สุขภาพใจ สำคัญกว่าทุกสิ่ง

24 ก.พ. 2565 | 02:30 น.
992

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราช รามัญ

การใช้ชีวิตของคนแต่ละคนต่างก็มีแนวคิดและรูปแบบที่แตกต่างกันไป หลายคนอาจจะรู้สึกเหนื่อยในการใช้ชีวิต การเหนื่อยที่กาย เมื่อได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะหายเหนื่อย และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตต่อไป

 

แต่ถ้าเมื่อไหร่เรารู้สึกว่าเหนื่อยใจ และเริ่มเกิดความท้อแท้ นั่นหมายความว่าสุขภาพของจิตใจเรานั้น เริ่มเหนื่อยคู่กับร่างกาย เมื่อใจเหนื่อย สิ่งต่างๆ รอบข้างเราก็จะเริ่มเปลี่ยนไป และสุดท้ายอาจทำให้เราเกิดความซึมเศร้า สอดแทรก เข้ามาในใจ

คนเรา จะมีหรือไม่มี จะสุขบ้างทุกข์บ้าง อย่างไรเสียสุขภาพของจิตใจควรที่จะต้องเข้มแข็ง แข็งแรง พร้อมที่จะต้องเผชิญ กับสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต เพราะตามความเป็นจริงของโลกใบนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเกิดนั้นเป็นทุกข์

 

เราต่างมีความทุกข์เป็นเพื่อน ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยก็ขึ้นอยู่กับการดำรงชีวิตของคนคนนั้น แต่คนทั่วไปเรียกภาวะแห่งการมีความทุกข์น้อยว่าๆ นั้นว่า "ความสุข" ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร

 

สุขภาพใจของเราดูแลได้ ด้วยการบำบัดด้วยหลักธรรม มิใช่พิธีกรรม ซึ่งขอแนะนำวิธีการดูแลดังนี้

1 ตื่นขึ้นมาแล้ว ให้สังเกตจิตใจของตัวเราเองก่อนทันที ก่อนที่จะมีความคิดอื่นใดเข้ามาแทรก สังเกตว่าใจเราสงบไหม ว้าวุ่นไหม มีความคิดอะไรมาสอดแทรกไหมไม่ว่าเรื่องดีเรื่องร้าย เพราะเมื่อเราตื่นขึ้นมา ระบบแห่งความรู้สึกตัวก็ปรากฏขึ้นทันที

 

2 ทุกเช้าพยายามฝึกคิดแต่เรื่องดีๆ สิ่งดีๆ ข่าวคราวดีๆ ให้เข้ามาในชีวิต

 

3 นำพาตัวเองอยู่ใกล้ๆ กับคนที่คิดดี มีทัศนคติในเชิงบวกมากกว่าลบ

 

4 ก่อนนอนก็เฝ้าสังเกตจิตใจตัวเองมีความสงบไหม นิ่งไหม หรือ มีความทุกข์อยู่ เมื่อรู้ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์แล้วจงบอกตัวเองว่า ทุกปัญหาแก้ไขได้

 

5 อย่าหนีความจริงที่ต้องเผชิญ แต่จงเฝ้าดูความจริงนั้นด้วยความเข้าใจ

 

เอา 5 ข้อ เป็นแนวทางในการบำบัด ฝึกให้ เรามีสุขภาพใจ ที่แข็งแรง จิตใจที่แข็งแรงก็คือพร้อมที่จะเผชิญและรับรู้ทุกสิ่งอย่างที่จะเข้ามาในชีวิต แบบมีสติมีความสงบ แล้วรู้แนวทางที่จะแก้ไข การฝึกทั้ง 5 ข้อนี้อยากให้ทำติดต่อกันให้ครบ 21 วัน เมื่อครบแล้วชีวิตของคุณจะค่อยๆ เจอแต่สิ่งที่ดี สุขภาพจิตใจของคุณ กะจะค่อยๆแข็งแรงขึ้นเป็นลำดับ และที่สำคัญ คำว่าโรคซึมเศร้า เขาจะไม่เข้ามาในชีวิตของคุณอย่างแน่นอน

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนชัดแล้วว่า

"ธรรมทั้งปวง ล้วนมีใจเป็นต้นเหตุ"

เรื่องดีก็เป็นธรรมะ เรื่องไม่ดีก็เป็นธรรมะเช่นกัน ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นธรรมะ เพราะธรรมะคือสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และวันหนึ่งก็ดับสลายลงไป

ไม่ว่าจะเรื่องดี เรื่องร้ายก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน