มองแบบวิทย์คิดแบบพุทธ

28 เม.ย. 2565 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 13:21 น.
860

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราช รามัญ

ผู้คนมักมีความเข้าใจเอาเองว่า...สิ่งที่หลายคนมองว่า คือ ปาฏิหาริย์นั้น เป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ เป็นเรื่องที่มิได้เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบาย ที่เราไปเชื่อแบบนั้นอาจจะเป็นเพราะความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เราอาจจะไม่มากพอ ตลอดทั้งเรามีความรู้ทางด้านตำราคัมภีร์พุทธที่แน่นเพียงฝ่ายเดียว 

 

เอาเพียงแค่คำว่า “ปรมาณู” คำนี้พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลแรกที่พูดบนโลกนี้ แล้วก็ทรงแยกแยะให้เข้าใจเลยว่า ลักษณะแบบไหนเล็กขนาดไหน จึงเป็นปรมาณู แต่คนทั่วไปกลับไปคิดถึงระเบิดปรมาณูเพียงอย่างเดียว ซึ่งระเบิดปรมาณูก็มีรากฐานแนวคิดของการแบ่งแยกพลังงานต่างๆที่เล็กๆจนมองไม่เห็นแต่อานุภาพมากด้วยการทำให้หัวระเบิดมีอากาศเป็นพลังงานเข้าไปสะสมแล้วมีดินระเบิดแค่เพียงกล่องไม้ขีดไฟแล้วก็ทำให้อากาศนั้นอัดกระแทกพื้นมีแรงดันสูงมีดินระเบิดเป็นจุดระเบิดแค่นั้นแต่อานุภาพสูงมาก จึงเรียกว่า ปรมาณู

 

ส่วนปรมาณูของพระพุทธเจ้า คือ การแบ่งแยกนับสภาวะของวัตถุให้เล็กลงไปเรื่อยๆจนเกือบมองไม่เห็นจึงเรียกว่า ปรมาณู ดังนี้
ฉตฺตึส ปรมาณูน เมโก ณุจ ฉตึ เต
ตชฺชรี ตาปี ฉตฺตึส รถเรณูจฺ ฉตึส เต
ลิกฺขา ตา สตฺต อูกา ตา ธญฺญมาโสติ สตฺเต
๓๖ ปรมาณู เป็น ๑ อณู
๓๖ อณูเหล่านั้น เป็น ๑ ตัชชารี
๓๖ ตัชชารีเหล่านั้น เป็น ๑ รถเรณู
๓๖ รถเรณูเหล่านั้น เป็น ๑ ลิกขา
๗ ลิกขา เป็น ๑ อูกา
๗ อูกาเหล่านั้น เรียกว่า ธัญญามาส

 

ถ้าจะกลับเสียก็ได้ดังนี้
๑ เม็ดข้าวเปลือก = ๗ อูกา
๑ อูกา = ๗ ลิกขา
๑ ลิกขา = ๓๖ รถเรณู
๑ รถเรณู = ๓๖ ตัชชารี
๑ ตัชชารี = ๓๖ อณู
๑ อณู = ๓๖ ปรมาณู

 

แต่เจตนาการแยกแยะ...ในเรื่องนี้ของพระพุทธเจ้าเพื่อให้มนุษย์มองเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเพราะมันไม่อาจคงทนต่อสภาพได้ ไม่สามารถอยู่ยั่งยืนยงได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป แม้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเข้าใจในเรื่องสภาวะต่างๆ ที่แยกแยะออกให้เล็กลงจนมองไม่เห็นนี้ได้ แต่ทว่านักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นก็ยังมีความทุกข์อยู่ แต่พระพุทธเจ้าทั้งรู้ทั้งเห็นและเข้าใจ อีกทั้งไม่มีความทุกข์ใดๆ เลย
 

นอกจากนี้ เรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ ล้วนเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ถ้าเรารู้เรื่องอะตอม เรารู้เรื่องของกลศาสตร์ควอนตัม (อังกฤษ: quantum mechanics) เป็นสาขาหนึ่งในทฤษฎีรากฐานของฟิสิกส์ เราจะไม่มองเรื่องที่เราเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์อีกต่อไปแต่มันคือธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย