หุ้นไอพีโอ...เหนื่อยจริงๆ

12 ก.ค. 2566 | 04:09 น.
819

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ หุ้นไอพีโอ...เหนื่อยจริงๆ โดย...เจ๊เมาธ์

*** เจ๊เมาธ์เห็นใจหุ้นไอพีโอที่เข้ามาระดมทุนในตลาด แล้วราคาหุ้นลงไปต่ำกว่าราคาจองซื้อ และมากที่สุดก็คือ ความเห็นใจที่มีต่อเพื่อนนักลงทุนที่ได้จองซื้อหุ้นไอพีโอ เพราะคาดหวังว่าจะได้มาซึ่งหุ้นในราคาต่ำที่สุดในแบบที่นักลงทุนธรรมดาผู้หนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจะสามารถเข้าถึงหุ้นตัวนั้นได้  
     
แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะหุ้นน้องใหม่เหล่านี้ต่างก็ประสบปัญหาราคาหุ้นหลุดลงต่ำกว่าราคาจอง ด้วยสาเหตุที่ใกล้เคียงกันซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนตั้งรับกันไม่ทันจริงๆ 

เริ่มจากในวันที่ 19 มิถุนายน บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN บริษัทที่ขายหุ้นไอพีโอจำนวนแค่เพียง 25 ล้านหุ้น ก่อนที่จะปิดราคาซื้อขายวันแรกสูงกว่าจอง 150% แต่ในการซื้อขายวันที่ 2 และวันที่ 3 ราคาหุ้นกลับร่วงลงติดฟลอร์ต่อเนื่องกันถึง 2 ฟลอร์ หลังตลาดหลักทรัพย์ส่งคำเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย 

ในขณะที่ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC เป็นหุ้นตัวที่ 2 ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 21 มิถุนายน ด้วยหุ้นไอพีโอจำนวน 150 ล้านหุ้น ในราคาจองซื้อ 10.50 บาท ก่อนที่จะปิดวันแรกที่ 7.20 บาท ปรับลดลง ต่ำกว่าจอง 3.30 บาท หรือ 31.43% 
     
ส่วนทาง บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL ที่เข้าซื้อขาย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ด้วยหุ้นจำนวน 120 ล้านหุ้น ก่อนปิดที่ 2.20 บาท ต่ำกว่าจอง 1.10 บาท หรือ ต่ำกว่าจอง 33.33% ล่าสุดปิดที่ 2.06 บาท ต่ำกว่าจอง 1.24 บาท ต่ำกว่าจอง 37.57% ภายหลังตลาดหลักทรัพย์ ประกาศเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย และได้ทำให้ TPL ได้กลายเป็นหุ้นประวัติศาสตร์ ที่เพียงซื้อขายได้แค่ครึ่งวันแรก ก็ถูกตลาดหลักทรัพย์ประกาศเตือนฯ  

ขณะที่ บริษัท แพทย์รังสิต เฮลท์ แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG ซึ่งเป็นหุ้นตัวล่าสุดที่เข้าซื้อขาย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ด้วยหุ้นไอพีโอจำนวน 54 ล้านหุ้น แต่ก็ปิดราคาในวันแรกที่ 16.30 บาท ต่ำกว่าจอง 4.70 บาท ลดลงไปถึง 22.38% ทั้งที่หุ้นโรงพยาบาล ถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นกลุ่มพื้นฐานที่น่าจะมีความสามารถในการเติบโตที่ดีได้ในอนาคต

ขณะนี้ปัญหาหุ้นไอพีโอต่ำจองถูกนำมาพูดถึง และถกเถียงในหมู่นักลงทุนผ่านทางสื่อโซเชียลอย่างกว้างขวาง มุมหนึ่งก็อ้างไปถึงภาวะตลาดที่ไม่ค่อยจะดี เนื่องจากมีแรงกดดันที่เข้ามาในทุกทิศทุกทางจากทั้งในและต่างประเทศ ลามไปจนถึงกังวลว่า จะเกิดการเดินซ้ำรอยในเรื่องของการตกแต่งบัญชีที่จับไม่ได้ ถ้าเรื่องไม่แดงขึ้นมาอย่างเช่น กรณีของ STARK  

ขณะเดียวกัน ก็มีบางกลุ่มที่มองกันว่า ราคาจองที่เปิดให้นักลงทุนได้ซื้อหุ้นไอพีโอ มีราคาแพงเกินกว่าความเป็นจริง ขณะที่บางมุมก็บอกว่าเป็นเพราะสาเหตุที่ทางตลาดหลักทรัพย์ ประกาศเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายหุ้น ที่เพิ่งจะเข้าตลาดเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือ เพียงไม่กี่วันเป็นเหตุทำให้นักลงทุนกังวลใจ  
     
อย่างไรก็ตาม หากจะมองในมุมของเจ๊เมาธ์ เจ๊มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นล้วนๆ อย่างหนึ่งก็เป็นเพราะนักลงทุนต่างกังวลว่า ปัญหาการตกแต่งบัญชีในแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ STARK ทั้งที่ผ่านการตรวจรับรองจากบริษัทระดับ Big4 แต่ก็ยังเกิดขึ้นได้  

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าระบบการตรวจสอบที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นแบบตั้งรับ ดังนั้น หากจะฟื้น หรือ เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้กลับคืนมาจะต้องแก้ไขปัญหาในจุดนี้ โดยทางฝั่งของผู้ที่รับผิดชอบอาจจะต้องกำหนดมาตรการการตรวจสอบในเชิงรุกที่ลึก ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตกแต่งบัญชีให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ จะไปลอกต่างชาติมาก็น่าจะได้ เพราะของแบบนี้เคยเกิดและถูกปรับแก้มาแล้วในหลายประเทศ เพียงแต่จะนำมาใช้เป็นบทเรียนหรือไม่เท่านั้น  
     
ขณะเดียวกันในเรื่องของการตั้งราคาจองซื้อนั้น เป็นเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์ความเหมาะสม ที่บริษัทเจ้าของหุ้นจะต้องยอมรับความเสี่ยงว่าจะขายหุ้นไอพีโอได้ หรือ ขายได้หมดหรือไม่ เพราะหากตั้งราคาสูงเกินไปก็คงจะไม่มีนักลงทุนหน้าไหนจะกล้าซื้อหรือลงทุนด้วยอยู่แล้ว 
     
ส่วนเรื่องของการเตือนในระหว่างวัน หรือ การเตือนในแบบที่คาดการณ์ไม่ได้ จนเป็นเหตุให้ต้องเซอร์ไพรส์ และ ตกใจ จนขายหุ้นทิ้งแทบไม่ทัน ก็คงจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือ การกำหนดให้มีการกระจายหุ้นไอพีโอ ให้กับนักลงทุนทั้งตลาด หรือ ยิ่งหากทำในวงกว้างได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเพื่อจะได้ไม่ต้องมาทำเป็นไม่รู้ว่า มีการซื้อขายหุ้นแบบกระจุกตัวในโบรกฯ นั้น หรือโบรกฯนี้ ทั้งที่ก็รู้กันอยู่แล้วว่า ตอนเริ่มกระจายหุ้นไอพีโอ ก็มีผู้จัดจำหน่ายแค่ไม่กี่ราย และนักลงทุนที่มีหุ้นไอพีโอในมือ ก็มีเพียงไม่กี่คน  

ท้ายที่สุด ก็เป็นเรื่องของปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ปัจจัยทางการเมืองหรือ ปัจจัยระหว่างประเทศแบบที่กำลังเกิดขึ้น ก็คงจะต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ และเสริมด้วยการให้ความรู้ในเรื่องของวิธีการเลือกลงทุนน่าจะดีที่สุด  
     
เชื่อเถอะ...ไม่ว่าใครที่ตัดสินใจว่าจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ต่างก็รู้และเตรียมใจในการรับรู้ถึงความเสี่ยง และความผันผวนของตลาดที่เกิดขึ้นเอาไว้อยู่แล้ว แต่ก็เชื่ออีกเถอะว่าไม่มีนักลงทุนคนไหน ที่จะได้เตรียมใจ หรือทำใจกับความผันผวนที่เกิดขึ้นมาจากระบบภายใน ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนหาความแน่นอนไม่ได้เช่นนี้ เพราะถ้าหากยังไม่มีจุดยืน หรือ มีกติกาที่มั่นคง...ตลาดหุ้นไทยก็คงจะไม่มีใครเชื่อมั่น และมีแต่ถอยหลังไปเรื่อยๆ แบบนี้ เช่นกันเจ้าค่ะ 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,904 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566