อย่ามองข้าม "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ภัยเงียบสังหารนักกีฬา

03 พ.ย. 2567 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2567 | 17:31 น.
642

อย่ามองข้าม "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ภัยเงียบสังหารนักกีฬา : Tricks for Life

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม “นักกีฬา” หรือผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย เล่นกีฬาเป็นประจำ น่าจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง  แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เสี่ยงจะเกิด “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” (Sudden Cardiac Death) และเป็นภาวะอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันที

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Death) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายถูกขัดขวางอย่างฉับพลัน และหากไม่ได้รับการรักษาโดยด่วน อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที

อาการภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

  • เจ็บหน้าอก
  • วิงเวียนศีรษะ
  • หมดสติ
  • หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นแรงมากกว่าปกติ

หากนักกีฬามีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์

สาเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในนักกีฬาสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยได้แก่

  • อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ แต่นักกีฬาเหล่านี้ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายและหัวใจจะมีการปรับตัวจนสามารถทำให้เล่นกีฬาได้อย่างดีหรือเป็นเลิศได้ โดยนักกีฬาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีความผิดปกติอยู่ แต่เมื่อมีการเล่นกีฬาที่หัวใจต้องทำงานหนัก การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จึงอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
  • อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เวลาร่างกายออกแรงมาก หัวใจจะทำงานมากขึ้น แต่เลือดไม่สามารถมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอก็จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

Tricks for Life  ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ผศ.นพ. ศราวุธ ลิ้มประเสริฐ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ชำนาญการด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ กล่าวว่า การวินิจฉัยภาวะผิดปกติในนักกีฬาถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะการฝึกฝนของนักกีฬา จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหัวใจที่มีลักษณะหลาย ๆ อย่างคล้ายคลึงกับโรคหัวใจที่ผิดปกติ

เช่น นักกีฬาที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีมักจะมีกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายที่หนาขึ้น ซึ่งช่วยทำให้การทำงานของหัวใจแข็งแรงขึ้น แต่ลักษณะดังกล่าวก็พบได้คล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติเช่นกัน

ดังนั้น การพบแพทย์เพื่อประเมินหัวใจอย่างถี่ถ้วน ไม่ว่าจะด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจภาพหัวใจด้วยวิธีพิเศษต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในอนาคตได้

คำแนะนำสำหรับนักกีฬาหรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่มีแผนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทที่มีความเข้มข้นสูง อย่างเช่น การวิ่งระยะไกลตั้งแต่ฮาล์ฟมาราธอน (21.1 กิโลเมตร) ซึ่งควรต้องมีการตรวจคัดกรองโรคทางหัวใจก่อนเข้าร่วมการแข่งขันหรือเล่นกีฬาดังกล่าว เพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันกีฬาได้

ผศ.นพ. ศราวุธ ลิ้มประเสริฐ

นอกจากนี้ ผู้จัดการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ก็ควรมีการเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือนักกีฬาหรือผู้เข้าร่วมการแข่งขันให้ได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (cardiopulmonary resuscitation หรือ CPR) และจัดหาเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (automated external defibrillators หรือ AEDs) ในพื้นที่การแข่งขันกีฬาด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยในกรณีเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้สูงขึ้นเป็นอย่างมาก

การมีโรคหัวใจไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามในการออกกำลังกายหรือแม้กระทั่งการแข่งขันกีฬา คำแนะนำในการออกกำลังกายจะมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับโรคหรือภาวะหัวใจของผู้ป่วยนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม แม้โรคหัวใจบางชนิดอาจถือเป็นข้อห้ามในการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูงหรือการแข่งขันกีฬา แต่การออกกำลังกายแบบความเข้มข้นระดับปานกลางนั้น สามารถทำได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจเกือบทุกชนิด ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และทีมผู้ดูแลผู้ป่วย

แม้ว่าการออกกำลังกายจะมีประโยชน์อย่างมากในหลาย ๆ ด้าน แต่หากต้องการออกกำลังกายแบบที่มีความเข้มข้นสูงหรือแข่งขันกีฬา ควรเข้ารับการตรวจประเมินเพื่อคัดกรองโรคหัวใจอย่างละเอียดโดยอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อค้นหาโรคหัวใจที่อาจซ่อนอยู่ และยังสามารถช่วยป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขณะออกกำลังกายได้อีกด้วย