พระพุทธบุพพาภิมงคล กับคณะครูบาฝ่ายเหนือ

17 ก.ย. 2565 | 08:00 น.
744

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช ที่อัญเชิญมานี้ เวลานั้นพระชนมายุได้ 49 พระพรรษา ฉลองพระองค์จอมทัพไทยเครื่องแบบคอพับทหารบกกากีแกมเขียว พระอังสาซ้ายขวาประดับเครื่องหมายพระยศจอมทัพไทยพระคฑาไขว้กระบี่ประกอบช่อชัยพฤกษ์ล้อมดาวห้าแฉกห้าดวงภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎงามสง่าเปนขวัญกล้าแก่เหล่าปวงทหารหาญ
 

พระหัตถ์ประคองสายสูตร (ราชาศัพท์ของสายสิญจน์) ในการพระราชพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปพระพุทธบุพพาภิมงคล พุทธลักษณะทรงเชียงแสนประสมลังกาเพื่อประดิษฐานเปนพระประธานวัดบุพพาราม อารามฝ่ายตะวันออกของนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เมื่อ ปี 2519

ผู้มีตาละเอียดเเลเห็นพระราชจริยาวัตรสำรวมงดงามนี้ขณะทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นต่อกิจการเบื้องหน้า สายพระเนตรชุ่มเย็นทอดลงมามุ่งมั่นราวกับกำลังทรงประจุสรรพศิริมงคลพระราชทานกำลังยังกองวัตถุมงคลในการพระราชพิธี แวดล้อมด้วยคณะสงฆ์ราชาคณะผู้ทรงคุณวิเศษ ซึ่งกล้องฟิล์มเวลานั้นพอจะสามารถจับภาพแสดงออกซึ่งรัศมีพิมพ์ประพายไหวเคลื่อนของกำลังสายสูตรในพระหัตถ์นั้น_งามงด
 

ข้างคณะสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เวลานั้น ประกอบด้วย ทีม ‘พระหลวง’ นำโดย สมเด็จพระสังฆราช(วาสน์) วัดราชบพิตรฯ และ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ) วัดบวรนิเวศฯ พระสังวรวิมลเถร (โต๊ะ) วัดประดู่ฉิมพลี ประกอบทั้งพระราชาคณะเจ้าคุณฝ่ายเหนือ เมืองน่านเมืองแพร่ ลำพูนลำปาง  ซึ่งเปนไปตามโบราณราชประเพณีพระราชาคณะสิบรูปเจริญพระพุทธมนต์ถวาย

ข้างพระเกจิคณาจารย์ขึ้นไปถวายงานการพระราชพิธีพุทธาภิเษกประกอบด้วย ฝ่ายลุ่มเจ้าพระยา ก็คัดหาแต่ผู้เรืองวิชชาทรงสมณศักดิ์มีหลวงพ่อนอ วัดท่าเรือ ผู้เลื่องลือวิชาเสือแลคงกระพัน, หลวงพ่อแพเขมังกโร เทพเจ้าสิงห์บุรี, เจ้าคุณรักขิตวันมุนี หลวงพ่อถิร ป่าเลไลย์อาจารย์สามเสือ ฝ่ายสุพรรณ, หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง อุทัยธานี 
 

ฝ่ายลุ่มน้ำแม่กลอง นครชัยศรีพระครูโกวิทสมุทรคุณ หลวงพ่อเนื่องวัดจุฬามณี เจ้าวิชาใบมะนาว, หลวงพ่อสำเนียงอยู่สถาพร พระโอรสในกรมหลวงชุมพรฯสายตรงวิชาวัดปากคลองมะขามเฒ่าเมืองชัยนาท, พระอาจารย์สำราญ วัดเขาตะเครา เจ้าวิชาสะดุ้งกลับ เมืองเพชร
 

ดังนี้ภาษากีฬาว่าทีมเยือน ในขณะที่ทีมเหย้า เข้าเฝ้าฯถวายงานประกอบด้วยครูบาน้อยใหญ่ หากไม่นับยศช้างขุนนางพระทางปกครองแล้ว ต้องยกให้ท่านแม่งาน_ครูบาคำแสนใหญ่ เจ้าอาวาสวัดบุพพาราม ผู้หมู่เฮาจาวเหนือกล่าวนามเรียกขานว่า อรหันต์ยิ้ม ด้วยวัตรปฏิบัติถือความเมตตาพ้นประมาณเปนที่ตั้ง_ไม่โกรธไม่เกลียดไม่บ่นไม่เบื่อ ท่านมีรอยยิ้มพิมพ์ใจส่งนัยยะใสผ่องมาแต่ในดวงจิตเผื่อแผ่แก่เวไนยสัตว์เปนทั่วถ้วนทุกรายไปไม่จำเพาะเจาะจง สมควรนักจักบันทึกไว้ก่อนกาลเวลาพาสูญหายถึงกิตติคุณของท่านครูบาคำแสนใหญ่

ครั้งหนึ่งนายตำรวจสัญญาบัตรจากกรุงเทพไม่เคยพบหน้าท่านได้เข้ากราบพบที่วัดด้วยกิจธุระการแจ้งนิมนต์ หมดธุระแล้วครูบาคำแสนใหญ่ยังรั้งคนผู้นี้อยู่ไม่ให้กลับ ท่านกระทำอาเทสนาปาฏิหาริย์เจาะเข้าแทงในใจรุ่มของหนุ่มตำรวจเจ้าตัวถึงแก่ชะงัก ท่านอุตส่าห์เลี้ยงน้ำชากาแฟ ให้คลายใจดีแล้วจึงเริ่มเทศนาสั้นๆเปนอนุสาสนียปาฏิหาริย์ ระงับบาปเคราะห์แก่เขาผู้นั้น ซึ่งตั้งใจว่าออกจากวัดจะเเล่นไปฆ่าเมียและชู้หนุ่มที่เอาเขามาสวมไว้ให้นานสองนาน พ.ต.อ. ผู้นี้ได้บันทึกถึงคุณวิเศษของครูบาคำแสนใหญ่เจ้าอารามอุปปาในบุพพารามไว้เปนลายลักษณ์อักษรถึงดวงจิตเมตตาล้นประมาณ อุตสาหะเข้าแทรกแซงมิให้กรรมเวรขนาดใหญ่มาได้ถึงตัวเขา
 

ข้างฝ่ายพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างที่เรียกว่าตุ๊หนุ่มเณรน้อย ยามออกแสวงวิชาหาครูอาจารย์ มากราบฝากตัว หากท่านตรวจด้วยสมาบัติ หากพบแล้วว่าครูเดิมสำเร็จโพธิญาณขั้นสูงอยู่แล้ว ท่านจะตำหนิตรงๆในความมักมากไม่อดทน เที่ยวแสวงทางลัด และเที่ยวปกปิดว่าไม่มีครูอาจารย์!
 

ถัดมาคือครูบาคำแสนน้อย ผู้เสงี่ยมอยู่ในโสรัจจะคุณเรียบง่ายและไม่ยอมแสดงภูมิ ต่อเมื่อถึงกาลมรณภาพแล้วความลับจึงเปิดเผยจากนายทหารบกยศพลเอกท่านหนึ่งซึ่งติดข้องสงสัยในการปฏิบัติวิปัสสนา ส่วนแยกของจิตกับกาย ได้กราบเรียนขอคำอธิบายจากท่าน ท่านได้เมตตาสงเคราะห์ โดยเทศนาให้ฟังสองต่อสอง และสำแดงฤทธิ์ประกอบคำอธิบายโดยกายหยาบของท่านค่อยๆจางหายไปเริ่มจากส่วนขาก่อน ขึ้นไปกลางตัว จากนั้นจึงจางหายหมดทั้งตัวแต่เสียงธรรมคำพูดของท่านยังเปล่งคำอธิบายให้นายพลเอกผู้นี้ได้ยินอยู่ เมื่อเห็นแจ้งซึ่งสภาวะและกรรมวิธีแล้ว ท่านจึงค่อยคืนร่างกายภาพตามเดิม ทั้งกำกับว่า “ธรรมนี้แสดงให้เห็นเฉพาะตน ห้ามนำไปบอกใครที่ไหน จะบอกได้ต่อเมื่อตัวท่านตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่เช่นนั้นจะแช่งชักให้วิบัติฉิบหาย” ดังนี้รหัสนัยสายวิชาทางโลกย์ที่ครูบาคำแสนน้อยมีอิทธิคุณวิเศษย่อมไม่พ้นวิชากำบัง อันเปนนั่งร้านก่อสร้างไปถึงการบรรลุธรรมอันเกษม


 

ข้างครูบาพรหมจักร พระพุทธ บาทตากผ้า แม้มีท่าทีเรียบร้อยอ่อนหวาน แต่ได้เคยเเสดงฤทธิ์ประทับรอยเท้าบนก้อนหินไว้ครั้งหนึ่ง ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนเปนเจ้าคุณที่ พระสุพรหมยานเถระ
 

ท่านครูบาพรหมจักร นี้กำเนิดในครอบครัวที่ใฝ่ในพระศาสนา พี่น้องฝ่ายชายพากันออกบวช แม้บิดาเมื่อชราแล้วก็ออกบวช ครูบาอินทจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ คือพี่ชายแท้ๆของท่าน พระครูสุนทรคัมภีรญาณ หรือ ครูบาคัมภีระ วัดพระธาตุดอยน้อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่คือน้องชายแท้ๆของท่าน
 

ครูบาอินทจักรรักษาเปนครูของหลวงปู่ทอง วัดพระธาตุศรีจอมทอง ท่านได้รับพระราชทานพัดยอดขาว เปนเจ้าคุณที่พระสุธรรมยานเถระ วิ. สำเร็จอิทธิบาทธรรมสำคัญ แม้คราวเจ็บหนักแพทย์รพ.แมคคอมิค ยืนยันว่าอาการเพียบหนักของท่านจะทำให้ถึงการมรณภาพในไม่กี่ชั่วโมง ท่านก็เจริญอิทธิบาทฟื้นสภาพกลับมามีลมหายใจได้อีกเปนทศวรรษ ท่านมาร่วมการพระราชพิธีนี้กับน้องชายด้วย และสมณศักดิ์นามนี้เอง ต่อมาตกทอดแก่ ท่านหลวงปู่ฤาษีลิงดำ คราวได้เปนเจ้าคุณครั้งแรกบ่งนัยสำคัญบางประการ


 

ส่วนสำนักวัดท่าแหนซึ่งครั้งหนึ่ง ครูบาเจ้าเกษม เขมโก ได้ถวายพระพรยืนยันถึงความสามารถในเจโตปริยญาณล่วงรู้ดูเห็นถึงความเปนไปภาคอดีตอนาคตของท่านเจ้าสำนักนั้น งานนี้ครูบาเมือง_พระครูอุดมเวทย์วรคุณ ได้นำศิษย์เอก ครูบาคำแสนน้อย จากลำปางมาร่วมถวายงานในการพระราชพิธีครั้งนี้ด้วย
 

ฝ่ายครูบาเจ้าเกษมฯ ด้วยเหตุท่านตั้งอธิษฐานไม่ออกนอกสุสานไตรลักษณ์ก็ยังส่งศิษย์รักชั้นเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดลำปาง คือ พระอินทวิชยาจารย์ วัดคะตึกเชียงมั่นมาแทนตัว หลวงปู่แหวน สุจินโณ ดอยแม่ปั๋ง ส่งพระอาจารย์หนูศิษย์เอก มาแทนตัว
 

มิต้องกล่าวถึงท่านผู้อาวุโสพรรษาสูงสุด ครูบาอินโต พระครูภาวนาธิคุณ เมืองพะเยา
 

ครูบาธรรมชัย พระหมอ ผู้มีจิตละเอียดและสังขารไม่เน่าเปื่อย ครูบาชุ่ม วังมุย ผู้ได้รับทอดไม้เท้าครูบาศรีวิชัยได้พร้อมกันมาในการพระราชพิธี ที่จัดขึ้น ณ เวียงเชียงใหม่นี้
 

อนึ่งที่สมควรกล่าวถึง คือ เหรียญทองแดงพระพุทธบุพพาภิมงคล หลังสิงห์ ซึ่งเปนวัตถุมงคลที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกในรอบที่เสด็จพระราชดำเนินเททองหล่อพระพุทธบุพพาภิมงคลนี้ด้วย เหรียญนี้ออกแบบได้งดงามสมส่วนพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 49 นิ้วตรงตามพระชนมายุพระผู้เสด็จเททองประกอบพระราชพิธี 


 

ส่วนละเอียดที่ลึกลงไปคือสิงห์ที่อยู่ด้านหลังเหรียญนี้เปนสิงห์ศิลปะล้านนา ครูบาสีอ่อง (ได้กล่าวถึงท่านแล้วในฉบับก่อนๆ) ได้พบด้วยสมาบัติสำคัญ จากรูปถ่ายของสิงห์ที่เฝ้าอยู่มุมเจดีย์โบราณในวัดบุพพาราม ว่ามีมือแขนขนาดใหญ่ทรงเครื่องโอบรัดสิงห์ปั้นนี้ไว้คล้ายกับเปนเจ้าของได้ตรวจสอบกับเจ้าอาวาสครูบาคำแสนใหญ่แล้วจึงทราบว่าที่วัดนี้เดิมทีเปนวัดมอญมีเสื้อวัด (เมืองเหนือกล่าวถึงพระระดับสมภารเจ้าอาวาสที่มีวิชชาขลังยามเมื่อมรณภาพไปแล้วยังยึดติดฤทธีและภพภูมิอยู่ ชอบทำหน้าที่ปกปักรักษาวัด แบบเดียวกับพระเสื้อเมืองปกปักรักษาเมืองอยู่ที่ศาลหลักเมือง ต้องทำหอแบบศาลพระภูมิเอาไว้ให้ เรียกว่าหอเสื้อวัด) ชื่อว่าเจ้าปู่ (พ่อ) ดำ มีความรักเมตตาเด็กๆที่มาอยู่ในวัด ไม่ชอบให้ใครเฆี่ยนตี มักแสดงฤทธิเดชลงทัณฑ์คนตีเด็กให้เจ็บป่วย สิงห์นี้เปนของเจ้าปู่ดำ ทำหน้าที่ปกปักรักษาศาสนสถาน กำจัดคนพาล อภิบาลคนดี
 

ครูบาคำแสนทั้งใหญ่เล็ก ได้อนุญาตให้เชิญรูปสิงห์เจ้าพ่อดำขึ้นไว้หลังเหรียญ ได้ประกอบพิธีพลีถูกต้องและมีฝอยกำกับวิธีอาราธนาความช่วยเหลือจากสิงห์เจ้าพ่อดำไว้ให้
 

จากนั้นเชิญเข้าร่วมในการพุทธาภิเษกในการพระราชพิธีครานี้อนึ่งว่าวัดบุพพาราม เดิมชื่อวัดอุปปาสันติ สร้างมาแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งวงศ์มังราย ส่วน“พระพุทธบุพพาภิมงคล” หมายว่าเปนพระพุทธรูปที่มีความสำคัญยิ่ง “เปนมงคลในบุรพาทิศ” จัดสร้างเพื่อประดิษฐานไว้ทางทิศตะวันออกของนครเชียงใหม่ พระนามของพระพุทธรูปองค์นี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเวลานั้น เปนผู้เลือกพระนามถวาย เปนที่พอพระราชหฤทัยยิ่ง มีขนาดหน้าตัก 49 นิ้วต้องตามพระชนมายุในปีที่ทรงเททองหล่อ คือ มกราคม 2519


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,819 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2565