พุทธแบบไหนในไทยนี้

16 มิ.ย. 2565 | 05:22 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 14:51 น.
1.6 k

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย​ ราช รามัญ

จะเห็นได้ชัดว่า เริ่มมีการถกเถียงกันในมุมที่ต่างความคิดของการเลือกเข้าวัดในศาสนาพุทธของประเทศไทย บางคนนิยมเข้าวัดสายเกจิคณาจารย์ บางคนนิยมเข้าวัดในสายพระกรรมฐานแบบพระป่า อีกทั้งมีการถกกันว่าวัดแบบไหนที่เหมาะกับความเป็นพุทธศาสนาที่คนไทยควรเข้าไป
 

จะเห็นได้ว่าวัดที่มีพระเกจิคณาจารย์เป็นสมภารเจ้าวัด ภายในวัดจะมีการสร้างรูปเคารพมากมาย ทั้งเทพเจ้า และมีวัตถุมงคลของวัดนั้นๆ ให้เช่าบูชาด้วยด้วยเหตุผลที่ว่า

“น้ำไฟ  ถาวรวัตถุถ้าพังชำรุด และสิ่งอื่นๆ อีก วัดจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ถ้าไม่มีรายได้เข้ามาในวัด อีกทั้งการสร้างพระเครื่องรางของขลัง ก็มีการสร้างมาแต่โบราณกาลแล้วจะมาห้ามไม่ให้ทำได้อย่างไร ในเมื่อพระคือที่พึ่งของชาวบ้าน”

 

อีกสายหนึ่งก็จะบอกว่า “การบวชมาเพื่อศึกษาพระธรรม และปฏิบัติตนเอง ส่วนเรื่องอื่นเป็นหน้าที่ญาติโยมมาดูแลเอง วัดป่าหลายแห่งก็ไม่มีการออกวัตถุมงคลใดๆ ทำไมยังดำรงอยู่ได้ เพราะเน้นการปฏิบัติตลอดทั้งให้ความรู้ธรรมะที่เป็นจริงเพื่อบำบัดใจโดยตรงโดยไม่พึ่งวัตถุ”
 

สำหรับส่วนตัวมองว่า...การที่บอกว่าพระเกจิคณาจารย์สมัยก่อนก็สร้างพระเครื่องรางของขลังนั้นก็เป็นเรื่องจริงอยู่ แต่การสร้างของท่านเหล่านั้น ท่านสร้างแล้วแจกฟรี กับผู้ที่ไปทำบุญ  คำว่าไปทำบุญอาทิ ถวายอาหาร ถวายสังฆทาน ท่านก็มอบให้ ไม่มีการเช่าหากันเป็นเรื่องเป็นราวแบบในปัจจุบัน

อีกประการหนึ่งในการบวชเพื่อลดละเลิก ไม่ใช่ไปเพิ่มอัตตา การเป็นพระในสายสงเคราะห์สังคมนั้นก็ดีอยู่ แม้จะไม่ใช่บทบาทหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์ แต่ในเมื่อมีเงินมากแล้วจากการจำหน่ายวัตถุมงคลก็หาหนทางทำสิ่งอื่นเพื่อสังคมก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่ 
 

แต่พระป่า แม้จะไม่ได้ช่วยอะไรสังคม แต่สิ่งที่ท่านปฏิบัติตามคำสอน ตามพระธรรมวินัย และสอนแต่สิ่งที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นที่น่าเคารพศรัทธามากกว่า 
 

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งใจ ไม่ใช่ศาสนาแห่งวัตถุ
 
ถ้าคนไทยเข้าใจว่า เราเป็นพุทธศาสนาแบบไหนที่ถูกต้อง

สักวันหนึ่งเรื่องเครื่องรางของขลังก็จะหมดไปเองโดยธรรมชาติ

โลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน คนปลุกเสกยังตายตามกฎธรรมชาติ

แล้ววัตถุนั้นจะเป็นอะไรต่อไปได้