ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 1

01 ต.ค. 2565 | 07:40 น.

ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 1 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3823 หน้า 6

ครูหงวน หรือ สงวน วัฒนกูล สอนประวัติศาสตร์ ครูนอม หรือ ประนอม ศรีสุดสะอาด สอนภาษาไทย หลังจากมีใจให้กัน  ครูนอม ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของ ครูหงวน ผมเป็นลูกคนสุดท้อง โหงวเฮ้ง ครูหงวน หน้าตาก็ดูดีเสียตรงที่มุมปากตก เพื่อนท่านคนหนึ่งเก่งกฎหมายเป็นทนายให้กับฝ่ายโจทก์ ครูหงวน เป็นพยานให้จำเลย


ทนายฝ่ายโจทก์ขู่ต่างๆ นาๆ ก่อนจะเจอกันหน้าบัลลังก์ ครูหงวน ก็แซ่บอีหลี ขณะที่ยืนอยู่หน้าบัลลังก์ ท่านกวักมือเรียกทนายฝ่ายโจทก์แล้วทำมือป้องปาก  ทนายฝ่ายโจทก์ก็ตะแคงหน้าเข้ามาเพื่อจะฟังว่า ครูหงวน จะบอกอะไร ครูหงวน ก็พูดกระซิบกรอกหูว่า “เฮ็ด…แม่ง!” (ฮา)

ทนายฝ่ายโจทก์โกรธจัดเงยหน้าขึ้นฟ้องท่านผู้พิพากษาว่า โดน ครูหงวน ด่าแม่ ผู้พิพากษาหันมามองหน้า ครูหงวน ครูหงวน ก็ตีลูกเซ่อส่ายหน้า ผมยังสงสัยจนถึงวันนี้ว่า ผู้ให้กำเนิด ครูหงวน มีเชื้อสายอินเดียหรือเปล่า (ฮา)  มุกนี้จัดว่ามีกลิ่นเจ้าเล่ห์ปะปนอยู่เล็กน้อย ผลปรากฏว่า E.Q. ของทนายฝ่ายโจทก์เออเรอร์ ซักถามสะเปะสะปะเพราะยังเคืองไม่หาย (อิๆ) 


วีรกรรมดอกนี้ผมก็ไม่ได้ภาคภูมิใจอะไร แค่เล่าให้ฟังเฉยๆ ว่า คนทำงานสายนี้หลายคน เขาก็เล่นกันแผลงๆ แบบนี้แหละ อย่างไรก็ตาม ครูหงวน เป็นเสรีไทย บวชเป็นพระ ช่วยใครต่อใครเอาไว้เยอะ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ ครูหงวน ตกอับ เหลือเพื่อนจริงๆ อยู่ไม่กี่คน (ฮา) 

ชะตากรรมของผมมันสุดจะซูเปอร์ไฮบริด ตัวผม ผูกมัดอยู่กับ คณะนิติศาสตร์ เพราะว่า คุณพ่อขอมา หัวผม คลุกคลีอยู่กับ คณะมนุษยศาสตร์ เนื่องจากจะเป็นนักพูด ใจผม วนเวียนอยู่กับ คณะรัฐศาสตร์ หมายตา กะเล่นการเมือง หรือ ปลัดอำเภอ หลังจากผมจบ “การศึกษา” ระดับ ปริญญาตรี ผมก็ไม่ใส่ใจที่จะทำงานด้านการว่าความ จุดหักเหมันเกิดขึ้นตรงที่ อาจารย์คนหนึ่ง เข้ามาขึ้นแท่นสอนวิชาการว่าความ ฉากแรกท่านก็เปิดหน้าสาธยายเล่ห์เหลี่ยมว่า


“ใครที่คิดจะทำมาหากินเป็นทนาย ถ้ามัวแต่เถรตรง พูดแต่ความจริงล้วนๆ ไม่มีวันจะชนะคดี” ว่าแล้วก็ลงมือสอนลูกเล่นในการโกหก ว่าจะสำแดงเท็จต่อหน้าศาลอย่างไรให้แยบยล ผมทนฟังไปด้วยใจหดหู่ ถ้าคุยกันเองในรถส่วนตัวก็ว่าไปอย่าง ขอโทษจริงๆ ผมไม่มีความศรัทธาอาจารย์ท่านนั้นจนถึงวันนี้

                            ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 1

มี คำพิพากษาฎีกา อยู่กรณีหนึ่ง คนร้ายหิ้วตะเกียงรั้ว ถือไม้ตะพดเอาไปตีกบาลเขาในช่วงห้าโมงเย็น  ทนายก็ไม่ถี่ถ้วนในการสืบข้อมูลให้ชัด เขียนคำฟ้องตอนหนึ่งว่า “จำเลยได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ในเวลาค่ำ!”


คนจบกฎหมายจะรู้ว่า สมัยก่อนมีบทบัญญัติในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ระบุเอาไว้ส่วนหนึ่งประมาณว่า  


“ถ้าฝ่ายใดเป็นผู้กล่าวหาด้วยข้ออ้างใดแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้ออ้างนั้นไม่เป็นความจริงเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้อง” สู้คดีกันสามศาล ฝ่ายจำเลย อ้างว่า “เมื่อเวลาค่ำ (นับจาก หกโงเย็นจนถึงหกโมงเช้า หรือ เริ่มจากฟ้ามืดในช่วงย่ำค่ำจนเริ่มเห็นแสงฟ้าสางในช่วงรุ่งเช้า) ข้าพเจ้านั่งร่วมวงดื่มสุราสังสรรค์อยู่กับท่านกำนัน แล้วจะไปทำร้ายร่างกายเขาได้อย่างไรกัน” ท่านกำนัน ก็เป็นพยานยืนยันให้ ผลสุดท้าย ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะทนายอ้างเวลาคลาดเคลื่อนไปเยอะ


ผมถามท่านผู้อ่านด้วยความเคารพ ถ้าท่านคือ คนที่โดนเขาตีกบาลจริงๆ แต่แพ้คดี ท่านจะรู้สึกยังไง?


ลี ไอเอค็อกคา “ใน วอชิงตัน ดี.ซี. มีทนายความมากกว่าในญี่ปุ่นทั้งหมด พวกเขามีทนายความมากพอๆ กับที่ญี่ปุ่นมีนักมวยปล้ำซูโม่”  จอร์จ เฮอร์เบิร์ต  “การประนีประนอมแบบ ลีน (Lean เอาส่วนเกินออกจนพรียวบาง) ดีกว่า การฟ้องร้องที่ อ้วน”  แอดดิสัน มิซเนอร์  “ที่ใดมีพินัยกรรม ที่นั่นย่อมจะมีคดีความ”  

 

ฌอง เดอ ลา บรูแยร์  “หลีกเลี่ยงการฟ้องร้องเหนือสิ่งอื่นใด มันบิดเบือนมโนธรรมของคุณ ทำให้สุขภาพของคุณแย่ลง และทำให้ทรัพย์สินของคุณหมดไป”   


แพทริค เมอร์เรย์  “ทนายความจะทำทุกอย่างเพื่อชนะคดี บางครั้งเขาก็พูดความจริง”  วอลแตร์  “สัตว์มีข้อได้เปรียบเหนือมนุษย์: พวกเขาไม่มีนักศาสนศาสตร์สอนพวกเขา งานศพของพวกมันไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีใครฟ้องเพราะความประสงค์ของพวกเขา” สุภาษิตอิตาลี  “ข้อตกลงที่ไม่ดี ดีกว่าการฟ้องร้องที่ดี คดีคือไม้ผลที่ปลูกในสวนของทนาย”


ถึงแม้ว่าคำคมแซวสังคมอเมริกันที่เขาปรารภจะเป็นจริง ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเมืองเรา ผมก็เอามาฝากให้อ่านกันเล่นๆ เพราะไม่ได้หวังอะไรมากจากมุกเหล่านี้ ส่วนที่ประสงค์เงียบๆ อยู่ในใจ คือ เนื้อหาที่ท่านอ่านอยู่นี้ เขาเรียกกันว่า “การศึกษา” เรื่องราวที่ได้พบได้เห็นในสถานการณ์จริง ซึ่งมีผลให้เราหูตาสว่าง เขาเรียกกันว่า “การเรียนรู้” สังคมเรางัดกันมาหลายวันแล้วว่า “การศึกษา” กับ “การเรียนรู้”แบบไหนเข้าท่ากว่ากัน?