ถ่ายเป็นเลือด “ริดสีดวงทวาร” โรคฮิตที่หลายคนหวาดผวา

15 เม.ย. 2567 | 05:13 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2567 | 09:51 น.

ถ่ายเป็นเลือด “ริดสีดวงทวาร” โรคฮิตที่หลายคนหวาดผวา : Tricks for Life

การถ่ายไม่สะดวก อึแข็งเหมือนลูกกระสุน ปวดร้าวทวารหนัก เจ็บปวดทรมาน แถมบางครั้งยังมีเลือดไหลออกมาชวนให้ผวา

หากคุณได้สัมผัสอาการและความเจ็บปวดทรมานเหล่านี้ แน่นอนนั่นคือ อาการของ “โรคริดสีดวงทวาร”

แม้จะเป็นโรคฮิต แต่หลายๆคน คงสงสัย ว่า “ริดสีดวง คืออะไร” เป็นแล้วมีอาการยังไง และมีวิธีการรักษาอย่างไร

“โรคริดสีดวงทวาร” โรคที่เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมไปถึงมีการหย่อนของเยื่อบุช่องทวารหนัก ซึ่งหากมีขนาดใหญ่อาจรบกวนการใช้ชีวิต อาจมีเลือดออกและมีอาการปวดร่วมด้วย  ส่งผลถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน แม้แต่จะนั่งก็ยังลำบาก

ถ่ายเป็นเลือด “ริดสีดวงทวาร” โรคฮิตที่หลายคนหวาดผวา

นพ.ธนพงศ์ ว่องวิริยะกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสต์ทั่วไปและการผ่าตัดส่องกล่อง โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) คือ ก้อนเนื้อที่เต็มไปด้วยหลอดเลือดที่นูนออกมาจากผนังของช่องทวารหนัก ในคนปกติก้อนนูนเหล่านี้ไม่น่ากังวลอะไร ในทางกลับกันมันทำหน้าที่ป้องกันกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก และช่วยในการกลั้นอุจจาระ หรือเวลาความดันในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้น

เช่น ในเวลาไอหรือจาม แต่หากก้อนนูนเหล่านี้เกิดความผิดปกติ มีความหย่อนยานจนทำให้นูนยื่นและห้อยย้อยออกมาจากผนังช่องทวารหนักมากเกินไป อาจทำให้เกิดการเสียดจนถลอกและเป็นแผลทำให้เลือดออก สร้างความเจ็บปวด และเป็นอุปสรรคในการขับถ่าย

นพ.ธนพงศ์ ว่องวิริยะกุล

นอกจากนี้ “ริดสีดวง” มักจะเกิดจากอาการท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระบ่อย นั่งถ่ายเป็นเวลานาน และการตั้งครรภ์ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ดังนั้นการวินิจฉัยแยกโรคริดสีดวงทวาร จึงต้องมีการตรวจร่างกาย เพื่อแยกออกจากกลุ่มโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น โรคแผลขอบทวาร ภาวะไส้ตรงปลิ้น ฝีหนอง  และโรคมะเร็งลำไส้          

โดย “โรคริดสีดวงทวาร” มี 2 ประเภท คือ

1. ริดสีดวงทวารภายใน เราจะไม่สามารถมองเห็นก้อนริดสีดวงได้ จนกว่าจะมีเลือดไหลหยดออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ

2.ริดสีดวงทวารภายนอก เราจะมองเห็นก้อนเนื้ออยู่ที่บริเวณปากทวารหนัก ไม่สามารถดันเข้าไปได้ ถ้าเบ่งถายอุจาระแรงๆจะทำให้เส้นเลือดดำบริเวณปากทวารหนักแตก

สำหรับขั้นตอนการรักษา “โรคริดสีดวงทวาร” นั้น ในระยะ 1-3 แพทย์จะใช้ยาตามความรุนแรงของโรค เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ในระยะที่ 4 ถือว่าเป็นระยะรุนแรง ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ต้องทำการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดริดสีดวงทวารมีหลายเทคนิค โดยทั่วไปเทคนิคที่ได้รับความนิยมและให้ผลการรักษาที่ดีมีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้

1. การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม (conventional hemorrhoidectomy)

เป็นการผ่าตัดริดสีดวงทวารที่แพร่หลายที่สุด ข้อดีคือสามารถลดโอกาสการเป็นซ้ำได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือผู้ป่วยจะเจ็บปวดหลังการผ่าตัดมากที่สุดเมื่อเทียบกับเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิมจะเป็นการตัดริดสีดวงและเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย การผ่าตัดแบบได้ดั้งเดิมนี้จะต้องมีการดูแลหลังการผ่าตัดเพิ่มเติม คือ การแช่ก้นด้วยน้ำอุ่นเพื่อล้างแผล (sitz bath)

2. การผ่าตัดริดสีดวงทวารโดยใช้เครื่องมือฮาร์โมนิก (harmonic scalpel)

เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม และมีการใช้เครื่องมือฮาร์โมนิกซึ่งใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ในการตัดริดสีดวง ห้ามเลือด และเชื่อมปิดแผลในทันทีโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บ จึงช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อโดยรอบ และช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด

ถ่ายเป็นเลือด “ริดสีดวงทวาร” โรคฮิตที่หลายคนหวาดผวา

3. การผ่าตัดริดสีดวงทวารโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (stapled hemorrhoidectomy หรือ procedure for prolapse and hemorrhoids; PPH) เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดในการผ่าตัดริดสีดวงทวารในปัจจุบัน ตัวเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ จะมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกใส่เข้ารูทวาร เพื่อดันเนื้อเยื่อที่หย่อนคล้อยให้กลับขึ้นไปยังตำแหน่งเดิม

การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่มีริดสีดวงทวารหลายตำแหน่ง ข้อดีของเทคนิคนี้คือทำให้เกิดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่าและใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อเสียคือ มีโอกาสเป็นซ้ำได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม

แม้ “โรคริดสีดวงทวาร” จะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ใครหลายๆคนเข็ดขยาด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค เราสามารถดูแลตัวเองง่ายๆได้ดังนี้

1.ทานผักผลไม้ที่มีกากใย 

2.ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว

3. งดทานอาหารประเภทที่ย่อยยาก

4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

5.ไม่อั้นเวลาปวดอุจจาระ 

6.เมื่อมีอาการท้องผูกเรื้อรังให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา