"วัตรป่า​ของพระป่า​ ไม้ค้ำศรัทธาพุทธ"

05 พ.ค. 2565 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2565 | 15:02 น.
2.0 k

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราช รามัญ

ข่าวคราวของพระบ้าน​ พระนักเทศน์​ ทำให้เกิดหวั่นไหวในศรัทธา​คำว่า​ "พระสงฆ์" ได้ไม่มากก็น้อย​ สิ่งที่ผู้คนต่างชอบคิดกันไปเองว่า​ พระแท้​ พระดี​ไม่มีแล้ว​ เป็นเพียงการคาดคะเนอย่างหนึ่ง​ ถ้าคุณยังไม่เคยกราบพระป่ามาก่อน​ 


สายพระป่า​ คือ​คำพูดติดปาก​และเข้าใจเอาว่าโดยมากจะเป็นพระธรรมยุตินิกาย​ ในสายมหานิกายยังมีพระป่าลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น​ ภูริทัตโต​ อยู่ร่วมด้วยอีกหนึ่งสำนัก​ ซึ่งพระอาจารย์มั่น​ ท่านบอกว่า​ไม่ต้องญัติตินิกายใหม่​ พระสงฆ์รูปนั้นคือ​ พระโพธิญาณเถระ​ หรือ​ หลวงพ่อชา​ สุภัทโท​ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง​ จ.อุบลราชธานี​ 

ข้อวัตรปฏิบัติวัดหนองป่าพง​ ในยุคหลวงพ่อชาได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน​ อาทิ​ ฉันมื้อเดียวในบาตร​ เย็บย้อมผ้าจีวรสงบสังฆาฏิใช้เอง​ห้ามซื้อจากร้าน


ทำบาตรถลกบาตรเอง​ ห้ามญาติโยมทั้งชายหญิงเข้าเขตพระสงฆ์​ พระสงฆ์งดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด​ ภาชนะล้างเอง​ ห้ามคุยกันเป็นกลุ่ม

พระโพธิญาณเถระ​ (หลวงพ่อชา​ สุภัทโท)​
 

ให้ภาวนา​ เดินจงกรม​ เป็นวัตรปฏิบัตินำ​ ห้ามดูหนังฟังละคร​ ไม่มีทีวี​ตู้เย็น​ ดินแดนวัดหนองป่าพงจึงมีแต่ธรรมและธรรมล้วนๆ​ แม้วันที่หลวงพ่อชาไม่อยู่แล้ว​ ท่านเจ้าคุณ​พระเทพวชิรญาณ​ (หลวงพ่อเลี่ยม​ ฐิตธัมโม)​เจ้าอาวาสและลูกศิษย์ก้นกุฏิหลวงพ่อชารูปนี้ก็ยังคงวัตรปฏิบัติทุกอย่างดังเดิม​แม้วัดสาขาและวัดป่านานาชาติ​ ที่มากไปด้วยชาวต่างชาติ​ อาทิ​ ​อังกฤษ ​ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น​ อเมริกา​ ได้มาศึกษาเรียนรู้ธรรมด้วยวัตรปฏิบัติแบบเดียวกันทั้งสิ้น


ใครที่จะบวชที่วัดหนองป่าพง​ จะต้องเป็นผ้าขาวถือศีลแปดเพื่อดูจริตนิสัยก่อนอย่างน้อย 3 เดือน ​ถ้าสงฆ์ประชุมกันว่าไม่ผ่านก็หาจะบวชให้​ และ​พระสงฆ์จากที่อื่นจะมาศึกษาธรรมอยู่ที่วัดหนองป่าพงนี้ มาอยู่ได้ครั้งละ 7 วัน จากนั้นต้องออกจากวัดแล้วค่อยกลับมาใหม่ได้ ถ้าผ่านประชุมสงฆ์ว่ารับเข้าสังกัดได้จึงอนุญาตให้เปลี่ยนจีวรบริขารต่างๆ และมีที่พักให้​ 


เงินวัดที่ญาติโยมถวายเข้ากองกลางของวัดหมด​ พระสงฆ์จำเป็นใช้อะไรก็ทำเรื่องขอเบิก​ แต่พระห้ามถือเงินเองต้องมีผ้าขาวคอยถือและดูแลให้เพื่อเป็นพยานในการใช้​ สมัยหลวงพ่อชาท่านอยู่ มีโยมจะถวายรถให้วัด​ หลวงพ่อบอกยังรับไม่ได้ต้องประชุมสงฆ์ก่อน ถ้าสงฆ์ให้รับจึงถวายได้​ ปรากฏสงฆ์ค้านไม่ให้รับจึงถวายไม่ได้ก็มี​


วัตรป่าของพระป่า​ สายพระอาจารย์มั่นเป็นดุจไม้ค้ำศรัทธาให้ผู้คนที่รักพระพุทธศาสนา​ศรัทธาพระพุทธศาสนาไว้วางใจได้​ นับว่าเป็นการดียิ่ง​


สำหรับผู้คนที่เริ่มมีความคิดเบื่อพุทธศาสนาเบื่อพระสงฆ์​ ลองเข้าวัดป่า ที่ป่าแท้ๆ ในสายพระอาจารย์มั่น​ แล้วจะเห็นปฏิปทาที่แตกต่างจากวัดบ้าน​อย่างสิ้นเชิง​ เขาสนทนาด้านธรรม​แม้บางครั้งอาจมีเพ้อนิมิต​ มีเพ้ออดีตชาติบ้าง เนื่องจากผลของการปฏิบัติภาวนา​ ก็ยังดีกว่าที่ไปสร้างเรื่องบัดสีให้มัวหมองในพุทธศาสนา​  


พระป่ามักจะจำวัดสองทุ่ม​ แล้วนอนจำวัดถึงตีสามลุกขึ้นสวดมนต์ภาวนาเมื่อฟ้าสว่างจึงออกบิณฑบาตร​ ฉันราว 09.30 ​น.​ แล้วพักจากนั้นปฏิบัติธรรมสืบต่อ​ เป็นเช่นนี้ทุกวันๆ​  


หลวงพ่อชา​ เคยพูดสอนเอาไว้ว่า


"บวชแล้วจะเป็นพระได้ต่อเมื่อปฏิบัติภาวนา​ และ​ มีจิตสำนึกคุณของญาติโยมที่อุปถัมภ์"


พระสงฆ์ในสายพระป่าจะไม่ธุดงค์เข้าเมือง​ ไม่เดินริมถนนมากเกินไป​ และไปไม่เกิน 3 รูป​ ไม่มีเดินขอเรี่ยไรญาติโยม​ เพราะพระอุปัชฌาย์เขาสอนมาดี​ มิใช่อุปัชฌาย์เป็ดที่บวชให้แล้วก็ทิ้งขว้าง​ ไม่สอนไม่อบรม​ พระใหม่ต้องอยู่จำพรรษาวัดอย่างน้อย 5 พรรษา​ และต้องภาวนา​อีกทั้งต้องศึกษาและสอบภาคบังคับอาทิ​ นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และ​ ชั้นเอก​ ครั้นครบ 5 พรรษาจะไปไหนมาไหนก็ต้องขออนุญาตจากครูอาจารย์ก่อนเสมอ​ 


ความงดงามในธรรมของพระวัดป่าจึงเป็นการสะท้อนอะไรได้หลายมิติ​ โดยเฉพาะความศรัทธา​ บุญอยู่ที่ทำ กรรมอยู่ที่สร้าง​ มรรคทางแห่งผลรออยู่​ 


กราบพระพุทธ​จะโดนทองเหลือง
กราบพระธรรมจะโดนใบลาน
กราบพระสงฆ์อาจโดนลูกเขยชาวบ้าน​จึงไม่มีปรากฏในสายพระวัดป่า​ ที่มุ่งเน้นความเรียบง่ายเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย​ พระดียังมีอีกมาก ถ้าเราท่านพอมีปัญญาแสวงหาศึกษาเรียนรู้ก็ย่อมจะพบ


ราชรามัญ