

หวังใจว่าในเวลาอนาคตต่อไปโลหิตพระเยซูเจ้านี้จะเปนกรุสมบัติทำราคาให้ประดาลูกๆได้มีความมั่งคั่งอย่างมีรสนิยม
 

 

อีทีนี้นอกจากไวน์สำคัญ 5 อรหันต์ที่บ้านเมืองของเรานิยมบริโภคกันด้วยความโก้หรูแล้ว มันก็ยังจะมีไวน์สำคัญต่างๆของโลกที่ “สากล”เขาเล่นกันโดยมีค่านิยมเล่นหาราคาแพงมิใช่ย่อย 

 

มาบัดนี้ก็ได้เวลาพาท่านย้อนเวลาไปก่อนยุคโควิด ซึ่งสถาบันคริสตี้’ส์ เขาเปิดประมูลให้นักเลงไวน์เคาะราคากัน ณ เกาะฮ่องกง เมื่อปี 2563 (อ้างว่าทำหน้าที่พ่อที่ดีสำรวจตลาดเตรียมจัดซื้อชุดไวน์สำคัญไว้ให้ลูก_ว่างั้น)

ว่ากันที่รายการสำคัญฝ่ายไวน์ขาวเสียก่อน
 

1.ไวน์หวาน BORDEAUX  แห่งปราสาท Yquem เป็นไวน์หวานเน่าอย่างผู้ดี ปูรีตุยส์ นองเบลอะ ปี1988 ประเมินราคาไว้ขวดละ ราว 13,000 บาท ขายได้ 13,600 ในขณะที่ปี 1989 ใหม่กว่า ประเมินราคาไว้ราว 12,500 ขายได้ 14,285 ขวดเล็กก็ขายได้ถึงขวดละ 5,729 บาท ทั้งที่ทำในปี 1991 ส่วนว่าไวน์เน่าอย่างผู้ดีนี้เปนอย่างไร ก็ได้เขียนบรรยายไว้ให้ท่านแล้วในฉบับเก่าๆก่อนๆ กดหาข้อมูลได้มิยาก
 

2. หากว่าข้ามทศวรรษมายุคมิลเลนเนียม Joseph Drouhin,Montrachet Marquis de la guiche ปี2003 ขายได้ขวดละ 22,000 บาทไล่เลี่ยกับฉลากเดียวกันปี 2011
 

3. ไวน์ขาว Anne Gros, Riche bourg ปี2006 ประมูลกันได้ที่ขวดละ 31,250 บาท
 

ถัดมาก็ต้องว่าถึงไวน์แดงจากเบอร์กันดี ตัวที่มีราคาแรงมากๆในแคตตากอรีส์นี้ ปีไม่ได้ใหม่มาก ยกให้ Georges Roumier, Bounes Mares 2007 กรองด์ ครู จาก โก้ต เดอ นุยส์เคาะราคากันขวดละ 67,700 บาท สูสีกับ Jacques-Frederic Mugnier, Musigny ปี 2007 เหมือนกัน
 

ข้างค่ายออสเตรเลีย Penfold’s Grange Hermitage ปี 1986 ราคาไม่ตกขวดละ 31,250 บาท ปี1991 Grange เฉยๆสู้ไม่ได้ คนไม่ค่อยเคาะราคากัน มาเคาะกันตัว 1992 ขวดละ 21,875 


 

ทีนี้​อันว่าราคาที่ท่านเห็นนี้คือราคาเคาะชนะกันที่วันประมูลยังมิรวม“ค่าธรรมเนียม” การประมูลอีก25% ซึ่งเมื่อรวมเข้าไปแล้วจึงจะเอาไวน์ประมูลเหล่านี้ออกจากห้องเคาะได้ และจะถูกใช้นับรวมเป็นฐานคำนวณภาษีนำเข้าต่อไปอีกถ้าผู้ชนะประมูลเกิดอยากจะเอาเข้ามากินในบ้านเรา ทั้งยังไม่รวมค่าขนส่งที่การขนส่งจะต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่หมัดมิเช่นนั้นไวน์แก่ ๆทรงคุณค่าจะช็อกตายระหว่างเดินทางเสียไปเปล่า ข้างแชมเปญราคาดียังคงเป็น Bollinger La Grande Annee ปี1979 เคาะกันขวดละ25,000  ถ้าเป็น Bollinger R.D. ExtraBrut ปี 82 ราคาเกือบ 30,000 บาทที่หน้าเขียงเคาะประมูล 
 

อนึ่งว่าการจัดเก็บและสภาพตัวขวด/เนื้อไวน์ก็มีผลกับราคา นักประมูลที่รู้ค่าจะสอบถามเลยว่าตะกั่วหุ้มจุกเสียหายไหม?
 

ถ้าเสียหาย จะมากไหม? อย่างไร? คนตรวจสภาพจะรายงานว่า ก. เสียมาก-Badly, ข. เสียน้อย-Slightly ค. เสียพอควรก็รายงานว่า Damage เฉยๆ 
 

ฉลากล่ะ? เสียหายไหม? ก. ถ้าเป็นจุดด่างดวงรายงานว่า stained lable ข. ถ้าเปื้อนว่า soiled ค.ถ้าแลดูว่ามีซึมโดยเฉพาะที่จุกจะระบุเลยว่ามี seepage-ซึม
 

อันว่าไวน์เก่าๆนี้ เราท่านก็รู้อยู่ว่ามันต้องหายใจ กรรมการกลางประมูลเขาจะทำตารางระบุให้ว่าน้ำไวน์ในขวดน่ะมันหาย (ใจ) จนระเหยไปมากเท่าไหนสอดคล้องกับอายุรึไม่


 

ถ้าเป็นไวน์ไหล่ตั้งสไตล์ขวดบอร์กโดซ์ น้ำไวน์คงเหลือต่ำเท่าไหล่ขวด ท่านว่า- low shoulder อันนี้ถือว่าเกินไปล่ะไม่น่าเล่น ท่าทางเก็บมาไม่ดี เว้นเสียแต่ว่าเป็นฉลากหรือว่ารุ่นหายากจริงๆจะประมูลไปก็ไม่ว่ากัน
 

ระดับไวน์คงเหลือนี้ ถ้าขึ้นมาหน่อยเรียก mid shoulder ก็ถือว่าปกติสำหรับไวน์ที่หายใจมาตลอด30-40 ปีแต่ถ้าขึ้นมาอีกหน่อยถึงไหล่จะแตะคอ อันนี้ว่า top shoulder อายุ 15 ปี เหลือน้ำไวน์ระดับนี้เป็นเรื่องธรรมดา 
 

หากใครมีไวน์อายุเกิน 10 ปีระดับน้ำไวน์ยังสูงสุดปริ่มที่คอขวด ท่านว่าคนๆนั้นไม่ธรรมดารักษาได้ดีควรจะสู้ราคาเสียให้สุดใจ
 

ส่วนว่าไวน์ ไหล่ลู่ ขวดเบอร์กันดี้หรือผู้ดีเรียกบอร์กูร์โกญ จะใช้วิธีดูอีกอย่างหนึ่ง วัดระยะเป็นcm เซนติเมตรถ้าระดับน้ำไวน์หายไป 5-7 cm เป็นเรื่องปกติของไวน์แก่ 30 ปีเขาถือกันว่าการระเหยไปของไวน์สกุลนี้ไม่มีผลต่อรสชาติมากเท่าไวน์ในขวดไหล่ตั้ง ทีนี้ว่าหน่วยของขวดก็มีความหมายไวน์ขวดใหญ่ๆ 2 เท่าของขวดปกติเรียกขวด Magnum, 4 เท่าของปกติ เรียก double magnum แต่ถ้าเป็นขวดไหล่ลู่ใส่แชมเปญ/ไวน์เบอร์กันดี เรียก Jeroboam
 

ไวน์เบอร์กันดีที่สู้ราคากันอย่างมีความระห่ำในการประมูลครั้งนี้ต้องยกให้พ่อไหล่ลู่ “Domaine Leroy, Clos de la Roche” ปี1966 ซึ่งบรรจุในลังไม้ดั้งเดิมหนึ่งโหล 
 

สภาพหนึ่งโหลที่ว่ามีครึ่งนึงในนั้นอากาศกินที่ไป 1 ซม., อีก 4 ขวดกินที่ไป1.5 ซม., มีขวดนึงอากาศกิน 2 ซมและขวดสุดท้ายเนื้อไวน์หายไป 2.5 ซม. ประเมินราคากันที่ลังละ 1,900,000 บาท จบที่ 2,625,000 บาท รวมค่าธรรมเนียม 25% เป็นเงิน 3,281,250 !
 

ส่วนที่โหดกว่าคือ Henri Jayer, Venos-Romanee Cros Parantoux ปี 86 ขายพร้อมกัน 2 ขวด ขวดนึงถูกปาดตะกั่วหุ้มเพื่อตรวจยี่ห้อซึ่งประทับไว้บนจุกไม้คอร์กทั้งสองขวดฉลากตรงคอเสียหาย ส่วนฉลากขวดมีรอยด่างดวง ระยะอากาศ 1 ซม. ขวดนึง อีกขวด 1.5 ซม. เคาะกันที่คู่ละ 1,187,500 รวมค่าธรรมเนียม 25% ตกขวดละ 750,000 บาท!!


 

อีกเจ้าหนึ่งคือ Domaine Pansot, Clos de la Roche Vieilles Vignesปี85 มาตรฐานกรองค์ครู โก้ต เดอร์ นุยส์ ระยะอากาศ 1.7 ซม. ขวดละ 312,500 บาท
 

ไวน์ขาวของพระสันตาปาปา คลีเมนต์ ซึ่ง อัญเชิญพระราชลัญจกรกุญแจคู่ฉัตรมงกุฎมาเป็นยี่ห้อ ในนาม Chateau Pape-Clement Blance มีเข้าประมูลตั้งแต่รุ่นปี 2005 ยัน 2015 ปรากฏว่าปี 09 มาแรงสุดขวดละ 15,000 บาท
 

ปีนี้บางยี่ห้อที่โด่งดังและเล่นหากันมานานกลับราคาไม่ค่อยดีก็มีมาก แต่ว่าอย่าไปพูดถึงเขาเลย ส่วนของหลักแสนราคาดี ได้แก่ โอ บริอง ปี 89 จาก Graves ราคาดีขวดละ 156,000 ราคาดีกว่าปี 86 เป็นเท่าตัวทั้งที่ใหม่กว่า เปนด้วยว่าปี 89 เปนปีที่อากาศดีกว่ามากละมังปาล์มเมอร์ปี 61 (ปาร์แมร์ซ์) จากมาร์โกซ์ ขวดละ 182,300 แต่ปี 90 ราคาเพิ่งจะ 58,600
 

ส่วนเจ้าแกะทองคำจากปุยหยิก มูตง-ร็อธชิลด์ ปี 2000 ได้ศิลปินดังมาวาดฉลาก เคาะราคากันขวดละ 182,000!


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 22 ฉบับที่ 3,831 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565