ตำนานสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองนคร

22 ต.ค. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2565 | 13:42 น.
2.6 k

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

สัปดาห์ก่อนมีจังหวะล่องใต้ไปแดนด้ามขวานตามรอยสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีซึ่งมีพระราชประวัติเกี่ยวพันกับอาณาจักรนครศรีธรรมราชมาแต่โบราณ 
 

ตำนานนั้นมีว่า ก่อนจะปราบดาภิเษกขึ้นเปนที่สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยสยามประเทศ เมื่อคราวบ้านเมืองล่มสลายพม่าได้ชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยา ฝ่าบาทซึ่งเวลานั้นยังทรงเปนที่อดีตพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้เสด็จมาว่ากล่าวเจ้าพระยานครศรีธรรมราชที่ตั้งตนขึ้นเปนเจ้า (ตามคำในตำราเรียนมานิยมใช้ว่า ตั้งตนเปนก๊กเปนเหล่า) ให้เข้าร่วมกระบวนการกู้ชาติสวามิภักดิ์ 

ครานั้นเสด็จมาทางน้ำโดยพยุหโยธานาวิกโยธิน ขึ้นฝั่งที่วัดคงคาเลียบ ท่าเทียบเรือโบราณซึ่งใกล้ใจกลางเมืองมากที่สุด และทรงยั้งทัพรออยู่เจ้าพระยานครเวลานั้นก็แท้จริงเปนเสนามหาอำมาตย์สืบเชื้อมาแต่กรุงศรีอยุธยา นามเดิมว่าหนู ตกลงใจตั้งเมืองเปนเอกรัฐ มีพระปรมาภิไธยของตนเอง ชาวบ้านเรียกนามใหม่ว่าเจ้านคร บุตรธิดาชาย/หญิง ยกเปนเจ้าชาย/เจ้าหญิงตามฐานันดรใหม่ ให้รัฐใหม่มีอาณาเขตชุมนุมคุมอยู่ตั้งแต่เมืองหลังสวนจนถึงหัวเมืองมลายูมีพระบรมธาตุเมืองนครเปนหลักเมืองยามนั้นเจ้านครแต่งตั้งหลวงฤทธิ์นายเวรหลานเขยเปนอุปราช แต่งตั้งนายวิเถียนผู้ญาติเปนเจ้าเมืองสงขลาและแต่งตั้งหลานชายไปเป็นพระยาพัทลุง_เจ้าเมืองพัทลุง


 

เมื่อเห็นทัพพระยาตากยกมาดังนั้น ชะรอยจะด้วยเจ้านครจะทราบอยู่แก่ใจในทีว่าพระยาตากผู้นี้ตามคำกระซิบพงศาวลีข้างในรั้งวังนั้นท่านเปนที่พระราชโอรสลับ/บุญธรรมในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสียล่ะกระมัง ก็อาจจะเกรงภัยพระบารมี ปะทะกันได้รอบหนึ่ง ก็รามือเจ้านครนำช้างแก้วประจำเมืองชื่อพลายเพ็ชร มาผูกไว้นอกกำแพงวังนครให้พระยาตากขี่คอเข้าเอาเมือง ตนเองหลบราชภัยไปอยู่เมืองสงขลา
 

ครั้นพระยาตากเข้าเมืองตั้งมั่นแล้วส่งกองกำลังออกติดตามตัว เจ้านคร(หนู) ก็เลี่ยงไปซ่องสุมคุมกำลังอยู่ปัตตานีที่เมืองนครนี้พระยาตากนั่งเมืองแล้ว มีพระกรุณาให้สร้างซ่อมสร้างบูรณะวิหารทับเกษตรรอบองค์พระบรมธาตุ ใช้เปนที่ทรงธรรม เดินจงกรมวิปัสสนา

ต่อมาพระยาแขกสุลต่านมะฮัมหมัดแห่งปัตตานีเปนทูตสันถวไมตรีนำเจ้านคร(หนู) มาถวายตัวคืน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้างดโทษตาย ด้วยมีพระบรมราชวินิจฉัย พระยานคร(หนู) หาได้เปนข้าหลวงเดิมหรือว่ามหาดเล็กเด็กน้ำชาในส่วนพระองค์มาก่อน ยามบ้านเมืองทุรยศย่อยยับลง การณ์อันใครๆจะตั้งตนขึ้นเปนใหญ่ด้วยเหตุรัฐาธิปัตย์สูญไปย่อมไม่นับเปนกบฎ แต่หากว่าเปนข้าเปนนายกันมาก่อนต่างหาก ถ้าว่าพูดจาว่ากล่าวไม่เชื่อฟังอาณัติกันดังนี้ จึงจะนับว่าเปนกบฎคิดร้าย

โปรดให้เจ้านครกำกับการต่อเรือเดินทะเลถวายร้อยลำ นำไปใช้ในราชการทัพกลับกรุงธนบุรี ยามนั้นเจ้าพระยานครยกธิดาของตน 3 ท่านขึ้นถวายเปนข้าบาทบริจาริกา ตามเสด็จเข้ากรุงธนบุรีไปด้วย ท่านแรกโปรดเกล้าให้เปนที่กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ ท่านที่สองชื่อปราง ท่านที่สามชื่อจวน ภาษาต่อมาก็ว่าท่านทรงเปนเจ้าจอมเพราะว่าได้ลูก
 

ส่วนเจ้าพระยานคร หลังจากตามเสด็จเข้ามาถวายงานที่กรุงธนได้เจ็ดปี โปรดเกล้าฯให้กลับไปเปนพระเจ้าประเทศราชเมืองนคร มีพระนามว่าพระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา 
 

ต่อมาวันหนึ่ง อุปราชพัฒน์เมืองนคร เขยใหญ่พระเจ้านครหนูทำราชการทัพได้ความชอบ แต่เกิดตกพุ่มม่ายภริยาเสียชีวิต เข้ามาถวายงานข้อราชการที่กรุงธนบุรี ก็ทรงพระกรุณาเห็นใจ ยกท่านปรางให้ไปครองคู่ดูแลอุปราชพัฒน์พี่เขยจะได้ช่วยบำรุงเลี้ยงบุตรธิดา ทว่าข้างประดาคุณโขลนคุณท้าวชาวข้างในกราบบังคมทูลว่าท่านปรางยามนี้ขาดระดู_ท่าจะมีหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ในพระครรโภทรเปนเจ้าจอมได้แน่แล้วขอได้มีพระมหากรุณายับยั้ง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าว่ามีพระราชดำรัสตรัสสั่ง‘ออกปาก’ ยกให้เขาไปแล้ว ให้พากันไปเถิด
 

เจ้าหญิงปรางพระองค์นี้มีพระนามเรียกกันในพระราชสำนักเมืองนครฯว่าทูลกระหม่อมฟ้าหญิงเล็ก มีพระราชวังตำหนักเปนที่ส่วนพระองค์ เมื่อกลับเข้าเมืองนครแล้ว อุปราชพัฒน์พี่เขยก็ไม่แสดงตนอย่างสวามี ยกไว้เปนที่แม่เมืองนครศรีธรรมราช 

ท่านปรางได้ให้พระประสูติกาลพระโอรสเพศชาย หน่อเนื้อพระเจ้ากรุงธนบุรีต่อมา และภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯปราบดาภิเษกขึ้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระเจ้านครหนูทรงพระชราภาพลงมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยุบฐานะเมืองนครจากประเทศราชลงเปนหัวเมืองโปรดเกล้าให้อุปราชพัฒน์เปนที่เจ้าพระยานครสืบมา พระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรีนามกรว่าน้อยผู้นี้ ได้หัดทำราชการร่วมกับบิดาบุญธรรมของท่าน เมื่อเจริญวัยขึ้น ท่านบิดาบุญธรรมได้นำเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ก็พระราชทานตำแหน่งเป็นนายสรรพวิไชย มหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเปนพระบริรักษ์ภูเบศร_ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช โดยโปรดเกล้าฯให้ “คืนเมือง” กลับไปรับราชการที่เมืองนครศรีธรรมราชและยกบิดาบุญธรรมขึ้นเปนที่จางวางผู้เฒ่า_เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี เมื่อบิดาบุญธรรมถึงแก่อสัญกรรมก็โปรดเกล้าฯให้เปนเจ้าพระยานครฯสืบมา อนึ่งว่าตัวท่านพัฒน์ผู้นี้ก็ถวายธิดาของตนเปนบาทบริจาริกาในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าท่านหนึ่ง ในสมเด็จพระบวรราชเจ้าอีกท่านหนึ่ง คือเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่และเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก
 

ข้างตำนานต่อมาของพงศาวดารกระซิบเมืองนครก็ต้องว่า ยามเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรสิ้นกำลังพระบารมีมีพระสติฟั่นเฟือนที่เมืองหลวงก็หาได้ทรงถูกปลงพระชนม์ชีพแต่อย่างไรไม่ เสด็จลี้ภัยมาอยู่เขาขุนพนม ตรงพรหมคีรีนอกเมืองนครศรีธรรมราช
 

ชาวนครแถวนั้นมีคำศัพท์ใช้กันเปนถ้อยคำพิเศษ ไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไปทั้งที่อยู่ไกลในป่าดอนดง {เช่นว่าใช้คำว่า ทม(บรรทม) แทนคำว่านอน/ ใช้คำว่า เหวย(เสวย) แทนคำว่ากิน / ใช้คำว่ากลด แทนคำว่ามุ้ง ตรงกับพวกคนเมืองให้ฉายาว่า ‘คนพรหมคีรีพูดข้าหลวง’}เจ้าจอมปราง_ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงเล็กก็เสด็จเข้าถวายการอภิบาลที่ถ้ำเขาขุนพนมนั้น กองเกียกกายเสบียงอาหาร ทางเมืองนครต้องส่งให้ท่านด้วยกองกำลังช้างบรรทุกทุกๆหกเดือน  

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตแล้ว ตำนานว่าอีกว่าเด็กชาวบ้านขุนพนมร้องเพลงอย่างว่าดอกสร้อย ว่าตาแป๊ะหนวดยาว เขาเอาใส่หีบดีบุก บ่งนิยามความหมายต้องเปนบุคคลลึกลับศักดิ์สูงจึงมีการทำศพไม่ธรรมดาด้วยหีบโลหะพิเศษ แลอาจเปนด้วยลักษณาการอดีตสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเปนบุรุษเชื้อจีน จึงอาจเข้าเค้ารูปลักษณะหนวดยาวด้วยประการฉะนี้ หีบศพลึกลับนั้นได้ถูกนำมาถึงกลางเมืองนคร ตรงบริเวณฟากตรงข้ามกับศาลหลักเมืองปัจจุบันที่เรียกกันว่าโบสถ์พระสูง เปนการทำศพกลางเมือง เดิมทีที่ตรงนั้นเปนเนินมาก่อนและเปนวัดร้าง ว่ากันว่าการอันศพลึกลับนี้ เก็บไว้ในหีบดีบุก ก็ด้วยท่านเจ้าภาพรอเจ้าคุณเฒ่าอดีตเจ้านครหนู เมื่อถึงแก่พิราลัย จะได้เผาพร้อมกัน
 

เมื่อทำการศพเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้สร้างโบสถ์บนเนินนั้นเปนโบสถ์มหาอุดเหมือนอย่างที่สร้างไว้ ณ เขาขุนพนม ในโบสถ์นี้มีลายฝาผนังเปนรูปดอกโบตั๋น (*เรื่องโบตั๋น พุดตานเทศ กับสี่คุณชายได้เขียนไว้แล้วในตอนก่อนๆ) คล้ายจะบอกนัยสำคัญของความเปนจีนของ ‘ตาแป๊ะหนวดยาว’ ส่วนพระประธานของโบสถ์นั้นเล่า แม้จะองค์รูปสูงใหญ่แต่ที่พระเศียรกลับไร้ร้างซึ่งพระเกตุโมลีคนเฒ่าชาวนครต่างพากันเล่าถ้อยแถลงความถึงปริศนาความนัยพุทธศิลป์นี้ว่า คือปริศนาบอกที่มา ว่าอดีตกษัตริยาธิราชพระองค์หนึ่งซึ่งได้ปลงพระบรมศพที่นี้ เปน ‘อดีต’ แท้จริง เพราะพระปฏิมาไม่มีโมลี มีความหมายคือพระมหากษัตริยไร้มงกุฏเท่ากับไม่มีราชบัลลังก์ครองแล้วนั่นแล ส่วนจะนิยามความหมายจะหมายถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีผู้นิราศหรือจะนิยามความหมายถึงพระเจ้าเมืองนคร(หนู) ผู้ถูกยุบบรรดาศักดิ์ลงตามเมือง ก็ขึ้นกับการตีความ
 

ข้างอัฐิของบุคคลลึกลับในหีบดีบุกนั้น ว่ากันว่าถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดประดู่ สร้างเปนบัว (สถูป)แบบปักษ์ใต้สวยงาม

อย่างไรก็ดีความสวยความงามของตำนานท้องที่ดังนี้จะว่าไปก็แลดูมีแง่งามในตัวของมันเอง ไม่ควรเสียหรอกกระมังจะต้องมีการพิสูจน์ชำระหักหน้า เช่นว่าใครสักคนประสงค์จะเจาะเอาอัฐิลึกลับในบัวสถูปมาเทียบ DNA กับวงศ์วานว่านเครือพระเจ้าตาก จะได้รู้ดำแดงกันไปทีว่าตำนานนี่มันจริงหรือว่าเท็จ เอ้า อีทีนี้ความลึกลับมันก็จะหายลับไปล่ะซี ไม่มีเรื่องสนุกๆมากระซิบกระซาบกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิสูจน์ต่างๆนานานั่นก็ต้องมีสมมติฐานมาตั้งไว้ก่อน ให้เกิดกรอบการทำงานขึ้นมา แล้วถ้าว่าบังเอิญว่าสถูปนี้ลูกหลานพระยานครท่านไปแบ่งเอาพระบรมอัฐิพระเจ้ากรุงธนบุรีจากที่บางกอกมาใส่ไว้บูชาในยุคเช่นว่าเพิ่งจะเมื่อสัก 100 ปีหลังมานี้เองจะวางหน้ากันอย่างไง ตรวจไปก็ดีเอนเอตรงดังว่าแต่สรุปไม่ได้ว่ามาตั้งอยู่แต่เมื่อสวรรคตดังนี้จึงควรปล่อยให้ความลับเปนความลับ และตำนานเปนตำนานต่อไปไม่ดีกว่าหรือเอย

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,829 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2565