"พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้จน อย่าบิดเบือนคำสอน"

25 พ.ย. 2564 | 05:00 น.
2.1 k

ทำมาธรรมะ โดยราชรามัญ

หลายคนเข้าใจในบางเรื่องผิด ๆ แต่กลับไปคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูก เป็นเรื่องที่ใช่ เมื่อเข้าใจแบบนั้นไปแล้ว ก็นำเอาไปบอกต่ออีก ความเข้าใจผิด ๆ จึงซ้ำซากจำเจอยู่อย่างนั้นไม่จบสิ้น 


โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างฐานะให้เกิดความมั่งคั่ง และมั่นคง...  บางคนใช้ชีวิตไปวัน ๆ  ไม่มีเป้าหมาย เพราะคิดเอาเองว่าเป็นการใช้ชีวิตเรียบง่ายสายธรรมะ 

บางคนใช้ชีวิตปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม บางคนใช้ชีวิตไปทำตัวให้ตรงกับคำพยากรณ์ของซินแส หนักไปกว่านั้น พอเห็นใครคุยกันเรื่องวิธีการทำให้รวย... ก็ไปบอกว่า “โลภ” ทั้งที่คนอยากรวย คือ คนที่ต้องการความมั่นคงในการใช้ชีวิต  ไม่รู้ว่า...ผิดตรงไหน?   


นักบวชบางคนยังไม่เข้าใจเลยว่าจริง ๆ แล้ว“ธรรมะ” คืออะไร?  แต่พยายามจะนำเอามาบอกมาสอน ธรรมะมีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของธรรมธรรมะนั้นมีทั้งแบบ โลกียะ และโลกุตตระ  

“โลกียะ” อันนี้เป็นศัพท์ทางเทคนิค ความจริงก็คือ การนำเอาธรรมะมาใช้ในสไตล์คนใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาสามัญทั่วไป ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถ ส่งลูกเรียน เสียค่าเน็ต ค่ามือถือ เที่ยวเล่นสนุกเฮฮา 


แต่ถ้าจะไปในฝ่าย “โลกุตตระธรรม” ซึ่งหมายถึง ตัดใจได้ ปล่อยวางได้ ถ้ามีความพร้อมก็ไปได้ เรื่องอื่น ๆ ไม่ต้องห่วงแล้ว เรื่องอยู่เรื่องกิน เรื่องลูกเต้า ทรัพย์สมบัติปล่อยวางได้หมด แบบนั้นไปได้ 


ดังนั้น คนที่ดำรงตนอยู่ในภาวะโลกียะธรรม ยังต้องดิ้นรนแสวงหา เพื่อความมั่นคงให้แก่ชีวิต โดยมีลมหายใจเจืออยู่กับ กาม กิน เกียรติ มันไม่ใช่เรื่องที่ผิดวิสัย แต่ผิดก็ตรงคนที่พูดว่า “ผิด” นั่นแหละ ที่มีความรู้ไม่ครบด้าน  


กาม คนทั่วไปมองว่า หมายถึง  การมีความชอบเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ในด้านพุทธศาสนา หมายถึง การดำรงตนที่ยังยึดมั่นอยู่ในโหมดของการชื่นชอบ ซึ่งมีลักษณะของสิ่งที่รวมกันแล้วเรียกว่า กาม เป็นข้อ ๆ ดังนี้
    
รูป         ที่สวยงาม
    
เสียง     ที่ไพเราะ
    
กลิ่น      ความหอมชวนดม
    
รส         เป็นรสชาติที่อร่อย
    
สัมผัส    ความอ่อนโยน และงดงามในเสื้อผ้า ของใช้ และความรู้จากผู้อื่นที่ได้รับ


ธรรมะหลายข้อถูกนักบวชสอนบิดไปจนเบือน พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ใครเป็นคนจน แต่ก็ยังมีความพยายามไปตีความแบบนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผมจะต้องเขียน เพื่อให้ได้เรียนรู้ในมุมใหม่เกี่ยวกับธรรมะ และการใช้ชีวิต 


เตรียมพร้อมเปิดใจกับแนวคิด ในมุมของคนใช้ชีวิต ที่จะทำให้คุณพบความสำเร็จที่มั่งคั่ง มั่นคง หรือจะเรียกว่า “ร่ำรวย” ก็ไม่ผิด เพราะตรงหลักคำสอนของพุทธศาสนา 


"ความจนเป็นทุกข์อย่างยิ่ง" 
"การมีหนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง" 


พระพุทธเจ้าตรัสชัดแบบนี้และต้องไม่ลืมว่าผู้สร้างวัดในยุคพุทธกาลล้วนเป็นเศรษฐีทั้งสิ้น แล้วตรงไหนที่บอกว่านับถือพุทธเป็นคนพุทธต้องยากจน